รองผู้ว่าฯ กทม. ลงพื้นที่เขตบางแค ตรวจจุดเสี่ยง-พื้นที่สร้างสวน 15 นาที

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์ ลงพื้นที่ย่านบางแค เจาะลึกจุดเสี่ยงใต้สะพานบางเชือกหนัง เตรียมปรับปรุงอาคารสงเคราะห์บางบอน พร้อมสำรวจจุดก่อสร้างสวน 15 นาที

28 กรกฎาคม 2565 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานในพื้นที่เขตบางแค จำนวน 4 จุด ดังนี้

จุดที่ 1 จุดเสี่ยงบริเวณจุดกลับรถจักรยานยนต์ใต้สะพานข้ามคลองบางเชือกหนัง ในพื้นที่ของกรมทางหลวง ซึ่งเขตได้ทำทางเดินเลียบคลองตลอดแนวคลองบางเชือกหนัง เป็นจุดสัญจรของประชาชนย่านชุมชนริมคลอง

อย่างไรก็ตาม จุดกลับรถจักรยานยนต์ใต้สะพานไมใช่จุดกลับรถที่ถูกต้องและเป็นทางการ แต่มีการใช้งานจริงในชีวิตประจำของประชาชน ซึ่งมีสภาพไม่เอื้ออำนวยต่อความปลอดภัยและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากทางเดินแคบรถจักรยานยนต์สวนกันลำบาก และศีรษะอาจกระแทกกับคานสะพานข้ามคลองได้ นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม เพราะพื้นที่เปลี่ยวและไม่มีไฟฟ้าส่องสว่าง

ที่ผ่านมา สำนักเทศกิจได้ติดตั้งจุดตรวจตู้เขียวบริเวณใต้สะพานข้ามคลองบางเชือกหนัง เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรม สร้างความปลอดภัยแก่ประชาชน

ในปี 2566 เขตได้เสนอของบประมาณปรับปรุงทางเดินเลียบคลองบางเชือกหนัง ตั้งแต่ถนนกาญจนาภิเษกถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2 ปรับปรุงสภาพผิวทาง ติดตั้งราวกันตก ความลาดชัน ไฟฟ้าส่องสว่าง เพื่อความปลอดภัยอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนย่านชุมชนริมคลอง โดยเฉพาะช่วงเวลากลางคืน ลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและอาชญากรรม

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์

จุดที่ 2 อาคารสงเคราะห์ข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานคร (อาคารสงเคราะห์บางบอน) ตั้งอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก เขตบางแค ลักษณะอาคาร เป็นอาคาร ค.ส.ล. 6 ชั้น 2 หลัง หลังละ 60 ห้อง ชั้นละ 12 ห้อง ขนาดห้อง 3.50 x 9.70 เมตร ชั้นล่างเป็นใต้ถุนโล่ง ขนาดที่ดิน ประมาณ 2 ไร่ (3,735 ตารางเมตร)

มีโครงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสงเคราะห์ ระยะเวลาดำเนินการ 150 วัน ซึ่งการปรับปรุงอาคารดังกล่าว สำนักงานการเจ้าหน้าที่ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตเป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้พื้นที่ติดกันเป็นที่ดินซึ่งสำนักการศึกษาได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ขนาดพื้นที่ 5 ไร่ เขตเตรียมสร้างโรงเรียนต้นไม้ เพื่อเป็นศูนย์อนุรักษ์พันธุ์ไม้หายาก เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงนิเวศ สถานที่เพาะพันธุ์กล้าไม้ ทำปุ๋ยใบไม้ ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ การคัดแยกขยะ และปลูกพืชผักสวนครัว

 

จุดที่ 3 จุดก่อสร้างสวน 15 นาที ซึ่งเขตได้รับความยินยอมจากประชาชน จำนวน 5 แปลง ซึ่ง 1 ใน 5 แปลง คือ บริเวณลานกีฬาชุมชนฤทธิ์พัฒนา ถนนพุทธมณฑลสาย 2 ซอย 3 แขวงบางแคเหนือ พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปัจจุบันชุมชนได้รับเงินกองทุนไทยนิยมฯ มาทำลานกีฬาแล้วบางส่วน และยังมีพื้นที่ที่สามารถพัฒนาเป็นสวนและลานออกกำลังกายได้อีก

จุดที่ 4 จุดก่อสร้างสวน 15 นาที ถนนกัลปพฤกษ์ ฝั่งขาเข้า เชิงสะพานข้ามคลองควาย พื้นที่ประมาณ 6 ไร่ ปัจจุบันอยู่ในสภาพรกร้าง ไม่ได้ใช้ประโยชน์

สำหรับสวน 15 นาที เป็นนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร โดยการพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่การเพิ่มพื้นที่ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์

โดยพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่ใหม่สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ อาทิ พัฒนาสวนขนาดเล็กในพื้นที่ราชการและเอกชน แปลงที่ดินว่างเปล่า พื้นที่รกร้าง พื้นที่รอการพัฒนา พื้นที่จุดบอดบริเวณโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ระยะถอยร่น พื้นที่ว่างหน้าอาคารขนาดใหญ่

กรุงเทพมหานครจะใช้กลไกทางภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง จูงใจให้เอกชนมอบที่ดินให้กรุงเทพมหานคร พัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวเพื่องดเว้นการเสียภาษี หรือส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาพื้นที่สาธารณะบนที่ดินเอกชน ผ่านมาตรการลดหย่อนภาษีจากการสร้างสาธารณประโยชน์ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ประชาชนเสนอพื้นที่มีความเหมาะสม สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนพัฒนาสิ่งแวดล้อมดีเพื่อทุกคน เพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ทางสังคมและเศรษฐกิจของเมืองในอนาคต

รองผู้ว่าฯ จักกพันธุ์