เช็กความพร้อมจังหวัดท่องเที่ยว 4 เฟส ก่อนเปิดประเทศ มีที่ไหนบ้าง

ภาพโดย psmeme จาก Pixabay

การประกาศเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. ของนายกรัฐมนตรี จะเกิดขึ้นควบคู่กับการเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) 4 เฟส ซึ่งแต่ละเฟสจะใช้เกณฑ์กำหนดพื้นที่แตกต่างกัน ประเทศไทยมีความพร้อมในการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 มากน้อยแค่ไหน ? ยังคงเป็นคำถามที่ประชาชนต้องการคำตอบ 

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อช่วง 20.30 น. วานนี้ (11 ต.ค.) ใจความสำคัญคือการประกาศ เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ โดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป

ระบุเงื่อนไขว่า นักท่องเที่ยวที่จะเข้าประเทศได้นั้น จะต้องฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และเดินทางเข้าประเทศไทยโดยทางอากาศ โดยมาจากประเทศความเสี่ยงต่ำ ซึ่งเริ่มแรกกำหนดไว้อย่างน้อย 10 ประเทศ เช่น อังกฤษ สิงคโปร์ เยอรมนี จีน และอเมริกา หลังจากนั้นภายในวันที่ 1 มกราคม 2565 จะมีการเพิ่มจำนวนประเทศให้มากขึ้น

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังระบุว่า ภายในวันที่ 1 ธันวาคม จะพิจารณาอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้ และจะพิจารณาอนุญาตให้สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานบันเทิง เปิดให้บริการได้ ภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว การพักผ่อนและบันเทิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เรากำลังจะเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาสปีใหม่

นายกรัฐมนตรี ให้เหตุผลในการเปิดประเทศครั้งนี้ว่า “เราต้องไม่ปล่อยโอกาสนี้ เพราะถ้าเราต้องเสียโอกาส ในช่วงเวลาทอง ของการทำมาหากินไปอีก เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน ผมคิดว่าประชาชนคงรับมือไม่ไหวอีกต่อไป”

หุ้นเด้งรับปัจจัยบวก เปิดประเทศ 1 พ.ย.

เพียงข้ามคืนหลังแถลงการณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ ดัชนีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า ตลาดหุ้นเช้าวันนี้ (12 ตุลาคม) ปิดตลาดภาคเช้า อยู่ที่ระดับ 1,640.77 จุด เพิ่มขึ้น 7.33 จุด หรือเพิ่มขึ้น 0.45% มีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้น 55,072 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทย (SET) ปรับตัวขึ้นแนวต้าน 1,645-1,660 จุด โดยระบุว่าปัจจัยบวกส่วนหนึ่งมาจากนายกรัฐมนตรีแถลงเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน และ 1 ธันวาคม เตรียมอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง โดยสามารถดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้

ปัจจัยดังกล่าวเป็นบวกโดยตรงต่อกลุ่มธีมเปิดเมือง อาทิ สายการบิน, สนามบิน (AOT, AAV), โรงแรม (MINT, ERW, CENTEL), ห้างสรรพสินค้า (CPN, CRC), ร้านอาหาร (AU, ZEN, M) และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ SPA, MAJOR, HMPRO

หอการค้าชี้สัญญาณดี นักท่องเที่ยวทะลักเดือนละแสน

ด้าน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มทรงตัวถึงลดลง ประกอบกับแผนการจัดหาและจัดสรรวัคซีนที่มีความชัดเจน ทำให้ประชาชนได้รับวัคซีนเพิ่มขึ้น การกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัดเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการติดเชื้อจากต่างประเทศก็ไม่มีปริมาณมาก ดังนั้น ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่นายกรัฐมนตรีออกมาประกาศสร้างความชัดเจนในการเปิดประเทศ

เพราะจะช่วยทำให้ผู้ประกอบการและนักเดินทางได้รู้ล่วงหน้าและมีการเตรียมตัวที่ดีขึ้น ภายใต้การควบคุมและมีลำดับขั้นตอนในการทยอยเปิดที่ชัดเจน ทั้งนี้ มาตรการที่ภาครัฐได้ทยอยผ่อนคลายตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมไปถึงโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนั้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ได้มีการเตรียมตัวมาแล้ว เช่น มาตรการ SHA+ และ COVID FREE SETTING

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมความพร้อมคือการกระจายฉีดวัคซีนเพิ่มเติม ทั้งเข็ม 2 และเข็ม 3 โดย ภาคเอกชนที่ร่วมเป็นศูนย์ฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อร่วมเปิดประเทศไปด้วยกัน

“หอการค้าไทยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มเติมประมาณเดือนละ 1 แสนราย ซึ่งจะส่งผลให้ GDP ในปีนี้เติบโตเพิ่มมากขึ้น แต่ยังคงอยู่ในกรอบ 0-1% ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศส่วนอื่น ๆ ที่หอการค้าฯ ได้เคยเสนอไป จะส่งผลกับการเพิ่มขึ้นของ GDP ได้มากกว่า ทั้งการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ การเติมเงินคนละครึ่งจาก 3,000 บาทเป็น 6,000 บาท และมาตรการช้อปดีมีคืน” นายสนั่นกล่าว

ย้อนผลนับหนึ่ง เฟสนำร่อง “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์”

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 พล.อ.ประยุทธ์ ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประกาศตั้งเป้าเปิดประเทศ ภายใน 120 วัน โดยจะเริ่มนำร่องที่ภูเก็ต เป็นที่มาของโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บอกซ์” ดีเดย์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การเปิดประเทศเฟสนำร่อง รัฐบาลใช้เกณฑ์เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้จากการท่องเที่ยว โดยหลังจากภูเก็ตแซนด์บอกซ์ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงได้นำบทเรียนไปปรับปรุงแก้ไข ก่อนจะเริ่มเปิดพื้นที่เฟสนำร่องอื่น ๆ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ดังนี้

  • สุราษฎร์ (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า
  • พังงา (เขาหลัก เกาะยาว)
  • กระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เลย์ คลองม่วง ทับแขก)

เฟส 1 เปิด 10 จังหวัด รวม กทม.

