วัคซีน 100 ล้านโดส พอแล้วจริงหรือ? นักเศรษฐศาสตร์ตั้งคำถาม

วัคซีน 100 ล้านโดสพอจริงหรือ?

ดร.พิพัฒน์ ตั้งคำถาม วัคซีน 100 ล้านโดสพอแล้วจริงหรือ? ชี้รัฐบาลควรรับความช่วยเหลือที่ทุกฝ่ายช่วยกันได้ หวั่นทั่วโลกฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว แต่ไทยยังเปิดประเทศไม่ได้ เพราะยังฉีดวัคซีนไม่เสร็จ

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน) บริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่สาธารณะ ตั้งคำถามว่า วัคซีน 100 ล้านโดสพอแล้วจริงหรือ?

ซึ่งมีการแชร์อย่างแพร่หลาย หนึ่งในผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว ได้แก่ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียน และอดีตรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงิน เกียรตินาคินภัทร โดยโพสต์เรื่อง วัคซีน 100 ล้านโดสพอแล้วจริงหรือ? ของ ดร.พิพัฒน์ มีเนื้อหาดังนี้

ผมนั่งฟังแผนจัดหาวัคซีน และคำอธิบายของภาครัฐ ที่ตอบปฏิเสธข้อเสนอของหอการค้าในการช่วยจัดหาวัคซีน (“ปริมาณวัคซีนที่ภาครัฐจัดหามานั้น มีจำนวนเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนทุกคน”) ด้วยความเป็นห่วง ดูเหมือนว่า message สำคัญของภาครัฐวันนี้คือจัดหาวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชากร 50 ล้านคน หรือประมาณ 70% ของประชากรภายในปีนี้ก็เพียงพอแล้ว แต่คำถามที่สำคัญคือ 100 ล้านโดสเพียงพอจริงหรือ?

ที่ผ่านมารัฐบาลใช้แผนผูกขาดพึ่งพาวัคซีนส่วนใหญ่จาก AstraZeneca ยี่ห้อเดียว และจากผู้ผลิตโรงงานเดียว พอเริ่มมีเรื่องก็เริ่มหาวัคซีนตัวอื่น แต่โดนจองไปหมดแล้ว ที่น่ากังวลคือเหมือนว่ารัฐบาลไม่กังวลกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ และเหมือนจะไม่มีแผนบริหารความเสี่ยง (อาจจะมีก็ได้นะครับ แต่เราไม่ทราบกัน)

เช่น จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผู้ผลิตไม่สามารถส่งมอบวัคซีนได้ตามแผน จะเกิดอะไรขึ้นถ้าวัคซีนที่เราฉีดไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์ของไวรัสที่อาจจะเข้ามาระบาดในประเทศ (มีการศึกษาว่า AstraZeneca สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์อังกฤษ แต่มีประสิทธิผลเหลือแค่ 10% ต่อสายพันธุ์ South Africa) หรือมีผลข้างเคียงต่อคนไทยมากกว่าปกติ

อาจจะเป็นสาเหตุที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกพึ่งพาวัคซีนมากกว่าหนึ่งยี่ห้อ เพราะเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและรอให้เรารู้ทุกอย่างไม่ได้

แต่คำถามที่น่าคิดคือจำนวน 100 ล้านโดสมาจากไหน และเพียงพอจริงหรือไม่ จำนวนนี้อาจจะมาจากข้อสมมติที่ว่า Covid มีความสามารถในการแพร่กระจาย (R0) ได้ประมาณ 3 ถ้าต้องการมีภูมิคุ้มกันหมู่ ต้องฉีดวัคซีนประมาณ 2 ใน 3 ของประชากร

แต่อาจจะมีปัญหากับการคำนวณตรงนั้น เพราะเราสมมติให้วัคซีนมีประสิทธิผล 100% และภูมิคุ้มกันอยู่ต่อเนื่องตลอดไป ปัญหาคือ หนึ่ง วัคซีน AstraZeneca ที่เราใช้กันส่วนใหญ่ มีผลวิจัยว่ามีประสิทธิผลประมาณ 70-80% (Sinovac มีประสิทธิผลน้อยลงไปอีก) แปลว่าเราต้องฉีดให้กับประชากรมากขึ้นไปอีก ถ้าหวังว่าจะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่

สอง งานวิจัยบอกว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อ Covid-19 น่าจะมีแน่ ๆ 6-9 เดือน แต่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรหลังจากนั้น (เพราะเราเพิ่งเริ่มฉีดวัคซีนกันเอง) อาจจะมีความเป็นได้ว่า ถ้าเราฉีดช้าไปกว่าเราจะฉีดคนสุดท้ายเสร็จ ภูมิคุ้มกันของคนที่ฉีดคนแรกอาจจะหมดไปแล้วก็ได้ และภูมิคุ้มกันหมู่อาจจะถูก delay ไปอีก และอาจจะต้องฉีดวัคซีนซ้ำเหมือนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันทุกปี นี่ยังไม่นับการปรับวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ๆ

วันนี้เราเลยเห็นประเทศอื่น ๆ ซื้อและจองวัคซีนเกินจำนวนประชากรไปหลายเท่า (สหรัฐซื้อและจองวัคซีนไปแล้วกว่าแปดเท่าของจำนวนประชากร!) ผมเลยสงสัยว่า ตอนนี้เราควรจะวางแผนการจัดหาและกระจายวัคซีนเพิ่มเติม เพื่อบริหารความเสี่ยงตรงนี้ด้วยหรือไม่ (หวังว่าเลข 100 ล้านโดสเป็นแค่เป้าในการทำงาน และเราจะไม่ปฏิเสธความช่วยเหลือ เพียงเพราะเราคิดว่าเราได้ตามเป้าแล้วนะครับ)

และเราน่าจะควรรับความช่วยเหลือที่ทุกฝ่ายช่วยกันได้ ไม่เริ่มจองจัดหาตอนนี้ ไปรอตอนจำเป็นเดี๋ยวก็ไม่มีอีก ด้วยความไม่แน่นอนที่มีวันนี้ มีวัคซีนเหลือน่าจะดีกว่าขาด เพราะต้นทุนของวัคซีนอาจจะถูกกว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นเป็นไหน ๆ  ลองนึกภาพว่า จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประเทศใหญ่ ๆ ทั่วโลกฉีดวัคซีนกันหมดแล้ว แต่เรายังเปิดประเทศไม่ได้ เพราะยังมีการระบาดในประเทศหรือยังฉีดวัคซีนกันไม่เสร็จ

วัคซีน 100 ล้านโดสพอแล้วจริงหรือ?

ผมนั่งฟังแผนจัดหาวัคซีน…

โพสต์โดย Pipat Luengnaruemitchai เมื่อ วันเสาร์ที่ 1 พฤษภาคม 2021