ศบค.ลั่นเปิดประเทศ 1 ต.ค. รับไฮซีซั่น ต่างชาติแห่พักภูเก็ตพุ่ง 5.2 แสนคืน

ศบค.

ศบค.ย้ำแผนเปิดประเทศ 1 ตุลาคม รับไฮซีซั่น ปลื้ม “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ไปได้สวย ต่างชาติแห่เที่ยวภูเก็ตกว่า 32,000 คน ยอดเข้าพักพุ่ง 5.2 แสนคืน ติดเชื้อแค่ 91 คน ส่วน 229 คนที่ติดเชื้อ เป็นคนในพื้นที่ ห่วงกทม.พบผลตรวจเป็นบวกจาก ATK ยังสูง “เขตบางกอกน้อย” มากสุด

วันที่ 15 กันยายน 2564 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อประจำวันว่า พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 13,798 ราย หายป่วยแล้ว 14,133 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,391,477 ราย และเสียชีวิต 144 ราย

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีหายป่วยแล้ว 1,277,029 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,420,340 ราย เสียชีวิตสะสม 14,765 ราย

ศบค.

ห่วง กทม. พบผลตรวจจาก ATK ยังสูง

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพิ่มขึ้น 2,772 ราย แม้เป็นตัวเลขที่ถึง 3 พัน แต่ข้อมูลจากการตรวจ CCRT โดยใช้ Antigen Test Kit (ATK) ยังพบผลเป็นบวกประมาณ 8-10% ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ ซึ่งยังถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงอยู่ ถึงแม้ไม่มีอาการ เพราะฉะนั้นเปอร์เซ็นต์ของการติดเชื้อ 2,772 ราย เป็นการตรวจด้วย RT-PCR แต่ถ้ายังมีตัวเลขที่ตรวจพบจาก ATK อยู่ ขอให้ทุกคนเฝ้าระวัง

“เหมือนเดิมครับ ไปที่ไหนมาต้องคิดไว้ว่า คนรอบข้างเราติดเชื้อไว้ก่อน จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราไม่ประมาทและก็ไม่ไปรับเข้ามา”

ส่วนการรายงานข้อมูลผู้ป่วยที่อยู่ใน กทม. มากสุด 10 อันดับ คือ เขตบางกอกน้อย 91 ราย รองลงมาคือ มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง ดุสิต บางซื่อ บางนา ธนบุรี บางพลัด และบางแค

“ถือว่าเป็นข่าวดีที่ ขอให้ทุก ๆ เขตช่วยกันรักษาเรื่องของการคงจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้มากไปกว่านี้”

ต่างชาติแห่เที่ยว 3.2 หมื่นคน ยอดพักทะลุ 5.2 แสนคืน

นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า ที่ประชุม ศบค. มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนคืนของผู้เข้าพัก SHA+ ซึ่งเป็นยอดการจองจากนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564 จำนวน 524,221 คืน ซึ่งเหตุผลที่นับเป็นคืน เนื่องจากจะได้เห็นภาพเรื่องของค่าใช้จ่าย โดยมีวิธีการนับ เช่น 2 คน มาพัก 1 ห้อง 1 คืน ก็นับเป็น 1 คืน หรือ หลายคนมาพักหลายห้องก็จะนำมารับรวมกันเป็นจำนวนคืนที่พัก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-14 กันยายน รวม 76 วัน มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้ว 32,005 คน โดยพบผู้ติดเชื้อทั้งจากการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 เพียง 91 คน และไม่พบเชื้อ 31,914 คน

ยันยอดติดเชื้อในพื้นที่ รับมือไหว

อย่างไรก็ตาม มีการรายงานการติดเชื้อใหม่รายวันในประเทศ 229 คน (ช่องสีเหลืองภาพด้านล่าง) เป็นการติดเชื้อในพื้นที่ โดยเป็นคนไทย หรือแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในเกาะภูเก็ต แต่จะเห็นได้ว่า ผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเป็นศูนย์

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ทางนายแพทย์สาธารณสุขประจำจังหวัดได้รายงานผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ แจ้งว่า ยังรับมือไหว แม้จะมีผู้ป่วยและเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่โดยส่วนใหญ่ 90% แข็งแรงดี เพราะอาการไม่มาก คือ อยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง สีส้ม ประมาณ 4% และผู้ป่วยกลุ่มสีแดงประมาณ 6% ซึ่งต้องการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล โดยยืนยันว่า ในลักษณะแบบนี้ยังมีศักยภาพในการรักษาได้

