กรมทางหลวงชนบท ปรับโฉมท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเล จ.สงขลา

กรมทางหลวงชนบท เริ่มก่อสร้างถนนสาย สข.4009 กว่า 10 กิโลเมตร ถือเป็นเส้นทางรองรับโครงการสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา คาดแล้วเสร็จกลางปี 2566

วันที่ 8 มีนาคม 2565 กรมทางหลวงชนบท (ทช.) เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย สข.4009 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4083-บ้านกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ระยะทาง 10.310 กิโลเมตร พัฒนาเส้นทางส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่นริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา เชื่อมต่อเส้นทางในโครงข่ายสนับสนุนโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลาในอนาคต

ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมแบบบูรณาการ เพื่อยกระดับมาตรฐานความสะดวกและปลอดภัย รองรับปริมาณการขนส่งและการเดินทางในอนาคต

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท เปิดเผยว่า ทช.ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการพัฒนาทางหลวงชนบทสนับสนุนแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเลียบชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกของอ่าวไทย (Thailand Riviera) เพื่อส่งเสริมศักยภาพด้านการท่องเที่ยวในภาพรวมของประเทศ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่จังหวัดสมุทรปราการไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส

ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาเส้นทางในโครงข่ายตามแผนดังกล่าวมีความต่อเนื่อง สามารถรองรับปริมาณการขนส่งและการเดินทางที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ตลอดจนช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่นบริเวณพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ทช.จึงได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบท สาย สข.4009 แยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4083-บ้านกระแสสินธุ์ อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา

โดยมีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณ กม.ที่ 0+000 เลียบตามแนวชายฝั่งทิศตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลสาบสงขลา ไปสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.ที่ 10+655 รวมระยะทาง 10.310 กิโลเมตร ซึ่งก่อสร้างเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีตขนาด 2 ช่องจราจร ความกว้าง 7 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 1-2.50 เมตร พร้อมขยายความกว้างของสะพาน จำนวน 2 แห่ง ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงสว่างในบริเวณชุมชนและดำเนินงานด้านความปลอดภัยตลอดเส้นทาง

โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 124 ล้านบาท และปัจจุบันอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการก่อสร้างซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2566