USB-C ภาษาสากล ของพอร์ตอุปกรณ์ไอทีในโลกวันนี้

USB-C Device
Photo by Mac Care on Unsplash

USB-C คืออะไร ? ทำไมอุปกรณ์ไอทีในโลกยุคนี้ เริ่มหันมาใช้ จนเหมือนกลายเป็นภาษาสากลในปัจจุบัน

วันที่ 5 ตุลาคม 2565 จากกรณีที่รัฐสภายุโรป ผ่านกฎหมายบังคับให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่จะจำหน้ายในพื้นที่สหภาพยุโรป ต้องใช้พอร์ตชาร์จและเชื่อมต่อ เป็น USB Type-C (USB-C) เท่านั้น โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2567 เป็นต้นไป

แต่ถ้ามองโลกทุกวันนี้ พอร์ต USB-C แทบจะมีอยู่ในทุกอุปกรณ์บนโลกใบนี้แล้ว ทั้งมือถือ แท็ปเลต ไปจนถึงอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ ตั้งแต่หูฟังไร้สาย ไปจนถึงแบตเตอรี่สำรอง หรือที่เรามักเรียกว่า พาวเวอร์แบงก์ (Power bank) และจะเรียกว่าเป็นภาษาสากลของโทรศัพท์มือถือในโลกวันนี้ ก็ดูไม่ใช่เรื่องที่ผิดเท่าไรนัก เพราะพอร์ตลักษณะดังกล่าว กลายเป็นพอร์ตพื้นฐานสำหรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปแล้ว

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักพอร์ตชาร์จลักษณะนี้ที่มีในมือถือทุกเครื่องไปด้วยกัน

USB-C คืออะไร ?

USB-C เป็นชื่อเรียกของรูปแบบพอร์ตเชื่อมต่อ USB เช่นเดียวกับ USB Type-A, USB Type-B หรือ Micro USB ที่เราเคยได้ยินกันจนคุ้นหูนั่นเอง โดยพอร์ต USB-C ถูกออกแบบใหม่ ให้หัวเชื่อมต่อมีลักษณะที่มีความมนทั้ง 4 ด้าน ทำให้เป็นข้อดีที่สามารถเสียบพอร์ตเชื่อมต่อดังกล่าวได้ทั้ง 2 ด้าน

ขณะเดียวกัน USB-C ถูกออกแบบทางเทคนิค ให้รองรับการใช้งานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตั้งแต่การชาร์จไฟที่รองรับกระแสไฟมากถึง 100 วัตต์ และการชาร์จแบบย้อนกลับ (Reversible Charging) การรับ-ส่งข้อมูลระหว่างเครื่องที่เร็วกว่าเดิมถึงหลักสิบกิกะบิตต่อวินาที (Gbps) และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ระหว่างกันได้มากขึ้น

ตัวอย่างอุปกรณ์และสายชาร์จที่ใช้พอร์ตเชื่อมต่อ USB-C

พอร์ตเชื่อมต่อ USB-C มีพี่น้องที่ลักษณะคล้ายกัน คือ พอร์ต Thunderbolt โดยเฉพาะ Thunderbolt 3 และ Thunderbolt 4 แต่พอร์ตแบบ Thunderbolt พัฒนาโดยแอปเปิล (Apple) ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีและประสิทธิภาพที่ดีกว่า และรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์อื่น ๆ ได้ โดยเฉพาะการเชื่อมต่อจอแสดงผล (Monitor) ที่รองรับความคมชัดถึงระดับ Ultra Hi-Definition หรือที่เรามักเรียกจนชินปากว่า 4K นั่นเอง

มาตรฐาน USB ของโลกวันนี้

กลุ่มผู้พัฒนามาตรฐาน USB หรือ USB Implementers Forum (USB-IF) กำหนดมาตรฐานเทคโนโลยี USB ในปัจจุบัน ไว้ที่ USB 3.2 และ USB4

มาตรฐาน USB 3.2 เริ่มต้นใช้งานตั้งแต่ปี 2560 รองรับการทำงานแบบหลายช่องทาง โอนถ่ายข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 20Gbps และยังใช้เทคโนโลยี SuperSpeed USB ในการเข้ารหัสรับส่งข้อมูลเช่นเดิม

ส่วนมาตรฐาน USB4 เป็นมาตรฐานใหม่ ซึ่งต่อยอดจากกลุ่ม USB 3 และ Thunderbolt 3 เริ่มใช้งานตั้งแต่ 2562 โดยรองรับการถ่ายโอนข้อมูลความเร็วสูงสุดได้มากถึง 40Gbps หรือมากกว่า 2 เท่าจากมาตรฐานเดิม รองรับการเชื่อมต่อกับ USB-C เวอร์ชั่นก่อนหน้านี้ทั้งหมด และรองรับการเชื่อมต่อจอแสดงผลความคมชัดสูงได้ถึง 2 จอ และรองรับความคมชัดสูงสุดของจอ ระดับ 6K

ที่มาของการกำหนดพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานในยุโรป

การกำหนดพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานในยุโรป เริ่มต้นมีการเสนอร่างมาตั้งแต่กันยายน 2564 โดยก่อนหน้านั้นเป็นการขอความร่วมมือเปลี่ยนพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐาน ทำให้สามารถเหลือพอร์ตการใช้งานเพียง 3 แบบ จากเดิมที่มีมากถึง 30 แบบ

การกำหนดดังกล่าว เกิดขึ้นเพื่อการสร้่างมาตรฐานการใช้งานอุปกรณ์ไอที รวมถึงลดการสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญสำหรับสิ่งแวดล้อมโลก และลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น จากการซื้ออุปกรณ์เสริมของลูกค้าได้

นอกจากนี้ กฎหมายเรื่องการบังคับใช้พอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐานเป็น USB-C ในยุโรป หรือ Radio Equipment Directive ยังมีการกำหนดข้ออื่น ๆ เกี่ยวกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มเติม ดังนี้

  • กำหนดมาตรฐานกลางเรื่องการชาร์จเร็ว เพื่อให้สามารถใช้การชาร์จเร็วร่วมกันได้
  • ผู้บริโภคต้องสามารถเลือกซื้อสินค้าแบบไม่เอาสายชาร์จได้เสมอ
  • ผู้ผลิตสินค้าต้องประกาศข้อมูลการชาร์จให้ชัดเจน เช่น กำลังไฟฟ้า การรองรับระบบชาร์จเร็ว เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตัดสินใจในการเลือกซื้อสายชาร์จได้

ขณะที่ การบังคับใช้พอร์ต USB-C เป็นพอร์ตเชื่อมต่อมาตรฐาน จะบังคับในทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งสมาร์ทโฟน แท็บเลต อุปกรณ์อ่านอีบุ๊ก หรืออีรีดเดอร์ เมาส์และคีย์บอร์ด อุปกรณ์จีพีเอส หูฟัง ชุดหูฟัง กล้องดิจิทัล คอนโซลวิดีโอเกมแบบพกพา และลำโพงพกพา โดยจะเริ่มบังคับใช้ในปลายปี 2567 เป็นต้นไป

No Description
ภาพจาก European Commission

จากนั้น กฎหมายดังกล่าวจะขยายการบังคับใช้ไปถึงคอมพิวเตอร์แบบพกพา หรือ Laptop ในช่วงปี 2569

ด้านแอปเปิล (Apple) ผู้ผลิต iPhone และ iPad ยังไม่มีการตอบรับในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติมแต่อย่างใด แม้ก่อนหน้านี้จะค้านว่า ข้อบังคับดังกล่าว จะยับยั้งนวัตกรรมมากกว่าที่จะสนับสนุน ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภคในยุโรปและทั่วโลก

หลังจากมีการออกข้อกำหนดดังกล่าว แวดวงผู้ค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในยุโรป ตั้งข้อสังเกตว่า แอปเปิล จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือเพียงเจ้าเดียวที่ใช้หัวชาร์จมาตรฐานของตัวเอง ไม่เหมือนกับเจ้าอื่น ๆ ในท้องตลาด และต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถขายในยุโรปได้เช่นเดิม

ขณะเดียวกัน มีการวิเคราะห์อีกด้านว่า อาจจะกลายเป็นการโกยยอดขายได้ เพราะการบังคับดังกล่าว อาจทำให้ผู้ใช้เริ่มหันมาเปลี่ยนเป็นอุปกรณ์ที่มีพอร์ต USB-C มากกว่าจะใช้อุปกรณ์ที่ยังมีพอร์ตแบบเดิม