ชัชชาติ 200 นโยบาย โอนบีทีเอสให้คมนาคม-คนกรุงทำงบเอง 5%

คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : เมตตา ทับทิม

โหมโรงกันอย่างกึกก้อง ศึกเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) คนใหม่ โดยมีกำหนดกาบัตรลงคะแนนเสียง 22 พฤษภาคม 2565

เต็ง 1 ของทุกโพลเป็นผู้สมัครเบอร์ 8 “ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” จัดเต็มด้วยนโยบายหาเสียง 200 นโยบาย

ฟ้องได้-จับผิดได้-มีส่วนร่วมได้

ในอนาคตหากได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม.ขึ้นมาจริง ๆ สามารถขยับปรับเปลี่ยนได้ โดยการมีส่วนร่วมของคนกรุงที่มีสำมะโนประชากร 5 ล้านกว่าคน ผ่านช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ประมาณว่า “ฟ้องได้-จับผิดได้-มีส่วนร่วมได้”

“วันแรก (ถ้าชนะเลือกตั้ง) ทุกนโยบายต้องเดินหน้าทันที กทม.มี 50 เขต 14 สำนัก ลูกจ้าง 80,000 คน 10-20 นโยบายน้อยไปสำหรับความสามารถของข้าราชการ กทม. ผมเชื่อว่า 300 นโยบาย เขาก็รับได้…”

ธีมนโยบายหาเสียงคือ “กรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” ภายใต้เครือข่ายกลุ่มเพื่อนชัชชาติ 9,500 คน อาสาชุมชน 1,800 คน อาสาเมือง 2,000 คน ผู้เชี่ยวชาญ 100 คน และ 300 สภากาแฟ

โฟกัสประเด็นไฮไลต์จากเวทีเปิดตัวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ พิพิธภัณฑ์กรุงเทพ “ชัชชาติ” พูดถึงหนังตัวอย่างจาก 200 นโยบาย แบ่งเป็น 14 ประเด็นด้วยกัน (ดูตัวอย่างจากกราฟิกประกอบ)

พลังออนไลน์-ดึงการมีส่วนร่วม

โลโก้ประจำตัวชัชชาติคือบุรุษผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีบนโลกออนไลน์ มี FC คนรุ่นใหม่พร้อมโหวตทุกเมื่อ นโยบายหาเสียงจึงหนีไม่พ้นแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่กลุ่มเพื่อนชัชชาติทำแอป Traffy Fondue สำหรับให้ประชาชนแสดงข้อคิดเห็น ชอบ-ไม่ชอบ เอา-ไม่เอานโยบายใดบ้าง

ยังมีแอป BKK Risk Map แผนที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย ซึ่งไดนามิกตลอดเวลา เพราะเมืองใหญ่ ปัญหาย่อมไม่อาจเล็กน้อย จุดเสี่ยงวันนี้เมื่อได้รับการแก้ไขจะไม่ใช่จุดเสี่ยง จุดไม่เคยเสี่ยงอาจกลายเป็นจุดเสี่ยงใหม่ ทั้งหมดนี้ดีไซน์ความสำเร็จของนโยบายจากพลังการมีส่วนร่วมประชาชนผ่านพลังเทคโนโลยี

นโยบาย

อาสา “ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลง”

สำหรับคนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง อาจชอบนโยบายเปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. ที่เสาชิงช้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์เมือง แล้วย้ายออฟฟิศผู้ว่าฯ กทม.ไปปักหลักที่ กทม. 2 ดินแดงแทน ควบคู่ขยายผลทำพิพิธภัณฑ์ให้ครบทั้ง 50 เขตปกครองที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับการทำ 50 ย่านท่องเที่ยวใน 50 เขต เพื่อสร้างเศรษฐกิจปากท้องให้คนพื้นที่

สำหรับคนที่กระหายการเปลี่ยนแปลง อาจชอบนโยบายการจัดทำงบประมาณ กทม. ซึ่งปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 79,855 ล้านบาท ส่วนปีงบประมาณ 2566 จำนวนน่าจะใกล้เคียงกันโดยบวกลบไม่มาก นโยบายคือดึงคนกรุงมีส่วนร่วมในการเสนอใช้งบประมาณด้วยตัวเอง เบื้องต้นสัดส่วน 5% หรือวงเงิน 4,000 ล้านบาทบวกลบ

