คุมเข้ม 5 จุดเสี่ยง หวั่น “คลัสเตอร์ปทุมธานี” ลาม ชัยภูมิ-นครปฐม

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

ศบค.จับตาใกล้ชิดพื้นที่ระบาด “คลัสเตอร์ปทุมธานี” ตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมแต่ 459 ราย ชี้ 5 พื้นที่จุดเสี่ยงใหญ่ นอกจากตลาดยังมีห้างฯฟิวเตอร์ปาร์ครังสิต และหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ระบุล่าสุดพบผู้ติดเชื้อเดินทางไปที่ “นครปฐม-ชัยภูมิ” กรมอนามัยสั่งยกเครื่องมาตรฐานตลาดใหม่ พร้อมขึ้นทะเบียนผู้ค้า

วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2564  แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยระหว่างแถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ประจำวันว่า วันนี้ผู้ติดเชื้อที่จ.สมุทรสาคร เพิ่มมา 71 ราย กทม.เพิ่ม 7 ราย ปทุมธานี 22 ราย รวมยอดสะสม 459 ราย นนทบุรี 2 ราย นครปฐม 10 ราย พระนครศรีอยุธยา 4 ราย (ตามตารางด้านล่าง)

แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวว่า ผลสรุปจากการประชุมของศบค.ชุดเล็กเช้าวันนี้ พื้นที่ที่ยังต้องควบคุมอย่างใกล้ชิดด้วยความเป็นห่วงของศบค.คือ พื้นที่ จ.ปทุมธานี

ชี้ 5 จุดเสี่ยง รวมห้างฯฟิวเจอร์ฯรังสิต-หมู่บ้านรัตนโกสินทร์200ปี

ทั้งนี้ จาการทำงานของ ศบค.โดยใช้ชุดข้อมูลจากการทำแผนที่ของจิสด้า คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA  จากการดูพื้นที่ของตลาดพรพัฒน์และพื้นที่ใกล้เคียง ศบค.ต้องเฝ้าระวังพื้นที่ปทุมธานี จะเห็นว่า นอกจากตลาดพรพัฒน์แล้ว พื้นที่ใกล้เคียงจะมี ตลาดสุชาติ ตลาดรังสิต ห้างฯฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต และ หมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี รวมอยู่ในพื้นที่ด้วย

จากจุดเริ่มต้น ศบค.เริ่มเห็นรายงานผู้ติดเชื้อตั้งแต่ 16 มกราคม 2564 ซึ่งปทุมธานีมีการติดเชื้อที่เชื่อมโยงมาจากสมุทรสาคร  มีการรายงานการติดเชื้อตั้งแต่เดือนมกราคม และติดตามมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งสถานการณ์ควบคุมได้ ตลาดก็กลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในวันที่ 16 มกราคม

จนกระทั่งเริ่มมาระบาดครั้งใหม่ อยู่ในช่วง 6-7 กุมภาพันธ์ หลังแม่ค้าคนแรกที่เริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม และไปตรวจผลโควิดเป็นบวกยืนยันเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2564 ทีมควบคุมโรคก็ผนึกกำลังกับพื้นที่ และบุคลากรในตลาด ด้วยความร่วมมือของพ่อค้าแม่ค้า ชุมชนจึงพากันมาตรวจ

ติดเชื้อ 10 จังหวัด จับตาขยายวงไป “ชัยภูมิ-นครปฐม”

จากการทำงานของศบค. จะเห็นการกระจายตัวจากช่วงเริ่มแรก 16-22 มกราคม 2564 จากนั้นมีการขยายวงกว้างออกไปในช่วง 23-29 ม.ค. เริ่มเป็นสีเหลือง ต่อมาก็เฝ้าติดตามอีก ช่วง 30 ม.ค.- 5 ก.พ. อันนี้ก่อนที่จะเจอแม่ค้าคนแรกที่รายงานในวันที่ 6 ก.พ. จนมาช่วงที่มีการค้นหาเชิงรุกระหว่างวันที่ 6-12 ก.พ. จะเห็นการกระจายตัวที่เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งอัพเดตที่สุดคือช่วงระหว่างวันที่ 13-18 กุมภาพันธ์

นอกจากการรายงานผู้ติดเชื้อ ทำให้ได้เห็นภาพว่าเขาอยู่ที่ตลาดไหน อาศัยอยู่ในชุมชนไหน เรายังไปติดตามอีกว่า เขามีการเดินทางไปที่ไหนอีกบ้าง รวม ๆ แล้วมีจังหวัดที่ติดเชื้อมาจากปทุมธานีไปแล้วอีก 9 จังหวัดด้วยกัน ได้แก่ นครนายก กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สมุทรปราการ สระบุรี พระนครศรีอยธยา อ่างทอง นครราชสีมา และ นนทบุรี รวมแล้วเป็น 10 จังหวัดที่มีการกระจายเชื้อจากกลุ่มตั้งต้นของจ.ปทุมธานี

“นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าผู้ติดเชื้อได้เดินทางไปที่ จ.ชัยภูมิ และนครปฐม ซึ่งยังไม่มีรายงานการติดเชื้อ แต่ทางกรมควบคุมโรคได้ประสานไปยังพื้นที่ชัยภูมิและนครปฐมแล้ว และมีการเฝ้าระวัง ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

สำหรับการตรวจค้นหาเชิงรุก ตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ มีการตรวจค้นไปแล้ว 5,743 ราย พบผู้ติดเชื้อ 355 ราย ที่สำคัญส่วนใหญ่ไม่มีอาการ

นอกจากนี้ยังมีการตรวจตลาดใกล้เคียง จาก 5,743 ราย บวกไปอีก 1,781 ราย ในตลาดและชุมชนใกล้เคียง พบอีก 5 ราย และยังไปตรวจที่ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท คลองสี่เมืองใหม่ และตลาดชาญนคร

ในส่วนของตลาดสี่มุมเมือง มีรายงานว่าพบผู้ติดเชื้อ 4 ราย ที่ตลาดไทตรวจไป 1,035 เคส พบผู้ติดเชื้อ 1 ราย ส่วนตลาดคลองสี่เมืองใหม่ และตลาดชาญนคร ตรวจแล้วยังไม่พบเชื้อ ซึ่งทางจังหวัดแจ้งว่า จะตรวจให้ได้ 10,000 ราย  ตอนนี้จากวันที่ 9-18 กุมภาพันธ์ ตรวจไปแล้วทั้งสิ้น 7,417 ราย

ชี้ตลาดอากาศปิด ค่า “แอร์โฟล” เป็นศูนย์

จากผลการตรวจดังกล่าวทางคณะกรรมการ EOC ของกระทรวงสาธารณสุขได้นำตัวเลขการตรวจดังกล่าวมาวิเคราะห์ พบว่าตลาดพรพัฒน์ รวมทั้งตลาดทุกๆแห่งที่เราได้ตรวจสอบ สิ่งสำคัญอันหนึ่งคือที่เป็นปัจจัยทำให้การแพร่เชื้อกระจายไป คือ เป็นตลาดที่มีอากาศปิด โดยมีค่าแอร์โฟลเป็นศูนย์ นั่นเป็นการยืนยันว่า ตลาดมีลักษณะที่อากาศมีความไม่ถ่ายเท

“ทางอธิบดีกรมควบคุมโรคบอกว่า ลักษณะของตลาดคล้ายกับฝาชีครอบอาหาร เป็นโดมเตี้ยๆ นั่นอาจเป็นสาเหตุสำคัญที่อาจทำให้เกิดการระบายอากาศที่ไม่เพียงพอ และเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแพร่กระจายเชื้อเป็นไปอย่างง่ายดาย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว และว่า

เหตุผลที่สองพบว่า “คน” คือผู้ค้า แม่ค้า ลูกจ้าง แรงงานชาวไทย แรงงานชาวต่างด้าว เพื่อนบ้านของเรา มีการเดินทางไปมาหลายๆตลาด เพราะฉนั้นอาจเกิดการแพร่กระจายไป จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ซึ่งตรงนั้นก็เป็นสิ่งที่เรากำลังเฝ้าติดตามอยู่ เราพบว่าตัวเลขเยอะๆที่มีผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนที่ไปจับจ่ายซื้อสินค้า แต่เป็นคนค้าขายที่อยู่ในตลาดนั้น เและอยุูป็นระยะเวลานานๆ อาจจะเป็นเข็นของ รับประทานอาหารร่วมกัน จึงมีความเป็นไปได้ เมื่อคนหนึ่งติดเชื้อก็ทำให้มีการแพร่กระจายไปที่คนอื่นๆโดยง่าย

ยกเครื่องมาตรฐานตลาด-ขึ้นทะเบียนผู้ค้าขาย

สิ่งที่ศบค.ขอความร่วมมือในวันนี้คือ ฝากไปที่เทศบาล ท้องถิ่น ทั้งอบต. อบจ. ตอนนี้สาธารณสุขลงพื้นที่ไปแล้ว กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอแผนมาตรการในการพัฒนามาตรฐานของตลาด  เช่น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตลาด จัดเครื่องระบายอากาศ ติดตั้งพัดลม จะมีการกลับไปทบทวนมาตรการเหล่านี้รวมไปถึงการดูแลความสะอาดและความหนาแน่น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะเข้าไปดูรายละเอียดต่อไป

“สิ่งสำคัญอีกกรณีหนึ่งคือ การตรวจสุขภาพ รวมถึงการขึ้นทะเบียนผู้ค้าขาย เพื่อทำให้ภาครัฐ หน่วยงานในท้องถิ่นสามารถที่จะดูแลให้ผุ้ค้าได้รับการตรวจสุขภาพ ดูแลให้ปลอดภัย ก็เป็นความห่วงใยจากศบค. เพราะโดยรวมๆแล้วเรายังต้องมีการติดเชื้อไปอีกระยะหนึ่ง” ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวในตอนท้าย