อย. ยันไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีน มีขอขึ้นทะเบียน 14 บริษัท

บุคลากรทางการแพทย์แพ้วัคซีน 1 ราย
แฟ้มภาพ

อย.ยันไม่ปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนโควิด 19 มี 14 บริษัท ขอขึ้นทะเบียนแล้ว แต่ส่งเอกสารมาเพียง 4 บริษัทเท่านั้น

วันนี้ (8 เม.ย.2564) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงการบริหารจัดการวัคซีนว่า มักจะมีคำถามบ่อยครั้งว่าภาคเอกชนสามารถนำวัคซีนเข้าได้หรือไม่ ต้องตอบอีกครั้งว่ากระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้ปิดกั้นแถมยังเชิญชวนให้ภาคเอกชนไม่ว่าจะโรงพยาบาลเอกชน บริษัทต่างๆ สามารถนำเข้ามาบริการแก่ประชาชนได้ด้วย ซึ่งในปัจจุบันมี 4 รายขอขึ้นทะเบียน ได้อนุมัติการขึ้นทะเบียนแล้ว 3 รายในวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ขึ้นทะเบียนหรือนำเข้าโดยบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าประเทศไทย รวมถึงวัคซีนโคโรน่าแวคของบริษัทซิโนแวค โดยองค์การเภสัชกรรมนำเข้ามา และวัคซีนจอห์นสันแอนด์จอนห์สัน โดยบริษัทแจนเซ่น ซีแลก จำกัด

“ตามจริงแล้วมีบริษัทเอกชนที่เข้ามาติดต่ออย.ที่จะขอนำเข้าและขึ้นทะเบียนอยู่ 14 ราย แต่มายื่นเอกสารและได้ทะเบียนแค่ 3 ราย ดังที่กล่าวมา แต่ก็มี 1 รายเป็นวัคซีนบารัต ไบโอเทค เทคโนโลยี ของประเทศอินเดีย โดยบริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนที่ยังรอเอกสารผลการทดลองวัคซีนในมนุษย์ระยะที่ 3 อยู่ ส่วนอีก 10 รายที่เหลือมีการขอนำเข้าวัคซีนเกือบทุกชนิด ทั้งโมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม สปุตนิกวี แต่ยังไม่มายื่นขึ้นทะเบียน”

นพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า สำหรับขั้นตอนการนำเข้าขึ้นทะเบียน มีการประชุมกันแล้วอย่างน้อย 2 ครั้ง ไม่ว่าจะเป็นส่วนของกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน, สภาอุตสาหกรรม , สภาหอการค้าไทย รวมทั้งบริษัทผู้ผลิตวัคซีนก็มาร่วมประชุม และได้อธิบายขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนอนุญาตนำเข้าไปแล้ว ดังนั้นจึงย้ำว่า บริษัทที่จะนำเข้ามาต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าก่อน ทั้งต้องได้รับการตรวจสอบสถานที่เก็บยา เภสัชกรปฏิบัติการ ซึ่ง อย.จะดูแลใน 3 ส่วนใหญ่ๆ คือเรื่องของความปลอดภัยวัคซีนนั้น ๆ คุณภาพ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล นอกจากนี้ ยังสร้างช่องทางพิเศษที่มีมาตรฐาน เพื่อความรวดเร็วใน 30 วัน นับตั้งแต่วันยื่นเอกสารครบถ้วน

ทั้งนี้ จึงขอยืนยันว่า ภาคเอกชนสามารถนำเข้าได้ เพื่อบริการฉีดให้กับประชาชน แต่ต้องอยู่ภายใต้การใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ฉะนั้นจะต้องมีการควบคุม มีการลงทะเบียนผู้รับวัคซีน ติดตามเรื่องความปลอดภัย ผลข้างเคียงต่างๆ