โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สธ. เผย ไทยพบสะสมแล้ว 9 ราย

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สธ. เผยไทยพบโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 สะสม จำนวน 9 ราย เจอครั้งแรก 2 ม.ค.65 มาจากต่างประเทศและในประเทศ

วันที่ 25 มกราคม 2565 มติชนรายงานว่า นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตรวจเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ทั่วประเทศ สามารถถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (Whole Genome Sequencing) และได้พบสายพันธุ์ย่อยของเชื้อโอมิครอน คือ BA.1 และ BA.2 แต่ยังไม่พบ BA.3

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า พบสายพันธุ์ BA.2 รายแรกตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2565 และได้เสนอข้อมูลพร้อมทั้งส่งข้อมูลในระบบฐานข้อมูลจีเสด GSAID) ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ขณะนี้สุ่มตรวจสอบสายพันธุ์ย่อย BA.2 พบสะสมรวมทั้งหมด 9 ราย โดยมีทั้งที่เดินทางมาจากต่างประเทศ และติดเชื้อภายในประเทศ

“ลักษณะสำคัญทางพันธุกรรมของสายพันธุ์ย่อย BA.2 คือ ไม่พบ Deletion ของตำแหน่ง 69-70 ซึ่งแตกต่างจาก BA.1 และ BA.3 ทั้งนี้ ยังไม่พบความแตกต่างจากสายพันธุ์ BA.1 ในประเด็นความสามารถในการแพร่เชื้อ อาการรุนแรง หรือสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้จากการติดเชื้อหรือการได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน” นพ.ศุภกิจ กล่าว

รพ.รามาฯ พบโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ในไทย 2 ราย

ที่เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ของศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความ (ปรับปรุงครั้งล่าสุด 25 ม.ต. เวลา 14.00 น.) ถึงโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ในประเทศไทย

โพสต์ดังกล่าวระบุว่า ธรรมชาติของไวรัสโคโรนา 2019 เมื่อเกิดมีสายพันธุ์หลักก็จะติดตามมาด้วยการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย ในกรณีของโอมิครอนจะมีสายพันธุ์หลักเป็น “B.1.1.529” หรือ “BA.1” แล้วเริ่มมีการกลายพันธุ์ไปอีก 2 สายพันธุ์ย่อยคือ “BA.2” และ “BA.3”

ในส่วนของโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ถูกนำมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากตัวอย่างผู้ติดเชื้อทั่วโลกแล้วทั้งสิ้น 10,811 ราย (<0.5%) พบในประเทศไทย 2 ราย (1%) กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” ประมาณ 70-80 ตำแหน่ง

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดี ตรวจพบ BA.2 จำนวน 1 ตัวอย่าง ด้วยเทคโนโลยี “Mass array genotyping” ซึ่งกำลังยืนยันผลด้วยเทคนิค “Long read, whole genome sequencing” คาดว่าจะแล้วเสร็จในอาทิตย์นี้

ส่วนผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง ผล X-ray มีอาการปอดบวมเล็กน้อย แพทย์ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) ไปตอนนี้หายดีแล้ว ตรวจไม่พบไวรัสจากตัวอย่างสวอป

BA.2 บางครั้งถูกเรียกว่าสายพันธุ์ล่องหน (Stealth Variant)” เพราะสามารถตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีน ทำให้แยกไม่ออกระหว่าง “เดลตา” กับ “BA.2” เพราะเดลตาก็ตรวจ RT-PCR ได้ครบทั้งสามยีนเช่นกัน

สำนักงานความมั่นคงด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักร (UKHSA) ประกาศให้ BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องสอบสวน (Variant Under Investigation: VUI) เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565

ที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เนื่องจากใช้เทคโนโลยี “จีโนไทป์” จึงไม่ประสบปัญหา “S target failure (SGTF)” สามารถพัฒนาให้ชุดตรวจตรวจจับทั้ง BA.1, BA.2, และ BA.3 และ เดลตา อัลฟา เบตา แกมมา ไปพร้อมกันได้ในหลอดเดียว (single tube reaction) ภายใน 24-48 ชั่วโมง ด้วยค่าใช้จ่ายที่ประหยัดกว่าการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม

BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากสายพันธุ์ดั้งเดิม “อู่ฮั่น” มากที่สุดประมาณ 70-80 ตำแหน่ง อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อมูลยืนยันชัดเจนทางคลินิกว่ามีอาการรุนแรงกว่าโอมิครอนสายพันธุ์หลัก BA.1 หรือไม่ แต่คาดคะเนจากข้อมูลทางระบาดวิทยาว่าอาจแพร่ติดต่อได้เร็วกว่าโอมิครอน BA.1 อยู่บ้าง

BA.2 เคยได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะหมดความสนใจไป เพราะมีการระบาดอยู่ในวงจำกัด