ศักดิ์สยาม หารือทูตเวียดนาม เปิดเดินเรือเชื่อม 3 ประเทศ

ศักดิ์สยาม ถกทูตเวียดนาม เปิดเดินเรือเชื่อม 3 ประเทศ ไทย เวียดนาม กัมพูชา พร้อมพัฒนาคมนาคมทางบก-ราง-อากาศ หนุนเศรษฐกิจอาเซียน

วันที่ 16 มีนาคม 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้ นายฟาน จี๊ ทัญ (Mr.Phan Chi Thanh) เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย และคณะเข้าพบ

โดยหารือประเด็นเกี่ยวกับการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม และการขอเพิ่มจำนวนเครื่องบิน (Fleet Application) ของสายการบินเวียตเจ็ท แอร์ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า แม้ประเทศไทยกับเวียดนามจะไม่มีชายแดนติดกัน แต่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในด้านการลงทุน และการคมนาคม ผ่านการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

ดังนั้น ความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งระหว่างไทยกับเวียดนามจึงเป็นประเด็นที่มีความสำคัญ

ที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีภารกิจหลักด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและให้บริการคมนาคมขนส่งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อเศรษฐกิจไทย

โดยวันนี้ (16 มี.ค.) ไทยและเวียดนามได้หารือประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือด้านการคมนาคมขนส่ง ดังนี้

1.การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางบก

ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางถนนเพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ทั้งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม

โดยปัจจุบันมีโครงการการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนนครพนม

ควบคู่กับการพัฒนาปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อให้สอดคล้องกับกรอบความตกลงด้านการคมนาคมของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS และภูมิภาค ASEAN

โดยกระทรวงคมนาคมมีความเห็นว่าการผลักดันพัฒนาพิธีการศุลกากรให้เป็นมาตรฐานเดียวเพื่ออำนวยความสะดวกการขนส่งทางบกของรัฐบาลทั้ง 3 ฝ่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยพัฒนาการขนส่งทางบกให้มีความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

2.การส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่ง (Coastal Shipping) ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

ทั้งนี้ ทางการเวียดนามได้ประสงค์ให้มีการขยายเส้นทางการเดินเรือจากเกาะฟูก๊วก (เวียดนาม) มาถึงกรุงเทพมหานคร ซึ่งการส่งเสริมการเดินเรือชายฝั่งดังกล่าว เป็นความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรีไทยและเวียดนาม ตั้งแต่ปี 2557

ต่อมาไทย กัมพูชา และเวียดนาม ได้จัดตั้งคณะทำงานร่วมสามฝ่าย เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการเดินเรือชายฝั่ง และได้มีการประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่ายไปแล้ว 4 ครั้ง

โดยที่ประชุมได้กำหนดเส้นทางการขนส่งและการท่องเที่ยวเบื้องต้นในเส้นทางที่มีความเป็นไปได้ คือ เส้นทางคลองใหญ่ (ไทย) – สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) – กัมปอต (กัมพูชา) – ฮาเตียน (เวียดนาม) – ฟูก๊วก (เวียดนาม)

ทั้งนี้ ระยะแรกการเดินเรือขนส่งชายฝั่งจะเข้าเทียบท่าเฉพาะท่าเรือขนาดกลางและขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ระหว่างภาคตะวันออกของไทย ภาคใต้ของกัมพูชา และภาคใต้ของเวียดนาม

เพื่อเปิดโอกาสให้เรือขนาดเล็กสามารถขยายเส้นทางการค้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยพัฒนามิติการลงทุนของทั้ง 3 ประเทศ ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

โดยทางฝ่ายไทยมีความพร้อมที่จะร่วมประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่าย ครั้งที่ 5 ผ่านทางระบบการประชุมทางไกล เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาเส้นทางการเดินเรืออย่างเป็นรูปธรรม

3.ความร่วมมือด้านการบิน ไทยและเวียดนามเป็นประเทศสมาชิกตามความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยบริการเดินอากาศ และความตกลงพหุภาคีอาเซียนว่าด้วยการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ของบริการขนส่งผู้โดยสารทางอากาศ

ซึ่งกำหนดให้สายการบินที่ได้รับการจัดสรรสิทธิการบินและได้รับการแต่งตั้งเป็นสายการบินที่กำหนดของไทยภายใต้ความตกลงดังกล่าวแล้ว สามารถทำการบินตามสิทธิรับขนการจราจรเสรีภาพที่ 3, 4 และ 5 อย่างไม่จำกัด

โดยสายการบินเวียตเจ็ท แอร์ ได้เสนอขอเพิ่มจำนวนเครื่องบินที่จะทำการบินมายังประเทศไทย เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น

และขณะนี้ กพท. อยู่ระหว่างการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการออกใบอนุญาตประกอบกิจการการบินพลเรือนและเมื่อเรื่องดังกล่าวได้รับการอนุมัติจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนของภาคธุรกิจเวียดนามในประเทศไทย

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองกับระบบราง (MR-Map) เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมา สปป.ลาว กัมพูชา และมาเลเซีย

ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรและการคมนาคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการเจริญเติบโตของภูมิภาคอย่างเป็นระบบ

รวมถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทยหรือแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) ซึ่งเป็นโครงการที่สอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน ครอบคลุม 4 จังหวัดภาคใต้ตอนบน (ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช)

ซึ่งจะนำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งและการคมนาคมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านและระหว่างภูมิภาคอย่างครบถ้วน เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างภูมิภาคอย่างยั่งยืนต่อไป