ลำดับต่อไปของจังหวัดที่จะได้เปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว ตามข้อมูลจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เมื่อวันที่ 26 กันยายน ระบุว่า การเปิดพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (พื้นที่สีฟ้า) เฟส 1 ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 ใช้เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจ เป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มี 10 จังหวัด ได้แก่

  1. กรุงเทพมหานคร
  2. กระบี่ (ทั้งจังหวัด)
  3. พังงา (ทั้งจังหวัด)
  4. ประจวบคีรีขันธ์ (ตำบลหัวหิน หนองแก)
  5. เพชรบุรี (เทศบาลเมืองชะอำ
  6. ชลบุรี (พัทยา อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่)
  7. ระนอง (เกาะพยาม)
  8. เชียงใหม่ (อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง ดอยเต่า)
  9. เลย (เชียงคาน)
  10. บุรีรัมย์ (เมือง)

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา มี 4 จังหวัด ที่เปิดรับนักท่องเที่ยวแล้ว ได้แก่ ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี และเชียงใหม่

ส่วนกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมมีแผนเปิดในวันเดียวกันนั้น ได้เลื่อนเปิดเป็นวันที่ 15 ตุลาคม โดยยึดจากการฉีดวัคซีนให้คนในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 70% เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เฟส 2 เดือน ธ.ค. 20 จังหวัด

ขณะที่ เฟส 2 จะเปิดทั้งหมด 20 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1-31 ธันวาคม ได้แก่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน แพร่ หนองคาย สุโขทัย เพชรบูรณ์ ปทุมธานี อยุธยา สมุทรปราการ ตราด ระยอง ขอนแก่น นครราชสีมา นครศรีธรรมราช ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส

โดยใช้เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจเป็นเมืองหลักหรือจังหวัดที่มีสัดส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด โดยมีสินค้าการท่องเที่ยว ด้านศิลปวัฒนธรรม และเป็นจังหวัดที่มีพรมแดนติดประเทศเพื่อนบ้าน

เฟส 3 เปิดปีหน้า

สุดท้ายคือเฟสที่ 3 จำนวน 13 จังหวัด ได้แก่ สุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี ตาก นครพนม มุกดาหาร บีงกาฬ อุดรธานี อุบลราชธานี น่าน กาญจนบุรี ราชบุรี และ สตูล เริ่มเปิดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยใช้เกณฑ์กำหนดพื้นที่นำร่องด้านเศรษฐกิจจังหวัด ที่มีพรมแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน

เปิดประเทศต้องมีภูมิคุ้มกันหมู่

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนถูกยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ตามข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดความเสี่ยงจากการระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีก

เป้าหมายเพื่อการฉีด จัดหาจัดซื้อ การกระจายวัคซีนให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าถึง หรืออย่างน้อย 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด หรือครอบคลุมประชากรประมาณ 50 ล้านคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลต้องปูพรมฉีดวัคซีนให้ได้ 100 ล้านโดส ภายในปี 2564 หากต้องการให้ประชาชนแต่ละคนได้รับวัคซีนครบ 2 โดส

รัฐบาลเริ่มฉีดวัคซีนวันแรกเมื่อเดือนมิถุนายน จึงมีเวลา 7 เดือนในการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส หรือเฉลี่ยเดือนละ 14-15 ล้านโดส หรือวันละ 4-5 แสนโดส

ผ่านมาประมาณ 4 เดือน ข้อมูล ณ วันที่ 11 ตุลาคม พบว่า มีผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 35,462,170 ราย คิดเป็น 49.2% ของประชากร, มีผู้ได้รับเข็มที่ 2 สะสม 23,796,497 ราย คิดเป็น 33.0% ของประชากร และ มีผู้ได้รับเข็มที่ 3 สะสม 1,774,584 ราย คิดเป็น 2.5 % ของประชากร

สำหรับความครอบคลุมของการได้รับวัคซีน จำแนกตามจังหวัด และการได้รับวัคซีนตามเป้าหมาย ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 12 ตุลาคม พบว่า มีเพียง 14 จังหวัด ที่ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรทั้งหมด มากกว่าหรือเท่ากับ 50% ได้แก่ กทม. ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นนทบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก เพชรบุรี ระยอง พังงา ภูเก็ต และระนอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งฉีดไปแล้วครอบคลุม 70% พบว่าอัตราการแพร่เชื้อ อัตราการป่วยตายลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ไทยเบียดญี่ปุ่นสู่อันดับ 24 โควิดสะสมมากสุดในโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ในประเทศไทยจะค่อย ๆ ลดจากระดับสองหมื่น เหลือไม่ถึงหลักหมื่นในปัจจุบัน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมของประเทศไทยเริ่มไต่อันดับสูงขึ้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ worldmeters ล่าสุดระบุว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมสูงที่สุดในโลก ด้วยตัวเลขกว่า 1.7 ล้านราย เบียดญี่ปุ่นหล่นไปอยู่อันดับ 25 เป็นที่เรียบร้อย

แต่หากย้อนไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศเปิดประเทศใน 120 วัน ประเทศไทย ถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 79 มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 2 แสนราย