กรมอนามัย เตือนใส่หน้ากาก “ในบ้าน” พบส่วนใหญ่ติดเชื้อจากครอบครัว

สวมหน้ากากอนามัย

กรมอนามัย เตือนคนไทยถึงเวลาสวมหน้ากากในบ้าน หลังโควิดเริ่มพบติดเชื้อจากคนในครอบครัวมากขึ้น เผยผลสำรวจเห็นด้วย 84.9%

วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า การสวมหน้ากากในบ้าน เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นเพิ่มมากขึ้นสำหรับทุกครอบครัวในช่วงเวลานี้ จากเดิมที่มาตรการสวมหน้ากากเพื่อป้องกันโควิด-19 จะเน้นปฏิบัติเมื่อออกจากบ้านหรือเดินทางไปยังที่สาธารณะที่มีผู้คนหนาแน่น แต่ปัจจุบันกลับพบผู้ติดเชื้อจากการสัมผัสสมาชิกในครอบครัว หรือเกิดกับผู้ใกล้ชิดเพิ่มมากขึ้น

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นวงกว้าง ทำให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตจำนวนมาก ประกอบกับพื้นที่การแพร่ระบาดได้มีการขยายเพิ่ม ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) ปริมณฑล และต่างจังหวัด ดังนั้นจึงจำเป็นต้องรณรงค์การสวมหน้ากากในบ้านให้เพิ่มมากขึ้น”

ประชาชนส่วนใหญ่ “เห็นด้วย” ใส่หน้ากากอนามัยในบ้าน

นพ.สุวรรณชัย ยังได้เปิดเผยผลการสำรวจ Anamai Event Poll โดยกรมอนามัย ประเด็น “พฤติกรรมการป้องกันโรคโควิด-19 ในบ้าน” ระหว่างวันที่ 19-28 ก.ค. 2564 จำนวน 1,324 คน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความกังวลว่าคนในครอบครัวจะแพร่เชื้อให้คนในบ้าน คือ 75% ในขณะที่พฤติกรรมการสวมหน้ากากตลอดเวลาในบ้านทำได้ทุกครั้ง เพียง 20%

นอกจากนี้ ยังพบว่า หากกรมอนามัยมีแผนจัดกิจกรรมสวมหน้ากากในบ้านลดโรคทั่วไทย เป็นเวลา 14 วัน ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด มีความเห็นที่จะเข้าร่วมกิจกรรม 67% ในขณะที่ประชาชนในพื้นที่ที่เหลือ 64 จังหวัด จะเข้าร่วมกิจกรรม 84%

ผลโพลยังพบด้วยว่าประชาชนส่วนใหญ่ 84.9% เห็นด้วยกับการสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในบ้าน เมื่อพูดคุยกันในบ้านมากที่สุด รองลงมาคือสวมตลอดเวลา ยกเว้นตอนกินอาหาร อาบน้ำ ดื่มน้ำ 81.9% และสวมเมื่อทำกิจกรรมร่วมกันในบ้าน เช่น ดูทีวี 38.6% ในขณะที่ประชาชน 30.1% เห็นว่าไม่สามารถสวมหน้ากากได้เมื่อนอนห้องเดียวกัน

“ขอความร่วมมือให้ทุกคนในครอบครัวสวมหน้ากากเมื่ออยู่ในบ้านเพิ่มมากขึ้น และสวมให้ถูกวิธี โดยให้ปิดจมูก ปาก คาง และกระชับกับใบหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องสวมหน้ากากเมื่อทำกิจกรรมใกล้ชิดกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ดูทีวีร่วมกัน พูดคุยกัน เมื่ออยู่ในห้องปรับอากาศร่วมกัน และต้องสวมหน้ากากเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยติดเตียงในบ้าน”

ทั้งนี้ ในส่วนพฤติกรรมการป้องกันโรคอื่น ๆ ได้แก่ เว้นระยะห่าง หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกัน แยกการใช้อุปกรณ์ส่วนตัว ลดการออกไปสถานที่เสี่ยงนอกบ้าน หมั่นล้างมือเป็นประจำ ทำความสะอาดอุปกรณ์และบริเวณที่จับร่วมกันบ่อยๆ เช่น ตู้เย็น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร และให้งดการกินอาหารร่วมกันไปอีกระยะหนึ่งเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครอบครัว