“อ.ธรณ์”น้ำตาตกเห็นฉลามหัวบาตรถูกแล่เนื้อทำซาซิมิ ทำอะไรไม่ได้ไม่มีกม.คุ้มครอง ชี้มันกำลังจะหมดทะเล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการส่งต่อภาพฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาว ที่ตายแล้วจากร้านอาหารทะเลแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนหาดกะรน จ.ภูเก็ต โดยเจ้าของร้านได้เอาเชือกผูกหางปลาให้หัวห้อยลงมา โดยทั้งเนื้อฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาวนั้น ถูกเชือดออกไปแล้วบางส่วน เพราะพ่อครัวในร้านได้นำไปทำซาซิมิ หรือปลาดิบ ภายในร้านมีทั้งลูกค้าชาวไทยและต่างประเทศมารับประทานอาหารจำนวนมาก โดยผู้ที่ส่งภาพดังกล่าวระบุว่า ทั้งภาพฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาวนั้นถ่ายมาจากร้านเดียวกัน แต่คนละช่วงเวลา

นายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อม องค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (ไอยูซีเอ็น) ไม่เพียงแค่ฉลามหัวบาตร และฉลามเสือดาวเท่านั้น ที่ถูกวางขายเป็นเนื้อสดๆ อยู่ในตลาด จ.ภูเก็ต หลายครั้งยังมีกระเบนนก ปลานกแก้ว วางขายกันอย่างไม่แคร์สายตาใครทั้งสิ้น

“ก่อนหน้านี้ทั้งนักวิชาการ และนักอนุนักษ์มีความพยายามที่จะขอให้มีการขึ้นบัญชีทั้งฉลามเสือดาว และฉลามหัวบาตรเข้าไปเป็นสัตว์สงวน ภายใต้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่โดนผู้เชี่ยวชาญบางคนคัดค้าน โดยอ้างว่ายังมีข้อมูลไม่ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการล่า เนื่องจากมีข้อมูลว่าส่วนใหญ่แล้วสัตว์พวกนี้ติดเครื่องมือประมงของชาวประมงขึ้นมาเองโดยไม่ได้ตั้งใจ ทำให้เรื่องนี้ตกไป” นายเพชรกล่าว

นายเพชรกล่าวว่า แต่ข้อมูลที่นักดำน้ำต่างรู้กันดีในเวลานี้ คือ ทั้งฉลามเสือดาว และฉลามหัวบาตรนั้น เป็นสัตว์ที่หาดูได้ยากมาก เวลานี้แทบจะไม่มีเลยด้วยซ้ำ ก่อนหน้านี้นักดำน้ำจากทั่วโลกเดินทางมา จ.ภูเก็ต เพื่อมาดูฉลามวาฬ ฉลามเสือดาว และฉลามหัวบาตร แต่วันนี้แทบจะไม่มีสัตว์เหล่านี้ให้ดู หรือนานๆ จะเห็น เรียกได้ว่าเมื่อก่อนลงไปกี่ไดร์ฟก็เจอ แต่มาวันนี้ลงไป 10 ไดร์ฟ อาจจะเจอสักครั้ง ถือว่าอยู่ในขั้นวิกฤตก็ว่าได้

“ไอยูซีเอ็นจัดให้ฉลามเสือดาวอยู่ในกลุ่มเดียวกับเสือโคร่ง คือเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์แล้วทั่วโลก มีประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว และถูกคุกคามอย่างหนักจากการประมง ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายคุ้มครอง แต่ผมเห็นว่าเวลานี้นักดำน้ำทั่วโลกต่างก็รู้ดีว่าสถานะการณ์ของทั้งฉลามเสือดาวและฉลามหัวบาตรเลวร้ายแค่ไหน หาดูได้ยากแค่ไหน ขณะเดียวกันพวกเขากลับมาเห็นสัตว์ 2 ตัวนี้ถูกจับห้อยหัว แล่เนื้อเอาไปให้นักท่องเที่ยวกินในประเทศไทย ถือเป็นภาพลักษณ์ของประเทศที่ไม่ดีเลย เราพยายามโปรโมตการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวทะเลประเทศไทย มาดำน้ำดูปลาดูปะการัง แต่สิ่งที่นักดำน้ำอยากดูที่สุดกลับไปอยู่ในร้านอาหาร” นายเพชรกล่าว

ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า บางครั้งตนก็รู้สึกเหนื่อยมากที่ต้องออกมาพูดเรื่องแบบนี้บ่อยๆ แต่ก็ต้องพูด กรณีของฉลามเสือดาว และฉลามหัวบาตรนั้น เห็นหลายครั้งรู้สึกโกรธจนไม่รู้จะโกรธอย่างไรแล้ว แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะไม่มีกฏหมายคุ้มครอง แม้ก่อนหน้านี้จะมีความพยายามอย่างหนักที่จะผลักดันให้สัตว์พวกนี้ถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวนเหตุผลของเราคือ ฉลามพวกนี้ออกลูกน้อย และการคุ้มครองก็ไม่ได้ส่งผลอะไรกับใคร แต่อีกฝั่งก็โต้มาว่าข้อมูลน้อยเกินไป และไม่มีใครคิดจะล่าฉลามพวกนี้ แต่จะติดมากับเครื่องมือประมงเท่านั้น ประเด็นคือ ติดมาแล้วทำไมไม่คิดจะปลดทิ้งปล่อยลงทะเลไป เพราะติดเครื่องมือประมงมาทีไรก็ไปอยู่ในร้านอาหารตลอด

“อย่าว่าแต่เรื่องฉลามเสือดาว และฉลามหัวบาตรเลยครับ แม้กระทั่ง วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง ที่เมื่อเดือนมิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติตามข้อเสนอของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช และคณะกรรมการคุ้มครองสัตว์ป่า แล้วให้เข้าไปอยู่ในบัญชีของสัตว์สงวน โดยหลังจาก ครม.อนุมัติก็ได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ปรากฏว่าจนบัดนี้แล้ว ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาเลย เข้าใจว่ากฤษฎีกามีเรื่องต้องพิจารณามากมาย แต่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมคิดว่าระหว่างที่เรารอคอยนั้นมีสัตว์พวกนี้หายไป ตายไป ถูกล่าและถูกทำลายไปกี่ตัว กว่ากฏหมายจะประกาศอาจจะสูญพันธุ์ไปหมดแล้วก็ได้” ผศ.ธรณ์ กล่าว

ผศ.ธรณ์ กล่าวว่า นอกเหนือจากการเสนอให้วาฬบรูด้า วาฬโอมุระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง เข้าไปอยู่ในบัญชีสัตว์สงวน และรอคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาตรวจสอบอยู่นั้น มีสัตว์น้ำ หายากใกล้สูญพันธุ์ อีก 16 ชนิด คือ 1) กระเบนแมนต้ายักษ์ 2) กระเบนแมนต้าปะการัง 3) กระเบนปีศาจ ครีบสั้น (คล้ายกระเบนแมนต้า) 4) กระเบนปีศาจหางหนาม 5) กระเบนปีศาจครีบโค้ง 6) กระเบนปีศาจแคระ 7) โรนิน กระเบนท้องน้ำ 8) โรนันเม็ด 9) โรนันหัวไทรจุดขาว 10) โรนันหัวไทร 11) โรนันหัวไทรยักษ์ 12) โรนันจมูกเรียบ 13) โรนันจุดขาว 14) โรนันจุดขาวใหญ่ 15) โรนันหัวจิ้งจก 16) โรนันจมูกกว้าง
17) ฉนากปากแหลม 18) ฉนากเขียว 19) ฉนากยักษ์ 20) กระเบนราหูน้ำจืด ได้ถูกเสนอเข้าไปในบัญชี สัตว์คุ้มครอง แต่ถูกตีตกไปหมด ล่าสุดนั้น พบกระเบนปีศาจจำนวนมาก ถูกนำมาวางขายในตลาดหลายที่ของ จังหวัดชายฝั่งทะเล และเป็นที่รู้กันเช่นกันในหมู่นักท่องเที่ยวว่า กลุ่มกระเบน และโรนัน โรนินพวกนี้หาดูยากอย่างมาก

 

ที่มา : มติชนออนไลน์