ศบค.เผยลงทะเบียนเข้าไทยจ่อ 4 แสนคน นครสวรรค์ ครองเตียงพุ่ง 60%

นักท่องเที่ยว สนามบิน
FILE PHOTO : Mladen ANTONOV / AFP

ศบค.เผย 14 วันหลังผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ มีนักท่องเที่ยวลงทะเบียนมาไทยเกือบ 4 แสนราย อนุมัติแล้วเกือบ 3.8 แสนราย ไม่ผ่านการอนุมัติแค่ 7.4 พันคน ขณะที่ยอดป่วยใหม่ ป่วยหนัก เสียชีวิตทิศทางยังลดลงต่อเนื่อง ส่วนผู้เสียชีวิต 53 ราย วันนี้ยังอยู่ในกลุ่ม 608 และไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสทั้ง 53 คน เผยอัตราครองเตียง “นครสวรรค์” เร่งตัวเกิน 60% แตะสีเหลืองแล้ว  

วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) รายงานสถานการณ์ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 7,779 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,137,581 ราย หายป่วยแล้ว 2,087,291 ราย และเสียชีวิตสะสม 7,669 ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 56 คน

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,361,016 ราย หายป่วยแล้ว 4,255,785 ราย และเสียชีวิตสะสม 29,367 ราย

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

ยอดผู้ป่วยใหม่ ป่วยหนัก เสียชีวิต ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

Advertisment

กลุ่ม 608 ไม่ได้ฉีดบูสเตอร์โดส เสียชีวิตทั้ง 53 คน

ขณะที่สถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และผู้ป่วยเสียชีวิต ทิศทางยังคงลดลง สำหรับผู้เสียชีวิต 56 รายวันนี้อยู่ในกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง 53 ราย และยังไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสทั้ง 53 ราย โดยปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคมะเร็ง โรคไต อ้วน หลอดเลือดสมอง หัวใจและติดเตียง

วานนี้( 12 พ.ค. 2565) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ตั้งข้อสังเกตถึงพื้นที่ที่มีผู้สูงอายุเสียชีวิตเพิ่มว่า จะต้องมีการณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น

ผู้เสียชีวิตจากโควิด แยกตามพื้นที่ ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

และเมื่อแยกตามพื้นที่ พบว่าผู้เสียชีวิตอยู่ในภาคกลางและภาคตะวันออกมากที่สุดรวม 16 ราย มีจังหวัดสุพรรณบุรีเสียชีวิตมากที่สุด 4 ราย รองลงมาเป็นภาคอีสานรวม 15 ราย โดยมีจังหวัดศรีสะเกษเสียชีวิตมากที่สุด 4 ราย

Advertisment

ภาคเหนือรวม 14 ราย มีจังหวัดเชียงใหม่เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย จังหวัดปริมณฑล ได้แก่สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี เสียชีวิตรวม 6 ราย ภาคใต้มีที่นครศรีธรรมราชจังหวัดเดียว 3 ราย และกรุงเทพมหานครวันนี้มีผู้เสียชีวิตน้อยที่สุด 2 ราย

อัตราการครองเตียงระดับ2-3 ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

“นครสวรรค์” อัตราครองเตียงพุ่งเกิน 60%

ส่วนอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 ในผู้ป่วยปอดอักเสบ 10 อันดับแรก ภาพรวมอยู่ที่ 17.1% โดยจังหวัดที่มีอัตราการครองเตียงสูงสุดได้แก่ นครสวรรค์ 60.30% จากจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 37 ราย รองลงมาเป็นอุดรธานี 31.50% จากผู้ป่วยปอดอักเสบ 46 ราย อุบลราชธานี 30.10% จากผู้ป่วยปอดอักเสบ 58 ราย ส่วนจังหวัดที่เหลืออยู่ในระดับไม่สูงมากเฉลี่ย 14-22%

10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยโควิดมากที่สุด ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากสุด อันดับ1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร จำนวน 2,643 ราย รวมสะสม 323,943 ราย รองลงมาเป็นขอนแก่น 292 ราย สุรินทร์ 280 ราย ชลบุรี 235 ราย บุรีรัมย์ 219 ราย ร้อยเอ็ด 216 ราย อุบลราชธานี 206 ราย สมุทรปราการ 195 ราย นนทบุรี 150 ราย และฉะเชิงเทรา 138 ราย

ยอดฉีดวัคซีนสะสม ณ วันที่ 13 พ.ค.2565

สำหรับผู้มารับวัคซีน ณวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 23,082 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 63,583 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 98,658 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 12 พฤษภาคม 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 135,291,382 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 56,480,739 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 51,845,234 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 26,965,409 ราย

ลงทะเบียนเข้าไทยผ่าน Thailand Pass ขยับใกล้ 4 แสนราย

ส่วนจำนวนผู้ลงทะเบียนการเดินทางเข้าราชอาณาจักรผ่าน Thailand Pass ระหว่างวันที่ 29 เมษายน – 12 พฤษภาคม 2565 รวม 14 วัน มีผู้ลงทะเบียนเดินทางเข้ามาแล้วจำนวน 391,656 คน อนุมัติแล้ว 377,823 คน ไม่ผ่านการอนุมัติ 7,406 คน และรอการพิจารณาโดยผู้ตรวจ 6,427 คน

ตัวเลขผู้ลงทะเบียนเดินทางเข้าไทย 29 เมษายน-12 พฤาภาคม 2565

วานนี้ (12 พ.ค. 2565) แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. เปิดเผยว่า หลังผ่อนคลายมาตรการเปิดประเทศ ไม่ต้องตรวจ PCR ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีการเดินทางเพิ่มขึ้นชัดเจน และจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคมมีผู้เดินทางเข้าประเทศเฉพาะผ่านทางอากาศ (เครื่องบิน) 181,804 ราย หรือเฉลี่ยประมาณ 15,000 ราย/วัน

“การที่มีคนเดินทางเข้ามามากขึ้น ไทยแลนด์พาสอาจมีข้อจำกัด มีประเด็นที่อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยน ซึ่งศบค.ชุดเล็กมีการหารือกัน มีการรับฟังทุกปัญหา ทุกความเห็น และจะมีการปรึกษาหารือกันอย่างเรงด่วนในสัปดาห์นี้ เพื่อให้ทันต่อการเสนอต่อศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 พฤษภาคม” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

อันดับผู้ติดเชื้อโควิดของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลก

ส่วนสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 519,737,077 ราย อาการรุนแรง 39,185 ราย รักษาหายแล้ว 474,518,239 ราย เสียชีวิต 6,284,597 ราย

สำหรับอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 84,066,379 ราย 2. อินเดีย จำนวน 43,116,600 ราย 3.บราซิล จำนวน 30,639,130 ราย 4. ฝรั่งเศส จำนวน 29,097,570 ราย 5.เยอรมนี จำนวน 25,665,910 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 24 ของโลกจากจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม จำนวน 4,361,016 ราย