เด็กติดโควิดสูงขึ้น สธ. ขอเว้นระยะห่างผู้สูงอายุป้องกันป่วยหนัก

เด็ก โควิด

สธ.พบกลุ่มเด็กติดเชื้อโควิดสูงขึ้น จากครอบครัว โรงเรียน และชุมชน ขอเร่งฉีดวัคซีน เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุ ป้องกันติดเชื้ออาการรุนแรง-เสียชีวิตกว่าเด็กถึง 200 เท่า

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงสถานการณ์โควิด-19 และความคืบหน้าการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบกลุ่มเด็ก 0-9 ปี และวัยรุ่น 10-19 ปี มีการติดเชื้อสูงขึ้น

โดยกลุ่มอายุ 0-4 ปี และ 5-9 ปี ส่วนใหญ่ติดเชื้อในครอบครัว กลุ่มอายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี เป็นการติดเชื้อในโรงเรียน ส่วนการสัมผัสผู้ติดเชื้อนอกบ้านและในชุมชน เป็นกลุ่ม 15-19 ปี

หากมีการติดเชื้อในบ้าน โดยเฉพาะเด็กเล็ก ขอให้เว้นระยะห่างจากผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว เพราะอาจติดเชื้อและเกิดอาการรุนแรงได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป จะมีอัตราติดเชื้อเสียชีวิตสูงกว่าเด็กเล็กถึง 200 เท่า จึงต้องรณรงค์ให้มารับวัคซีนทั้งในเด็กและผู้สูงอายุ เพื่อลดความเสี่ยงการติดเชื้อ ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต

ระลอก 5 อายุ 5-11 ปี ติดเชื้อโควิดสูงขึ้น

ด้าน นพ.วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดในระลอกนี้พบผู้ป่วยเด็กกลุ่มอายุ 5-11 ปี สูงขึ้น แม้ส่วนใหญ่จะอาการค่อนข้างน้อย แต่ต้องเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในครอบครัว และไปโรงเรียนได้อย่างปลอดภัย

Advertisment

โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในกลุ่มเด็ก ของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้เชี่ยวชาญทั้งในคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ และคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาผลการขึ้นทะเบียนกับ อย. พิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานข้อมูลวิชาการทั้งมาตรฐานและความปลอดภัย ผลการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประสิทธิผลด้านการป้องกันการติดเชื้อ การป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต

เด็กติดโควิดอาการรุนแรงน้อย แต่กระจายเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่

ก่อนหน้านี้ (10 ม.ค.) นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุว่า

เด็กติดเชื้อโควิค-19 อาการจะน้อยมาก หรือไม่มีอาการเป็นส่วนใหญ่ อันตรายถึงชีวิตยิ่งน้อยมาก ๆ การศึกษาในอเมริกา ในช่วงที่มีการระบาดสูงมากของโอมิครอน เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นก็จริง เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และเด็กจำนวนหนึ่งที่เข้ารับการรักษาด้วยสาเหตุอื่น แต่ตรวจพบโควิด-19 ก็มีมากขึ้น

ปัญหาสำคัญของการติดเชื้อในเด็กที่มีอาการน้อย แต่เด็กจะเป็นผู้กระจายเชื้อหรือแพร่เชื้อได้ดีมาก เด็กป่วยไม่สามารถแยกตัวเองออกไปได้ พ่อแม่ผู้ปกครองจะคอยดูแลอย่างใกล้ชิด และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ติดโรค

Advertisment

หมอยงระบุว่า ถึงแม้ว่าความรุนแรงของโรคในเด็กจะน้อยมาก เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ ความสำคัญในการแพร่กระจายโรคมีมากกว่า วัคซีนที่ใช้ในเด็กที่ต้องการความปลอดภัยต้องมาก่อน และจะต้องมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อมากกว่า ลดความรุนแรงของโรค เพราะถ้าให้วัคซีนแล้วเด็กยังสามารถติดเชื้อ โดยไม่มีอาการ จะไม่เกิดประโยชน์ในการลดการแพร่กระจายโรคได้

อายุต่ำกว่า 18 ปี ฉีดวัคซีนชนิดไหนได้บ้าง

ปัจจุบันมีวัคซีนที่ผ่านการพิจารณาให้ฉีดในกลุ่มอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้แก่ ไฟเซอร์ (ฝาสีส้ม) สำหรับอายุ 5-11 ปี, ไฟเซอร์ (ฝาสีม่วง) สำหรับอายุ 12-17 ปี และ ซิโนแวค/ซิโนฟาร์ม สำหรับอายุ 6-17 ปีขึ้นไป และสูตรไขว้ ซิโนแวคและไฟเซอร์

สำหรับอายุ 12-17 ปี โดยตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม – 8 กุมภาพันธ์ 2565 ฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปี ไปแล้ว 66,165 คน จากทั้งหมด 5.1 ล้านคน ยังไม่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการได้รับวัคซีน