บริษัทประกันภัยยุคโควิด ปิดกิจการแล้วกี่ราย หลังต้องเจอ จ่าย จบ!

ประกันโควิด

เปิดชื่อบริษัทประกันภัย ทยอยปิดกิจการ เซ่นแพ็กเกจ “ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ” ทำยอดเคลมพุ่ง 3 หมื่นล้าน

วันที่ 27 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมธรรม์ประกันโควิด “เจอ จ่าย จบ” เป็นหนึ่งแรงดึงดูดให้ประชาชนสนใจซื้อประกันเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะการระบาดระลอก 4 เมื่อช่วงเดือนช่วงกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงแตะหมื่นราย

ส่งผลให้ยอดเคลมค่าสินไหมรวมจากการรับประกันโควิดถึงช่วงสิ้นเดือนตุลาคม 2564 มีมูลค่าสูงกว่า 30,000 ล้านบาท และมียอดเคลมสะสมถึงสิ้นปี 2564 เพิ่มสูงถึง 35,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนดังกล่าวเป็นตัวเลขที่สูงกว่าที่บริษัทประกันภัยประเมินสถานการณ์เอาไว้ จนแบกรับความเสี่ยงไม่ไหว และได้ทยอย “เลิกกิจการ” ไปแล้วหลายราย

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมรายชื่อ และไทม์ไลน์การปิดกิจการของบริษัทประกันภัยหลังจัดแพ็กเกจ “เจอ จ่าย จบ” พร้อมสาเหตุการปิดกิจการ

เอเชียประกันภัย

กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน วินาศภัย บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2564

สาเหตุเลิกกิจการ : มีหลักฐานปรากฏว่า บริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคง มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินทำให้ไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้ในระยะเวลาที่กำหนด และไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัยและประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป

ยอดเคลมประกันภัย : นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ก่อนเพิกถอนใบอนุญาต ทาง คปภ. ได้เร่งรัด เอเชียประกันภัย เคลียร์ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยและเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้แก่ผู้เอาประกันภัยได้กว่า 13,000 ราย เป็นเงินกว่า 800 ล้านบาท แต่บริษัทฯ ก็ยังไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะดูแลค่าเคลมที่ทยอยเข้ามาเรื่อย ๆ ได้ จากการเปิดเผยของ

เดอะ วัน ประกันภัย

กระทรวงการคลัง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน วินาศภัย บริษัท เดอะวัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มีผลตั้งแต่เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564

สาเหตุเลิกกิจการ : ผู้บริหารบริษัท ยืนยัน ไม่มีแหล่งเงินทุนมาเสริมสภาพคล่องที่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินหรือการเพิ่มทุนโดยผู้ถือหุ้น มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่าย

ยอดเคลมประกันภัย : ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ระบุข้อมูล ณ วันที่ 2 ธันวาคม 2564 พบว่า เดอะ วัน ประกันภัย มีสินทรัพย์สภาพคล่องที่สามารถนำมาใช้ได้เพียง 162.40 ล้านบาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ค้างจ่ายอยู่จำนวน 2,544.22 ล้านบาท

อาคเนย์ ประกันภัย

บริษัท เครือไทย โฮลดิ้ลส์ จำกัด (TGH) แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและการจัดการเกี่ยวกับภาระและกรมธรรม์ประกันภัยทั้งหมดของ อาคเนย์ประกันภัย เป็นไปตามมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นของอาคเนย์ประกันภัย เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565

สาเหตุเลิกกิจการ : TGH ระบุว่า เป็นการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจและส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนตามมาตรา 57 และ 57/1 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 (รวมทั้งที่การแก้ไขเพิ่มเติม) และผู้ถือหุ้นยัง ไม่เห็นชอบการโอนกิจการของ อาคเนย์ประกันภัย ให้แก่ บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) ด้วยคะแนนเสียงร้อยละ 99.88 โดยไม่มีผู้ใดออกเสียงคัดค้าน

ก่อนเลิกกิจการ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) พิจารณาให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการในเรื่องการดำเนินการคืนเบี้ยประกันให้กับผู้เอาประกันภัยทุกรายที่ยังมีภาระผูกพันตามกรมธรรม์ประกันภัยอีกประมาณ 10,480,957 ราย

ยอดเคลมประกันภัย : รายงานจากธุรกิจประกันภัยเปิดเผยว่า ข้อมูลกรมธรรม์ประกันโควิดล่าสุด จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 พบว่า มีกรมธรรม์ทั้งหมด 41.63 ล้านฉบับ เบี้ยประกันภัยรับรวม 10,930 ล้านบาท มียอดจ่ายค่าสินไหมทดแทน 39,900 ล้านบาท

สินมั่นคงประกันภัย

สำหรับบริษัท สินมั่นคงประกันภัย เป็นรายแรกที่ใช้สิทธิบอกเลิกคุ้มครองกรมธรรม์ประกันโควิด เจอ จ่าย จบ โดยมีสาเหตุหลักมาจากมูลค่ายอดจ่ายเคลมสินไหมในไตรมาส 3 ปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นสูงถึง 6,002.91 ล้านบาท จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

อีกทั้ง บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 3,662.39 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไร 160.21 ล้านบาท คิดเป็นกำไรลดลง 2,386.02% สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 3,845.58 ล้านบาท

แต่ทั้งนี้ คปภ. ก็ได้สั่งยกเลิกเงื่อนไขของสินมั่นคงประกันภัยทั้งหมด เพื่อให้เกิดความคุ้มครองแก่ประชาชนเหมือนเดิม โดยใช้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 มาตรา 29 อนุ 2

ทั้งนี้ การเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย เป็นไปตามมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ระบุว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจสั่งเพิกถอนใบอนุญาตหากมีสาเหตุ 5 ข้อ

1. มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สินหรือมีฐานะการเงินไม่มั่นคงอันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

2. ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฏกระทรวง เงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนด หรือประกาศที่ออกหรือกำหนดตามความในพระราชบัญญัตินี้ หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐมนตรี นายทะเบียนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งการตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในเมื่ออาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน

3. หยุดประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยไม่มีเหตุอันสมควร

4. ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยที่ต้องจ่ายหรือคืนโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือจ่ายหรือคืนไปโดยไม่สุจริต

5. ถ้าประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน