กรมควบคุมโรค เตือนพ่อแม่ระวัง “เด็กแรกเกิด-4ปี’ เสี่ยงป่วย”โรคหัด”มากสุด พบแล้ว2,637ราย

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นพ.สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย   อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ได้รับรายงานโรคหัดในประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 พฤศจิกายน  2560 พบผู้ป่วย 2,637 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต

กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ แรกเกิด-4 ปี รองลงมาอายุ 10-14 ปี และอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ โดยเป็นสัญชาติไทยร้อยละ 88.6 ต่างชาติร้อยละ 11.4  ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา  มีรายงานผู้ป่วยโรคหัดเป็นกลุ่มก้อน 1 เหตุการณ์ ที่จังหวัดเชียงใหม่ พบผู้ป่วย 48 ราย เป็นชาวเมียนม่า 40 ราย(ร้อยละ 83)  โดยพบว่า 44 รายไม่เคยได้รับวัคซีน, 3 รายไม่ทราบประวัติวัคซีน และ 1 ราย ได้รับวัคซีนเพียง 1 เข็ม

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์นี้ คาดว่ามีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคหัดเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ซึ่งอากาศที่เย็นลง ทำให้เสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น โรคนี้พบได้ทุกวัย แต่ที่พบบ่อยคือในกลุ่มเด็กเล็ก โรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัส Measles ซึ่งสามารถพบได้ในจมูกและลำคอของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือพูดกันในระยะใกล้ชิด แล้วเข้าสู่ร่างกายทางการหายใจ  อาการคล้ายกับไข้หวัด คือ มีไข้ จากนั้นเริ่มมีผื่นนูนแดงขึ้นที่หลังหูแล้วลามไปยังหน้า กระจายตามลำตัว แขนและขา มีน้ำมูกไหล มักจะไอแห้งๆตลอดเวลา ตาแดงก่ำและแฉะ อาจพบจุดขาวๆ เล็ก ขอบสีแดงอยู่ในกระพุ้งแก้ม หลังผื่นผิวหนังลดจะปรากฏเป็นสีแดงคล้ำอยู่หลายวัน 

ส่วนโรคแทรกซ้อนที่พบบ่อย คือ อุจจาระร่วง หูชั้นกลางอักเสบ ปอดบวม สมองอักเสบ โดยเฉพาะในเด็กที่มีภาวะขาดอาหารหรือภาวะทุพโภชนาการ อยู่ในชุมชนแออัดและในศูนย์เด็กเล็ก  การรักษา เป็นแบบรักษาตามอาการ ถ้าผื่นออกแล้ว 3-4 วัน แต่ไข้ยังสูงอยู่หรือว่าไข้ลงวันเดียวแล้วก็ขึ้นอีก มีอาการไอมาก และหอบ แสดงว่าผิดปกติ อาจมีปอดบวมหรือหลอดลมอักเสบแทรกได้ ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที นอกจากนี้ให้แยกผู้ป่วยที่สงสัยเป็นหัดจนถึง 4 วันหลังผื่นขึ้น  กรมควบคุมโรค ขอแนะนำการป้องกันสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ การไปรับวัคซีนเพื่อป้องกันโรค โดยเด็กเล็กควรรับวัคซีนรวมป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน (MMR) ให้ครบ 2 ครั้ง เมื่ออายุ 9-12 เดือน และ 2 ปีครึ่ง รวมทั้งหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

 

ที่มา มติชนออนไลน์