กทม. จับมือเอสซีจี สร้างนวัตกรรม “ห้องไอซียูโมดูลาร์” กู้วิกฤตเตียงขาด

ห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU)
ห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU)

กทม.จับมือเอสซีจีทุ่มสรรพกำลังสู้ภัยโควิด-19 เร่งสร้างนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ กู้วิกฤตขาดแคลนเตียงไอซียูใน กทม. สร้าง 4 อาคาร 40 เตียง ทยอยส่งมอบสัปดาห์ละ 1 อาคาร

วันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่า เอสซีจีได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งสร้างห้องไอซียูโมดูลาร์ (MODULAR ICU) จำนวน 4 อาคาร 40 เตียง ซึ่งจะช่วยเสริมปริมาณเตียงไอซียูในกรุงเทพมหานครจากที่มีอยู่ประมาณ 400 เตียง ได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เพื่อรองรับผู้ป่วยวิกฤตได้ทันท่วงที เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจลดความเสี่ยงการติดเชื้อให้กับบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนไทยก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ได้อย่างดีที่สุด

นวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ 1 อาคาร จำนวน 10 เตียง จะใช้เวลาก่อสร้างหน้างานรวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ทางการแพทย์ 1 สัปดาห์ และจะทยอยส่งมอบสัปดาห์ละ 1 อาคารจนครบ ทั้งนี้ เอสซีจีให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 33 ล้านบาท ภายใต้มูลค่าโครงการรวม 45 ล้านบาท

สำหรับนวัตกรรมห้องไอซียูโมดูลาร์ออกแบบและก่อสร้างได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ จากโรงงาน โดยระบบ Modular สามารถควบคุมคุณภาพงานก่อสร้างตั้งแต่การออกแบบจนถึงการผลิตจากโรงงานเพื่อมาประกอบบริเวณหน้างานได้อย่างมีมาตรฐาน ถูกออกแบบตามฟังก์ชั่นการทำงานของข้อกำหนดห้อง ICU ที่มีทีมแพทย์เป็นที่ปรึกษา

โดยห้องสามารถควบคุมแรงดันอากาศได้เหมาะสมและปลอดภัย ทั้งระบบความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM) เพื่อกำจัดเชื้อโรคและฝุ่น และระบบความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM) เพื่อจำกัดการแพร่กระจายและลดเชื้อไวรัสออกสู่ภายนอกอาคาร พื้นที่การใช้งานแบ่งเป็น 5 ส่วน

  • 1. ICU ZONE สำหรับเตียงผู้ป่วยพร้อมบอกตำแหน่งระบบยังชีพต่าง ๆ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบของโรงพยาบาล โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันลบ (NEGATIVE PRESSURE ROOM)
  • 2. NURSING STATION ZONE สำหรับพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วย โดยแบ่งเป็น MONITOR ROOM สำหรับพยาบาลที่ดูแลเฝ้าระวัง และ STAND-BY ROOM สำหรับพยาบาลที่เตรียมสวมชุด PPE พร้อมสำหรับเข้าไปดูแลผู้ป่วย ICU โดยระบบการจัดการอากาศใน ZONE นี้ใช้ระบบห้องความดันบวก (POSITIVE PRESSURE ROOM)
  • 3. MEDICAL PREPARATION สำหรับจัดเก็บเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วย
  • 4. ANTE ROOM ขาเข้าสำหรับควบคุมความดันก่อนเข้าสู่พื้นที่ ICU Zone
  • 5. ANTE ROOM ขาออกแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. พื้นที่ลำเลียงผู้ป่วยเข้าและออกจากพื้นที่ ICU 2. สำหรับทิ้งขยะติดเชื้อต่าง ๆ 3. ถอดชุด PPE พร้อมทางเดินไปสู่ห้องน้ำเพื่อทำความสะอาดร่างกายเมื่อเสร็จสิ้นการปฏิบัติหน้าที่