สำหรับ 10 อันดับประเทศต้นทางที่เดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บอกซ์ (ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 11) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 5,668 ราย, อิสราเอล 3,669 ราย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) 3,358 ราย, สหราชอาณาจักร (UK) 3,338 ราย, เยอรมนี 2,871 ราย, ฝรั่งเศส 2,671 ราย, สวิตเซอร์แลนด์ 1,101 ราย, กาตาร์ 1,004 ราย, เนเธอร์แลนด์ 693 ราย และเบลเยียม 521 ราย

ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ 91 ราย ตรวจพบสายพันธุ์เพียง 21 ราย โดยเป็นสายพันธุ์เดลต้า 20 ราย คิดเป็น 95.24% และสายพันธุ์อัลฟ่า 1 ราย คิดเป็น 4.76%

ประยุทธ์ สั่งเตรียมรับนักท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

โฆษก ศบค. เผยว่า พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ได้สั่งการให้เตรียมความพร้อมรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ในช่วงไตรมาส 4 ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลของการท่องเที่ยวหรือ ไฮซีซั่น โดยมีข้อสั่งการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก ต้องเกิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยวปลอดภัยจากโควิด-19 หรือ Covid free tourist area sandbox ซึ่งภูเก็ตแซนด์บอกซ์ก็ได้ทำมาเป็นตัวอย่างในช่วง 1-2 เดือนกว่า เพราะฉะนั้นในพื้นที่อื่นต้องพิจารณาดูว่า สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้หรือไม่ และได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมด้วยกระทรวงมหาดไทยไปพิจารณาดูในประเด็นต่อไปนี้

1. ต้องพิจารณาดูพื้นที่นั้น ๆ ว่า หากเป็นมีพื้นที่เป็นเกาะ แบบพื้นที่ 7+7 คือ อยู่ในพื้นที่นั้น 7 วัน และไปเที่ยวที่อื่นต่อได้อีก 7 วัน หรือเป็นพื้นที่ที่มีสนามบินที่สามารถตรวจผู้ที่เดินทางเข้ามาได้อย่างชัดเจน

2. ต้องกำหนดมาตรการป้องกันและควบคุมโควิดในพื้นที่นั้น ๆ และก็ต้องได้รับความเห็นชอบในการดำเนินการ คือ กำหนดมาตรการขึ้น แต่ก็ต้องดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่า มีความพร้อมหรือไม่ รวมถึงจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนการฉีดวัคซีน

3. ต้องพิจารณาความสามารถในการรักษาผู้ป่วยหากเกิดการติดเชื้อ คือ มีเตียง มีบุคลากรแพทย์ พยาบาลอยู่ในพื้นที่เพียงพอหรือไม่ สามารถควบคุมโรคหรือสามารถที่ที่จะนำผู้ป่วยเข้าไปนอนรักษาในโรงพยาบาลได้เพียงพอหรือไม่

“ยังมีข้อสั่งการให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ และกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดในพื้นที่อาจจะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ เป็นพื้นที่นำร่อง เป็นแซนด์บอกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป เอาสถานที่ที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ก็สามารถเปิดเลย หรือทดลองดำเนินการขึ้นมาได้เลย อย่างที่เคยได้ยิน อย่าง ภูเก็ต สมุย ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตอนนี้ถ้าเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวไทยด้วยจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้ที่ภูเก็ต มีการติดเชื้อ ของคนในพื้นที่ ก็ต้องพยายามหาวิธีการ ในการจัดการพื้นที่ให้ได้ พอสงบแล้ว ก็อาจจะเชิญนักท่องเที่ยวที่เป็นคนไทยเข้ามาได้”

ส่วนระยะที่ 2 ก็อาจจะเป็นพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นช่วง 15 ตุลาคม หรือ 1 พฤศจิกายนไปแล้ว ก็อาจจะเปิดหาพื้นที่มีความพร้อมอื่น ๆ ที่อยู่ในต่างจังหวัด หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว อย่าง ภูเขา ทะเล อยู่ในภาคตะวันออก และภาคเหนือ