เปิดมาตรการสาธารณสุข เร่งแก้ปม คนไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด-19

กระทรวงสาธารณสุข ถอดบทเรียนจากสหรัฐ-อังกฤษ ผุดแผนกระตุ้นคนไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 หลังยอดจองฉีดยังต่ำกว่าเป้า เนื่องจากปัญหาความเชื่อมั่น

วันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้จะเปิดจองคิวฉีดวัคซีนโควิด ผ่านแอปพลิเคชัน, ไลน์ “หมอพร้อม” และผ่าน อสม. ในพื้นที่มาตั้งแต่ 1 พ.ค.

แต่กลับมีผู้ขอรับการฉีดวัคซีนเพียง 1,608,006 ราย (กทม. 521,531 คน และต่างจังหวัด 1,086,475 คน) จากจำนวนผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงมีโรคเรื้อรังจำนวนกว่า 16 ล้านคนทั่วระเทศ อ้างอิงจากฐานข้อมูล MOPH Immunization center กระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 10 พ.ค. เวลา 14.00 น.

โดยมีปัจจัยหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนเสพข่าวสารและส่งต่อข้อมูลเรื่องผลข้างเคียงต่าง ๆ ทางโซเชียลมีเดีย จนทำให้ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพและเกิดความกังวลไม่กล้าฉีดวัคซีนโควิด อีกส่วนหนึ่งมาจากการรอวัคซีนทางเลือกยี่ห้ออื่น ๆ ที่ประชาชนมีความมั่นใจมากกว่า เช่น ไฟเซอร์ โมเดอร์นา

“แม้ประชาชนส่วนใหญ่จะทราบถึงประโยชน์ในการฉีดวัคซีนโควิด แต่ต้องยอมรับว่าการนำเสนอข่าวเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนอย่างหนักหน่วง ได้สร้างความกังวลไม่น้อย”

Advertisment

ดึงผู้นำชุมชน-แพทย์ช่วยสร้างความเชื่อมั่น

เบื้องต้นกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะกระตุ้นการฉีดวัคซีนด้วยการดึงองค์กร หน่วยงาน หรือผู้นำชุมชน มาช่วยประชาสัมพันธ์ประโยชน์ของวัคซีนโควิดให้แก่ประชาชน ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นผ่านบุคลากรทางการแพทย์ที่ผ่านการฉีดวัคซีนไปแล้วกว่า 90% มาช่วยให้ความรู้แก่คนไข้โดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่มีความกังวลด้านสุขภาพสูง

พร้อมสื่อสารถึงผลประโยชน์ของประเทศ ที่หากดำเนินการฉีดวัคซีนได้ อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้วิกฤตในครั้งนี้จบเร็วยิ่งขึ้น ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าการรอวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ อาจไม่ทันการณ์ โดยเฉพาะวัคซีนบางยี่ห้อ เช่น ไฟเซอร์ จะถูกนำเข้ามาสำรองให้แก่กลุ่มเยาวชนอายุระหว่าง 12-18 ปี เท่านั้น

“กลยุทธ์นี้เราถอดบทเรียนมาจากต่างประเทศ เช่น อเมริกา และอังกฤษ ที่อาศัยองค์กร หน่วยงาน หรือผู้นำชุมชน เป็นสื่อกลางช่วยประชาสัมพันธ์เพื่อนำข้อมูลเข้าถึงกลุ่มประชาชนให้ได้มากที่สุด”

ขณะเดียวกัน ผู้ช่วยรัฐมนตรีฯ ย้ำว่า ผลข้างเคียงสามารถเกิดได้ในบางราย แต่ยังมีจำนวนน้อยและอาการไม่รุนแรง หากเทียบกับผลประโยชน์โดยรวมที่ได้รับจากวัคซีนถือว่าคุ้มค่า ทั้งในแง่เศรษฐกิจที่กลับมาขับเคลื่อนอีกครั้ง และวิถีชีวิตประชาชนที่จะเข้าสู่รูปแบบปกติมากขึ้น

Advertisment

อาจปรับแผนกระจายวัคซีน

นพ.โสภณ เสริมว่า จากตัวเลขการจองฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคเรื้อรังที่น้อยโดยบางจังหวัดมีผู้ลงทะเบียนไม่ถึง 10% นี้ อาจปรับแผนนำวัคซีนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพที่สุดในพื้นที่ระบาดหนักอย่างกรุงเทพฯ และปริมณฆล ซึ่งมีสัดส่วนผู้ลงทะเบียนต่อจำนวนประชากรสูงถึงประมาณ 41% ทั้งนี้ตั้งเป้ากระจายจำนวนวัคซีน 40 ล้านโดส ภายในเดือน มิ.ย.-ก.ย. 64

นอกจากนี้ เมื่อสยามไบโอไซแอนซ์เริ่มผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าในประเทศไทยได้แล้ว สธ. จะปูพรมฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 สู่กลุ่มประชาชนให้มากที่สุดก่อน จากเดิมที่แบ่งวัคซีนออกเป็น 2 ล็อตเพื่อฉีดเข็ม 1-2 ให้ครบในคน ๆ เดียว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ลดอัตราการติดเชื้อ ตลอดจนลดจำนวนผู้เสียชีวิต