และอาจชอบนโยบาย Tracking System ระบบดิจิทัลสำหรับเป็นคู่มือผู้ประกอบการ-ประชาชนใช้ติดตามการขออนุญาตต่าง ๆ เพื่อดักปัญหาความโปร่งใส การเรียกรับส่วยภาครัฐ

และอาจชอบนโยบายถอดบทเรียนโควิด ด้วยแนวทางจัดทำระบบ Single Command

และอาจชอบนโยบายสภาคนรุ่นใหม่ เป็นสภาหลวม ๆ ที่มีตัวแทนคนรุ่นใหม่ ภาคประชาชนในสังคม ได้มีเวทีประชุมพบหน้า ผู้ว่าฯ กทม. อย่างน้อยเดือนละครั้ง

สารพัดทางเท้า-ต้นไม้-น้ำท่วม

สำหรับคนที่คาดหวังจากการเปลี่ยนแปลง อาจชอบนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น ภายในเวลาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. 4 ปี มีการคำนวณย่อยละเอียด 50 เขต เฉลี่ยปีละ 2.5 แสนต้น เฉลี่ยเขตละ 5,000 ต้น/ปี และเฉลี่ยสัปดาห์ละ 100 ต้น/เขตเท่านั้น

และอาจชอบนโยบายปรับปรุงทางเท้า (ฟุตปาท) ระยะทาง 1,000 กม. แบ่งงาน 50 เขต งานเบาลงทันตาเห็นเหลือเพียงเฉลี่ยเขตละ 20 กม.

และอาจชอบนโยบายแก้ปัญหาน้ำท่วม ด้วยการลอกท่อปีละ 3,000 กม. มาจากบิ๊กดาต้าเมืองกรุงเทพฯ มีถนนและท่อระบายน้ำ 6,000 กม. ที่ผ่านมามีการขุดลอกท่อเฉลี่ยเพียงปีละ 400 กม. จึงฟันธงว่าเป็นปัญหาหลักที่ทำให้น้ำท่วมขังเจอท่ออุดตัน ไม่สามารถเดินทางมาถึงอุโมงค์ยักษ์ที่ลงทุนรวม 5 หมื่นล้านบาทได้

โอนสายสีเขียว-โฟกัสฟีดเดอร์

ยังมีนโยบายที่ทำแล้วนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชนิดปฏิวัติ กทม.ไปเลยก็ได้ นั่นคือนโยบายโอนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้า BTS ให้กับกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับไปดูแลบริหารจัดการ โดยมีเงื่อนไขกระทรวงคมนาคมจะต้องทำยังไงก็ได้ให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่า 30 บาท/การเดินทาง 8 สถานี

เหตุผลเพราะสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอสเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ปัญหาของ กทม.ที่สะสมจนถึงปัจจุบัน มุมมอง “ชัชชาติ” ฟันธงว่า มาจากปัญหาพื้นฐานรอบตัว ซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดฝอย ภารกิจ 4 ปีบนเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. จึงต้องการแก้ปัญหาที่เส้นเลือดฝอยในทุกด้าน

กรณีโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทาง ถ้ามีการโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียวพ้นอกไปจริง ๆ ในอนาคต กทม.จะเปลี่ยนแปลงบทบาท หันมาเอาจริงเอาจังกับการทำระบบฟีดเดอร์ หรือระบบการเดินทางเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้า ทั้งรถเมล์-วินมอเตอร์ไซค์-เรือโดยสาร

“ปัญหากรุงเทพฯอยู่ที่ระบบเส้นเลือดฝอยเยอะ กรุงเทพฯเหมือนร่างกายคน มี 2 ระบบ 1.เส้นเลือดใหญ่คือเมกะโปรเจ็กต์ กับ 2.เส้นเลือดฝอยที่อยู่หน้าบ้านเรา รอบตัวเรา ที่ผ่านมาเราลงทุนเส้นเลือดใหญ่เยอะ แต่ละเลยเส้นเลือดฝอย ทำให้มีปัญหาการเดินทาง-ขยะ-น้ำเสีย เหมือนโซ่แข็งแรงเท่ากับจุดที่อ่อนแอที่สุด”

นำมาสู่แก่นของ 200 นโยบายที่ว่า ถ้าเส้นเลือดฝอยอ่อนแอ กรุงเทพฯไม่มีทางแข็งแรงได้ จึงต้อง “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” เพื่อดูแลเส้นเลือดฝอยให้กลับมาแข็งแรง และทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน