ไม่ปลื้ม! กลุ่มนักดำน้ำภูเก็ตโพสต์ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวจีน ดำน้ำ นั่งเหยียบนปะการัง อ่าวบังกะโล

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊กชื่อ “จิตอาสา Go-Eco Phuket” ซึ่งเป็นกลุ่มนักดำน้ำ และนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลของภูเก็ต ได้มีการโพสต์ภาพถ่ายใต้น้ำ ขณะที่นักดำน้ำรายหนึ่ง ซึ่งสวมชุดดำน้ำแบบดำน้ำลึก ลงนั่งเหยียบบนปะการัง และใช้ถังออกซิเจนค้ำยังกับโขดปะการังด้านหลังและยกกล้องถ่ายภาพขึ้นเปิดดูและถ่ายภาพ

โดยโพสต์ดังกล่าวยัง ระบุข้อความว่า “นั่งสบายเลยนะ …เครือข่ายใต้น้ำส่งมาให้เกิดขึ้นเมื่อวาน (10/12/17) เป็นนักท่องเที่ยวจีน ลงไปนั่งบนปะการัง บริเวณอ่าวบังกะโล เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต เครือข่ายที่อดรนทนไม่ได้พยายามประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคม ว่าให้รีบดำเนินการป้องปราม บริษัทนำเที่ยว เรื่องการท่องเที่ยวทางทะเล และการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จนแล้วจนลอด เวทีการพูดคุยก็ยังไม่เกิดขึ้นเสียที เห็นทีต้องพึ่งพา #พวกโลกสวยอย่างเราๆท่านๆ เสียแล้ว…

#ประกาศรับสมัครตำรวจใต้น้ำ คุณสมบัติ 1.เป็นมนุษย์โลก, ทุกเพศทุกวัย, ทุกเชื้อชาติ 2.เป็นนักดำน้ำอาชีพ (ไม่ต้องมีอาชีพดำน้ำก็ได้) 3.มีกล้องถ่ายภาพใต้น้ำคุณภาพสูง 4.ไม่มีอำนาจจับ-ปรับใครได้ (ได้อย่างเดียวคือประจานพวกมัน!!ทางสื่อโซเชียล) 5.ไม่กลัวเกรงผู้มีอิทธิพล!! (ข้อนี้ถ้าจะยาก) ผลตอบแทน 1.ไม่มีประกันชีวิตไม่มีประกันสุขภาพให้ 2.ไม่มีหน่วยงานรัฐมาช่วย!! 3.ไม่มีเงินเดือนให้ 4.ได้ความภาคภูมิใจที่ได้ทดแทนบุญคุณแผ่นดินไทย ที่ให้เรามีที่อยู่ และที่กิน 5.ได้พูดอย่างเต็มปากว่า เราเกิดในสมัยรัชกาลที่ 9 และได้ทำตามคำสอนของพ่อ ที่พ่อฝากให้พวกเราช่วยกันดูแล”

อย่างไรก็ตามหลังมีการโพสต์ภาพดังกล่าวก็มีผู้เข้ามาแสดงความเห็นและแชร์โพสต์ออกไป โดยส่วนใหญ่รู้สึกโมโหกับการกระทำดังกล่าว และเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินคดี ขณะที่บางส่วนเรียกร้องให้หน่วยงานผู้ออกใบอนุญาตเกี่ยวกับการดำน้ำจัดการกับบุคคลและบริษัทที่กระทำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบ ซึ่งเป็นการทุบหม้อข้าวตัวเอง

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยัง นายวิทยา ขุนสัน ผู้อำนวยการส่วนทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ภูเก็ต) หรือ สบทช.9 กล่าวว่า เพิ่งได้เห็นภาพดังกล่าว เบื้องต้นจุดที่นั่งนั้น มีลักษณะเป็นซากปะการังที่ไม่สมบูรณ์ แต่ก็ถือว่าเข้าข่ายความผิดซึ่งจะต้องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบว่าเป็นนักท่องเที่ยวของบริษัทใด รวมถึงตรวจสอบว่าเกิดความเสียหายกับปะการังหรือไม่ มากน้อยเพียงใด หากทราบตัวก็ต้องเชิญมาสอบสวน หากกระทำผิดจริงก็จะต้องดำเนินคดีตามกฏหมาย

นอกจากนี้จะเร่งประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวทางทะเลในจังหวัดภูเก็ต ว่าอย่าได้ให้นักท่องเที่ยวดำเนินกิจกรรมที่เป็นผลกระทบต่อปะการัง รวมถึงจัดประชุมหารือผู้ประกอบการเพื่อจัดระเบียบการท่องเที่ยวเกาะราชา และจะให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราเข้มแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลจุดดำน้ำทางทะเลเพื่อป้องปรามจับกุมผู้กระทำผิดต่อไป

 

ที่มา : มติชนออนไลน์