ศักดิ์สยาม ดันแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ฮับ Transshipment

แฟ้มภาพประกอบข่าว

ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดันแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ฮับ Transshipment

วันที่ 27 มกราคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 1/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 เวลา 13.30 น. และวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 14.30 น.

โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นางจันทิรา บุรุษพัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คณะกรรมการ หัวหน้าหน่วยงาน และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ในแผนการดำเนินการศึกษาโครงการนี้จะต้องมีการศึกษาตัวเลขด้านเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ เกณฑ์การพิจารณาความคุ้มค่าในการลงทุนรวมถึงรายละเอียดของค่าก่อสร้างให้มีความชัดเจน เนื่องจากโครงการนี้มีผลต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว

ซึ่งจากการศึกษาเทียบเคียงท่าเรือทั่วโลกที่มีการรองรับปริมาณสินค้าเทียบเท่าท่าเรือแลนด์บริดจ์ในประเทศไทย พบว่าโครงการสามารถสร้างรายได้จากการบริหารท่าเรือ การเติมน้ำมันทางทะเล กิจกรรมการสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์จากการเป็นท่าเรือขนถ่าย หรือ Transshipment

และการประมาณการรายได้รวมของอุตสาหกรรมที่จะพัฒนาในพื้นที่ ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีอนาคต (Mega Trend) อุตสาหกรรมฮาลาล อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น อาหารทะเล ผลไม้ ยางพารา และปาล์มน้ำมันขั้นสูง รวมถึงอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรม Cold Chain การจัดเก็บและกระจายสินค้า เป็นต้น

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยามได้มีข้อสั่งการให้ สนข. พิจารณาการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาโครงการในระยะยาวให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เต็มศักยภาพ โดยอาจจะมองว่าแลนด์บริดจ์ในระยะแรกจะเป็นเส้นทางเลือกในการขนส่งสินค้าทางทะเล แต่เมื่อมีการพัฒนาเต็มศักยภาพแล้วจะเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าในภูมิภาค โดยให้พิจารณาต้นแบบจากท่าเรือในต่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จ

และได้เน้นย้ำให้ สนข. และที่ปรึกษา ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องศึกษาออกแบบการพัฒนาโครงการต้องควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และยังกำชับให้ศึกษามาตรการป้องกันผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ชุมชน และวิถีชีวิตให้รอบด้าน

นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการสร้างความรับรู้ให้กับภาคประชาชนและภาคสังคมเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในการปฏิบัติ รวมถึงให้ดำเนินการในประเด็นที่เกี่ยวข้องด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน โดยเฉพาะด้านกฎหมาย โดยจะต้องประสานข้อมูลไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ร่วมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมให้มีความยั่งยืนต่อไป