ธันย์ ณิชชารีย์ เหยื่อรถไฟสิงคโปร์: ศักยภาพคนพิการมีมากกว่าสังคมมองเห็น

น้องธันย์
“น้องธันย์” ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์
สัมภาษณ์พิเศษ
พรธิดา เจดีย์พราหมณ์

ใครจะคิดว่า “น้องธันย์” ณิชชารีย์ เป็นเอกชนะศักดิ์ สาวน้อยที่พบกับจุดพลิกผันของชีวิต หลังตกรางรถไฟที่สิงคโปร์ เมื่อ 14 ปีก่อน จนทำให้เธอต้องสูญเสียขาสองข้างไปตลอดกาล ยังสามารถใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติด้วยรอยยิ้ม ไปพร้อมกับขาเทียมคู่ใจ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “ธันย์ ณิชชารีย์” หรือที่ทุกคนต่างให้สมญานามเธอว่า “น้องธันย์ สาวน้อยคิดบวก” ถึงมุมมอง การปรับตัวในการใช้ชีวิต ในช่วงที่ต้องพบเจอวิกฤต และหลังจากผ่านมันมาได้ ในแบบที่ร่างกายไม่ครบ 32 ประการ

Q : จุดหล่อหลอมที่ทำให้เป็นคนมองโลกในแง่บวก หลังเกิดวิกฤตในชีวิต

จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา ก็ทำให้ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต และก็เข้าใจตนเองมากขึ้น เหมือนทำให้เรามีมุมมองที่เปลี่ยนไป จากอุบัติเหตุที่เจอ จากประสบการณ์ที่ได้รับมา มันเลยทำให้เราโตมากขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และก็มองชีวิต มองปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่ง จากที่เรามองว่า ทุกอย่างมันเป็นปัญหาที่ใหญ่ มันก็สอนให้ตัวเรารู้ว่า ทุกอย่างมันสามารถแก้ไขได้นะ มันสามารถเดินหน้าต่อไปได้

Q : หากตอนนี้ยังไม่สามารถมูฟออนจากเหตุการณ์นั้นได้ คิดว่าจะเป็นอย่างไร

ย้อนไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ถ้าตอนนั้นเราก้าวข้ามมาไม่ได้ เราก็คงเป็นคนพิการคนหนึ่งที่อาจจะอยู่ที่บ้าน มีครอบครัวดูแล แต่ก็คงยังไม่สามารถไปทำสิ่งที่เราฝันได้ หรือทำกิจกรรมที่เพื่อน ๆ ในวัยเดียวกันทำได้ ก็เลยมองว่า ในตอนนั้นถ้าเราคิดอีกแบบหนึ่ง ชีวิตเราก็อาจจะแตกต่างจากตอนนี้ก็ได้

Advertisment

Q : สิ่งที่สูญเสียไป เมื่อมองย้อนกลับมา ได้อะไรกลับมา

แม้ว่าจะสูญเสียขาทั้งสองข้างไป แต่สิ่งที่ได้กลับมา คือ ได้มุมมองใหม่ ๆ ที่ เติบโตขึ้น ได้เรียนรู้ชีวิตในอีกสังคมหนึ่งดีกว่า เป็นสังคมที่เพิ่มเติมมาจากสังคมเดิม จากที่เราอาจจะเคยอยู่กับสังคมทั่วไปหรือคนปกติ มันกลายเป็นเราได้ใกล้ชิดได้รู้จักเพื่อนที่มีสภาพความพิการที่แตกต่างกัน จากสังคมในความหลากหลายมากขึ้น เราเลยมองว่า มันเป็นความโชคดีนะ ที่ได้รับกลับมา หลังจากที่เราได้เกิดอุบัติเหตุ

