เมื่อประสบอุบัติเหตุทางถนน ต้องทำอย่างไร

ถนนพญาไทหน้าสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ บริเวณที่เกิดอุบัติเหตุล่าสุด ภาพจาก Google Street View บันทึกเมื่อเดือนมีนาคม 2564

เปิดข้อมูลอุบัติเหตุ พบ 23 วันปี 2565 ตายแล้ว 1,045 ราย ขณะที่ปี 2564 เฉพาะอุบัติเหตุบนถนนเจ็บ-ตายรวม 8.8 แสนคน เผยขั้นตอนเมื่อประสบอุบัติควรทำอย่างไร – การเรียกค่าเสียหาย

วันที่ 24 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานข้อมูลจากเว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน โดยบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด รายงานข้อมูลอุบัติเหตุที่ได้รับแจ้งในปี 2565 (ข้อมูลวันที่ 24 มกราคม 2565 เวลา 12.00 น.) พบผู้เสียชีวิตสะสมแล้ว 1,045 ราย และผู้บาดเจ็บสะสม 60,940 ราย

โดยผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนประจำวันที่ 24 มกราคม 2565 พบว่ามีผู้เสียชีวิต 24 ราย และบาดเจ็บ 1,164 ราย และหากจำแนกประเภทยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตสูงสุด อันดับที่ 1 คือ รถจักรยานยนต์สูงถึง 94% และเป็นสัดส่วนของรถยนต์ 4%

หากมองย้อนกลับไปในตลอดทั้งปี 2564 เว็บไซต์เดียวกันเปิดเผยข้อมูลว่า มีผู้ประสบอุบัติเหตุรวม 894,183 ราย เสียชีวิต 13,503 ราย และบาดเจ็บ 880,517 ราย หรือเฉลี่ยทุก ๆ 52 กิโลเมตรจะมีผู้เสียชีวิต 1 ราย จากระยะทางถนนของประเทศที่รวม ๆ กันที่ 701,847 กิโลเมตร

ข้อมูลการรับแจ้งอุบัติบนถนนปี 2565 ภาพจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ Thai RSC เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน

HOW-TO เมื่อประสบอุบัติเหตุ

จากข้อมูลข้างต้น จะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดอุบัติเหตุและทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงมาก ดังนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” จะพาไปเรียนรู้ถึงกระบวนการ หากประสบอุบัติเหตุควรตั้งสติและทำอะไรบ้าง

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าเมื่อพบผู้บาดเจ็บให้ทำตามนี้

1. นำคนเจ็บเข้ารักษาพยาบาลในสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุดและสะดวกที่สุดก่อน โดยแจ้งผ่านสายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ทั่วประเทศ

2. แจ้งเหตุที่เกิดให้ตำรวจทราบ และขอสำเนาประจำวันตำรวจเก็บไว้

3. แจ้งเหตุบริษัทประกันภัยทราบ แจ้งวัน เวลา สถานที่เกิดเหตุ

4. เตรียมเอกสาร โดยถ่ายสำเนากรมธรรม์ประกันภัยรถคันเกิดเหตุ ภาพถ่ายสำเนาบัตรประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ออกโดยราชการกรณีเมื่อเรียกร้องค่าเสียหาย

5. ให้ชื่อ ที่อยู่ ผู้ที่พบเห็นเหตุการณ์ เพื่อช่วยเหลือในการเป็นพยานให้แก่คนเจ็บ

ส่วนการยื่นขอรับค่าเสียหายเบื้องต้นผ่านโรงพยาบาล เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัย ให้เตรียมเอกสารดังนี้ อย่างละ 2 ชุด

1.สำเนากรมธรรม์ของรถ (ใบเสร็จรับเงินจากบริษัทประกัน)

2.สำเนาใบบันทึกประจำวันของตำรวจประทับตราโล่และสำเนาถูกต้องเอกสาร

3.สำเนาคู่มือรถหน้าจดทะเบียนและหน้ารายการเสียภาษีหรือสำเนาสัญญาซื้อขาย (สมุดเขียว /น้ำเงิน)

4.สำเนาบัตรประชาชนของผู้ประสบภัย

5.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ประสบภัย

6.สำเนาบัตรประชาชนของเจ้าของรถ

7.สำเนาบัตรทะเบียนบ้านเจ้าของรถ

หลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

ปัจจุบัน รัฐบาลได้ประกาศใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกําหนดค่าใช้จ่ายในการดําเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่า สถานพยาบาลจะต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเข้ารับการรักษาโดยไม่มีเงื่อนไข ส่วนค่าใช้จ่ายให้เริ่มนับตั้งแต่รับผู้ป่วยเข้ารักษาแล้ว 72 ชม.

กรณีมีปัญหาด้านการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจริงหรือไม่ ให้ติดต่อศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้ตลอด 24 ชม. (โทร.1669) โดยคําวินิจฉัยของศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ให้ถือเป็นที่สุด

ส่วนการเรียกค่าเสียหายเบื้องต้น ผู้ประสบภัยมากับรถคันไหนให้เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากรถคันนั้น แต่ถ้าผู้ประสบภัยเป็นบุคคลภายนอกให้เบิกค่าเสียหายเบื้องต้นจากรถที่เกิดเหตุ หรือเบิกจากกองทุนเงินทดแทนผู้ประสบภัย