ทำฟัน “บัตรทอง บัตร 30 บาท” ใช้สิทธิกรณีใดบ้าง

ทำฟัน สิทธิบัตรทอง

เปิดเงื่อนไขสิทธิบัตรทอง ใช้บริการด้านทันตกรรม คุ้มครอง-ไม่คุ้มครอง กรณีใดบ้าง

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะได้รับสิทธิบริการด้านทันตกรรม โดยสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ และหากหน่วยบริการตามสิทธิเกินศักยภาพ จะส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่สามารถรักษาได้ตามขั้นตอน

ทำฟัน สิทธิบัตรทอง “คุ้มครอง” อะไรบ้าง

สำหรับสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมจะคุ้มครองสิทธิ ดังต่อไปนี้

1. การถอนฟัน

2. การอุดฟัน เช่น อุดคอฟัน เป็นต้น

3. ขูดหินปูน

4. ฟันปลอมฐานพลาสติก ทั้งแบบซี่ถอดได้และแบบทั้งปากถอดได้

  • ฟันปลอมแบบถอดได้มีอายุการใช้งาน 5 ปี หากผู้รับบริการได้รับความเห็นจากแพทย์ว่ามีความจำเป็นต้องซ่อมฟันปลอมก่อน 5 ปี ผู้รับบริการสามารถใช้สิทธิได้

5. รักษาโพรงประสาทฟันน้ำนม (รากฟันน้ำนม)

6. ใส่เพดานเทียมในเด็กปากแหว่งเพดานโหว่

7. ผ่าฟันคุด (ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์)

8. เคลือบหลุมร่องฟัน (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)

9. การทาฟลูออไรด์วาร์นิช (เด็กอายุ 9 เดือน- 5 ขวบ)

10. การเคลือบฟลูออไรด์ (เด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6-24 ปี)

  • การเคลือบฟลูออไรด์แบบเข้มข้น ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้ที่มีภาวะน้ำลายแห้งจากการรักษามะเร็งด้วยการฉายแสงบริเวณใบหน้าและลำคอ หรือจากการกินยารักษาโรค ทางระบบที่ส่งผลให้น้ำลายแห้งติดต่อกันเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ที่มีอาการเหงือกร่น รากฟันโผล่ ที่ยากต่อการทำความสะอาด

11. โรคปริทันต์อักเสบ สิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมคุ้มครอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการรักษา

  • โรคปริทันต์ คือ โรคที่มีการอักเสบของอวัยวะที่อยู่รอบ ๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือก เอ็นยึดปริทันต์ เคลือบรากฟัน และกระดูกเบ้าฟัน ถ้าไม่ได้รับการรักษาอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำลายไปอย่างช้า ๆ ทุกวันจนต้องสูญเสียฟันไปในที่สุด

12. การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก
ให้บริการผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่มีฟันทั้งปากและมีข้อบ่งชี้การใส่รากฟันเทียม ด้วยบริการใส่รากฟันเทียมและการบำรุงรักษา

บัตรทอง “ไม่คุ้มครอง” สิทธิทำฟัน อะไรบ้าง

1. การครอบฟันน้ำนม/ครอบฟันแท้ เป็นการรักษาไม่ใช่บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค

2. การรักษารากฟันแท้

สาเหตุที่สิทธิประโยชน์ สปสช. ยังไม่คุ้มครองเรื่อง การรักษารากฟันแท้ เนื่องจากเป็นข้อเสนอของคณะทำงานด้านสิทธิทางทันตกรรม โดยความเห็นชอบของทันตแพทยสภา ว่า ควรให้เฉพาะการรักษารากฟันน้ำนมก่อน เนื่องจากมีความสำคัญต่อสุขภาพมากกว่า

ซึ่งทางทันตแพทย์ให้ความเห็นทำนองนี้ และบอกว่า การรักษารากฟันในเด็กเป็นการป้องกัน ส่วนในผู้ใหญ่เป็นการรักษา และรักษารากฟันอย่างเดียวในผู้ใหญ่นั้นไม่เพียงพอ เพราะฟันจะเปราะ ต้องมีการทำครอบฟันด้วย ซึ่งการทำครอบฟันนี้เห็นกันว่า อาจดูก้ำกึ่งจัดเป็นการเสริมสวยก็ได้ แต่ถ้าไม่ทำครอบฟัน ในที่สุดไม่นานก็ต้องถอนแล้วใส่ฟันปลอมอยู่ดี

รวมทั้งมีปัญหากำลังคนด้วย เพราะอาจต้องใช้ทันตแพทย์เฉพาะทาง ดังนั้นจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ถอนแล้วใสฟันเทียมน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงเป็นที่มาของสิทธิการได้รับฟันเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

การรักษารากฟัน เป็นการรักษาโดยการประสาทฟันในรากฟันออกแล้วทำความสะอาด จนถึงการอุดคลองรากฟัน จากนั้น จำเป็นต้องทำครอบฟันสวมทับอีกที

3. การเตรียมช่องปากเพื่อการจัดฟัน

  • กรณีขออุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด หากวัตถุประสงค์ต้องการทำเพื่อการจัดฟันถือว่าเกินความจำเป็น ไม่มีข้อบ่งชี้ของแพทย์เพื่อการรักษาถือว่าไม่คุ้มครอง

4. การเกลาฟันหรือเกลารากฟัน (Root Planing) ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการรักษา

การเกลาฟัน คือเป็นการรักษาสำหรับคนที่เป็นโรคเหงือกอักเสบหรือผู้ที่ไม่ได้รับการขูดหินปูนจากทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หรือจากการสะสมของคราบแบคทีเรียจากอาหารที่ไม่ได้รับการทำความสะอาดอย่างถูกต้องพอเหมาะ ทำให้ปริมาณหินปูนที่เกาะบนเนื้อฟันค่อย ๆ ขยายตัวลงไปยังบริเวณรากฟันใต้เหงือก จนเหงือกไม่สามารถติดกับฟันโดยตรงเหมือนเดิม) ปกติแล้ว ร่องเหงือกจะมีความลึกที่ 1-3 มิลลิเมตร

หากเป็นร่องลึกกว่า 4 มิลลิเมตร ต้องได้รับการทำความสะอาดให้เนื้อฟันเรียบหรือการเกลารากฟันนั่นเอง โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขจัดหินปูน/หินน้ำลายออก ผู้ที่เป็นโรคเหงือกอักเสบรุนแรง มักต้องเข้าพบทันตแพทย์บ่อยครั้งกว่าคนทั่วไป เพื่อดูแลและตรวจเช็กอาการของโรคอย่างสม่ำเสมอ