Q : ตอนนี้การใช้ชีวิตถือว่า 100% หรือไม่ เทียบกับความปกติ

จริง ๆ เรื่องของการใช้ชีวิต ค่อนข้างที่จะเกินร้อยเปอร์เซ็นต์กว่าเดิมอีก จากเมื่อก่อนที่แค่ไปทำงาน ช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ว่าในปัจจุบันแม้ว่าเราพิการ และเราใส่ขาเทียม เราใช้ชีวิตได้สุดกว่าเมื่อก่อนเยอะ เช่น เราก็ยังช่วยเหลือตัวเองได้ ทำงานได้ ทำในสิ่งที่เราอยากทำได้ รวมถึงไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่คนคิดว่าเราไม่น่าจะทำได้แล้ว เราก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติ และก็ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำด้วย

Q : มีคนสบประมาท ความพิการบ้างหรือเปล่า

ช่วงที่เกิดอุบัติเหตใหม่ ๆ เราก็เจอทั้งคนที่อาจจะใช้คำพูด หรืออาจจะมองเราว่า ไม่น่าทำได้หรอก ก็เจอมาเยอะเหมือนกัน แต่เราไม่สามารถไปตัดสินคำพูด สายตา การกระทำของเขาได้ การกระทำจากตัวเราเองมันสำคัญกว่าคำพูด ที่เราจะไปบอกเขาว่า ให้หยุดบูลลี่เรา หยุดว่าเรา หรือว่า หยุดสบประมาทเรา

เราเชื่อว่า อยู่ที่การกระทำของเรามากกว่า ถ้าทำให้เขาเห็นว่า ศักยภาพเรามี เราสามารถดำรงชีวิตประจำวันได้ เราแทบจะไม่ต้องไปแก้ไขคำพูดเหล่านั้นเลย เพราะสุดท้ายเขาก็จะเห็นเราสามารถใช้ชีวิตด้วยตัวของเราเองได้นะ มันไม่ได้แย่ อย่างที่ใคร หลาย ๆ คนคิด

Advertisment

Q : เลือกเรียนด้านจิตวิทยา เพราะมีคนชอบถามว่า ทำไมถึงเป็นคนคิดบวก

มีคนหลายคน ที่ถามว่า ทำไมเราคิดบวก หรือสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นได้ เลยตัดสินใจ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์ ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เลยมาเรียนต่อที่คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Q : ได้คำตอบเลยคือ มันอยู่ที่การปรับตัวของเรา การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อม 

ธันย์ มองว่า จริง ๆ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนนั้นว่า เป็นคนคิดลบ แล้วจะคิดบวกไม่ได้ แต่มันอยู่ที่สภาพแวดล้อม มันอยู่ที่สังคมมากกว่า

ถ้าสมุมติว่า สังคมช่วยหรือว่าซัพพอร์ตบุคคลที่เขากำลังเจอปัญหาในชีวิต โรคซึมเศร้าจะไม่เกิดขึ้น ปัญหาอื่น ๆ ที่มันอาจเกิดความรุนแรงมันก็อาจจะลดน้อยลงได้

นั่นก็เป็นสิ่งที่เรียนมา แล้วได้ตอบตัวเองเหมือนกันว่า การที่เราก้าวข้ามมันมาได้ นอกจากตัวเราแล้ว ก็มีสภาพแวดล้อม และสภาพสังคมที่ช่วยซัพพอร์ตให้เราสามารถที่จะกลับออกมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม

Q : ชอบออกกำลังกาย มันทำลายข้อจำกัดของตัวเองอย่างไร

กิจกรรมต่าง ๆ มันทำลายทั้งข้อจำกัดของตนเอง และก็ของสังคมเลย สังคมจะชอบมองว่า คนพิการต้องทำอาชีพนั้น อาชีพนี้ คนพิการต้องอยู่ที่นี่ ไปเที่ยวนั่นเที่ยวนี่ไม่ได้หรอก แต่ธันย์กลับมองว่า ตัวของคนพิการเอง เขามีศักยภาพมากกว่านั้น ใครจะไปรู้ว่าการที่เขาได้มีโอกาสช่วยเหลือตัวเอง เดินไปซื้อของหน้าปากซอย มันคือศักยภาพของเขาแล้ว

