อาสาฬหบูชา วันสำคัญทางศาสนาที่เพิ่งถือกำเนิดได้ 60 ปี

พระ
ภาพโดย DuongNgoc1987 จาก Pixabay

วันอาสาฬหบูชา วันสำคัญทางศาสนา อดีตตรงกับวันไหว้ครูของอินเดีย และเพิ่งถือกำเนิดได้ 60 ปีเศษ

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ถือเป็นเทศน์กัณฑ์แรก

เป็นเหตุให้ ท่านพระโกณฑัญญะ 1 ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ ดวงตาเห็นธรรม และขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของพระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

วันอาสาฬหบูชาเพิ่งถือกำเนิดเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

วันอาสาฬหบูชานั้น เพิ่งจะถูกสถาปนาขึ้นมาหมาด ๆ เมื่อ พ.ศ. 2501 หรือ 60 ปีเศษนี้เอง ดังนั้นจึงเป็นวันพระใหญ่ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังสุด

จากบทความ “วันอาสาฬหบูชา” ที่มาจากวันไหว้ครูโบราณของอินเดีย ? ของ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ที่เผยแพร่ในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2562 ระบุว่า ในบรรดาวันพระใหญ่ทั้ง 4 วันของไทยนั้น นับได้ว่า “วันอาสาฬหบูชา” เป็นน้องนุชคนสุดท้อง

เพราะว่าในขณะที่วันเข้าพรรษา มีหลักฐานเก่าแก่ไปถึงยุคตั้งต้นของกรุงศรีอยุธยา ดังปรากฏความอยู่ในกฎมณเฑียรบาล ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวงว่า “เดือน 8 เข้าพระวษา”

วันวิสาขบูชา เพิ่งมีหลักฐานว่า เริ่มจัดให้มีครั้งแรกในประเทศไทย ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 2 เมื่อปี 2360 (และแม้ในงานพระราชพิธีคราวนั้นจะอ้างว่า กษัตริย์ในสมัยโบราณเคยกระทำพระราชพิธีนี้มาก่อน แต่เอาเข้าจริงแล้ว ก็ไม่มีใครสามารถระบุพระนามของพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นได้เลย เผลอ ๆ จะไม่ใช่กษัตริย์อยุธยา แต่หมายถึงกษัตริย์ลังกาเสียด้วยซ้ำ) วันมาฆบูชา ก็เพิ่งถูกรัชกาลที่ 4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น

ที่มาของวันอาสาฬหบูชา

จากบทความ “วันอาสาฬหบูชา” ที่มา จากวันไหว้ครูโบราณของอินเดีย ? ได้กล่าวต่อว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ คำว่า อาสาฬหะ ย่อมาจาก อาสาฬหปูรณมีบูชา ที่หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือชื่อของเดือนในระบบปฏิทินจันทรคติของอินเดีย ซึ่งก็จะตรงอยู่กับช่วงเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย หรือช่วงราว ๆ เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ตามระบบปฏิทินสุริยคติที่ใช้กันในปัจจุบัน

สำหรับชาวไทยพุทธนั้น วันอาสาฬหบูชาหมายถึงการระลึกถึงวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

แต่ในอินเดียนั้น วันอาสาฬหบูชาเกิดจากพราหมณ์-ฮินดูที่เรียกเดือนนี้ด้วยภาษาสันสกฤตว่า “อาศาทหะ” ทุกวันเพ็ญเดือนอาศาทหะในแต่ละปี จะประกอบพิธีที่เรียกว่า คุรุ ปุรณิมา หรือเรียกว่า พิธีบูชาครูประจำปี หรือวันไหว้ครู

โดยนัยหนึ่ง การปฐมเทศนาของพระพุทธเจ้า นอกจากจะทำให้พระรัตนตรัยทั้ง 3 ครบองค์ประชุมแล้ว ก็ยังทำให้พระพุทธเจ้ามีสถานะเป็นครู ผู้สั่งสอนพระธรรมไปพร้อม ๆ กันด้วย

ในทรรศนะของผู้เขียนพระไตรปิฎกแล้ว จึงเหมาะสมที่จะเป็นวันแสดงปฐมเทศนาเท่ากับวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรืออาศาทหะ ซึ่งเป็น วันไหว้ครู ของอินเดียไปได้

การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้เขียนไว้ว่า หลังคณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่อง กำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดียวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน

กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา 1 สัปดาห์ ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุสามเณรตลอดจนศิษย์วัด คนวัดช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรมตามปกติ

เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชาจบแล้วทำประทักษิณ

ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัยทำวัตรค่ำแล้วสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรค่ำต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรแล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธัมมจักรกัปปวัตตนสูตรทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน

จบแล้วให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น

รวมถึงให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา 24.00 น. และได้มีการทำพิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมา ทางราชการได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

ซึ่งปีนี้วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันพุธที่ 13 กรกฎาคม 2565 นอกจากเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแล้ว ยังเป็นวันหยุดราชการอีกด้วย