เพราะเขาอาจมองแค่ว่า ศักยภาพคือ การศึกษา เรียนจบสูง ๆ มีงานทำดี ๆ มีเงินเยอะ ๆ อันนี้คือศักยภาพของคน แต่สำหรับคนพิการ เขาไม่ได้มองศักยภาพที่วัตถุภายนอกแบบนั้น เขามองแค่ว่า เขาทำความสะอาดบ้านเองได้นะ เขาออกไปซื้อของเองได้ เขาหาเงินมาให้คนอื่นได้นะ โดยที่คนอื่นไม่ต้องเลี้ยง เขาไม่ต้องแบมือขอ

ธันย์มองว่า ศักยภาพที่สังคมมอง กับคนพิการมอง มันต่างกันอยู่ สังคมมองว่า ต้องให้ความช่วยเหลือคนพิการอย่างเดียว ในขณะที่ไม่มีใครมองเลยว่า เขาจะเปิดโอกาสให้คนพิการได้โชว์ศักยภาพอย่างไรได้บ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นประเด็นสังคมที่ในฐานะที่ธันย์เป็นคนพิการคนหนึ่ง ที่พยายามจะแสดงศักยภาพว่า จริง ๆ แล้วคนพิการเขามีศักยภาพอะไรมากกว่า ไม่ใช่การที่ต้องรอให้ใครมาช่วยเหลือ หรือซัพพอร์ตตรงไหน

Q : อยากให้สังคมปฏิบัติกับผู้พิการยังไง

สังคมควรเข้าใจว่า คนพิการมีศักยภาพ มีความสามารถ สังคมอาจจะแค่สร้างโอกาสให้กับเขา เหมือนกับทำให้เขาได้โชว์ศักยภาพของตนเอง เพราะในปัจจุบัน มีคนพิการหลายคน ที่มีศักยภาพ แต่ยังขาดโอกาส การให้ความสำคัญหรือการผลักดันส่วนนี้ เหมือนเป็นการให้โอกาสมากกว่าการหยิบยื่นเงินทองให้เขา เราควรจะสร้างอะไรที่มีความยั่งยืนให้กับเขามากกว่า แล้วเขาก็จะได้ต่อยอด

ในฐานะที่ธันย์เป็นคนพิการคนนึง ธันย์ไม่เคยรอให้โอกาสมาแล้วก็รับโอกาสอยู่คนเดียว แล้วก็หายไป เมื่อธันย์ได้รับโอกาสมาแล้ว ธันย์จะต่อยอดให้กับคนอื่นอย่างไรได้บ้าง ธันย์อยากเป็นคนพิการที่ให้โอกาสคนอื่น ไม่ใช่เป็นคนพิการที่รอรับของจากคนอื่น แล้วก็หยุดอยู่กับที่ แล้วตัวเองก็ได้ แล้วทุกอย่างก็จบ

Q : มีใครเป็นไอดอล

ธันย์มีไอดอลหลายคนเลยค่ะ เป็นคนพิการที่หลาย ๆ คนอาจจะรู้จัก อย่างเช่น คุณแธมมี่ ดักเวิร์ธ หรืออาจจะเป็นคนพิการอื่น ๆ ในสังคมไทย ธันย์มองว่า เขาเป็นคนพิการที่ได้ต่อยอดให้กับคนอื่น หมายถึงว่า ให้คนพิการอื่น ๆ ได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วคนพิการ สามารถเป็นผู้นำได้นะ สามารถแสดงศักภาพของตนเอง

จุดนั้นเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราได้ ว่า จริง ๆ แล้วคนพิการไม่จำเป็นต้องขายลอตเตอรี่เสมอไป ไม่จำเป็นต้องทำอาชีพที่นั่งอยู่แค่ออฟฟิศ คนพิการเป็นยูทูบเบอร์ได้ คนพิการสามารถที่จะทำอาชีพที่ตนเองอยากจะทำได้ อยากเป็นผู้นำ อยากเป็นนักสื่อสาร อยากเป็นคนที่สร้างนโยบาย ประเด็นทางสังคม

ในฐานะที่เราเป็นคนพิการคนหนึ่ง เราจะไม่ปิดกั้นตนเอง แค่บรรทัดฐานทางสังคมที่เขากำหนดไว้ให้ เราสามารถแสดงศักยภาพของตนเองในการทำสิ่งต่าง ๆ ที่เราอยากจะทำได้ มันเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่า เราจะสูญเสียขาไปแล้ว เราก็มีศักยภาพอย่างอื่นมาทดแทน

Q : อยากให้กำลังใจทุกคน ในช่วงวิกฤตโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ไม่ดีอย่างไร

ในช่วงวิกฤตต่าง ๆ ธันย์มองว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งไม่คาดคิดด้วยซ้ำ และบางคนก็ไม่ได้เตรียมการรับมือไว้ อย่างตัวของธันย์เอง ก็เคยเป็นคนสูญเสียแบบไม่ได้ตั้งตัวเลย เป็นสิ่งที่เราไม่คิดเลยว่า มันจะเกิดขึ้นตอนเราอายุแค่ 14 ปี ทั้ง ๆ ที่เราก็มีการเตรียมความพร้อมในชีวิต เยอะแยะมากมาย

แต่สุดท้าย ทุกอย่างมันเป็นปัจจัยภายนอก ที่ถามว่า มันหายไปพร้อมกับสิ่งที่เราสูญเสียไปเลยหรือไม่ ธันย์ตอบเลยว่า ไม่ มันอาจจะหายไปเฉพาะช่วงเวลาที่เราเป็นทุกข์อยู่ หรือว่าทำใจอยู่ แต่สุดท้ายเราก็สามารถเอากลับคืนมาได้ ไม่ว่าจะเป็นเงินทองสร้างใหม่ได้ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เราสูญเสียไปแล้ว มันอาจจะไม่เหมือนเดิม100 เปอร์เซ็นต์หรอก แต่ว่าสิ่งที่มันได้กลับมา มันอาจจะสร้างคุณค่าได้มากกว่านั้น

ตัวอย่างที่ธันย์สูญเสียขาไป มันไม่สามารถรออีก 10 ปี แล้วจะได้ขามาใหม่ได้ หรือว่า กลับมาเดินได้เหมือนเดิม ซึ่งมันไม่มีทางเป็นเหมือนเดิมได้ แต่สิ่งที่ธันย์มอง คือ เราสามารถมองหาสิ่งอื่นที่ทดแทนในอนาคตได้ ดีกว่าการนั่งรออยู่เฉย ๆ เป็นทุกข์อยู่กับสิ่งนั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่า อีก 5 ปี 10 ปี จะกลับมาเดินได้อีกหรือไม่ หรืออาจจะนั่งวิวแชร์ไปตลอดชีวิตเลยก็ได้

สิ่งที่สูญเสียไป เราแค่รอเวลาในการกลับคืนมา ในการกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม กลับมาเข้าสู่สังคม กลับมามีสิ่งต่าง ๆ แต่แค่อาจจะต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นฟูกลับมาแค่นั้นเอง เพราะธันย์มองว่า ไม่ว่าจะอยู่ในวิกฤตอะไร มันแค่ต้องใช้เวลาในการทำใจและก็เรียนรู้กับมัน แต่สุดท้ายแล้ว พอเรามีความพร้อม เราก็สามารถสร้างทุกอย่าง กลับมาได้ แม้มันจะไม่เหมือนเดิม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ธันย์ว่ามันดีกว่าเดิม