กสทช. ลุยเปิดประมูลวงโคจรดาวเทียม 8 ม.ค. ปีหน้า

กสทช.

กสทช. เคาะ 8 ม.ค. 2566 เปิดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว

โดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช.จะดำเนินการเพื่อจัดประมูลการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือก 4 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 4-30 พ.ย. 2565 จากนั้นจะจัดชี้แจงการเตรียมเอกสารในวันที่ 2 ธ.ค. 2565 และเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) ในวันที่ 27 ธ.ค. 2565

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ

หลังจากนั้น สำนักงาน กสทช.จะทำการตรวจคุณสมบัติ (ใช้เวลา 1 สัปดาห์) ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค. 2565-4 ม.ค. 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก วันที่ 4 ม.ค. 2566 และทำ Mock Auction วันที่ 7 ม.ค. 2566 ส่วนวันประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) คือวันที่ 8 ม.ค. 2566

กรณีมีผู้เข้าร่วมการประมูลรายเดียว จะขยายเวลาไปอีกไม่น้อยกว่า 14 วัน เริ่มจากเปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกในวันที่ 6-11 ม.ค. 2566 แล้วจะจัดให้มี Info session อีกครั้ง กรณีมีผู้เข้าร่วมการประมูลเพิ่มในวันที่ 12 ม.ค. 2566 จะเปิดให้ยื่นขอรับอนุญาต (1 วัน) วันที่ 19 ม.ค. 2566 โดยสำนักงาน กสทช. จะทำการตรวจคุณสมบัติ ตั้งแต่วันที่ 20-26 ม.ค. 2566 และประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือก ในวันที่ 27 ม.ค. 2566 ทำ Mock Auction วันที่ 28 ม.ค. 2566 และประมูลวันที่ 29 ม.ค. 2566 แทน

สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) กสทช. ได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ โดยปรับลดราคาขั้นต่ำ เพื่อให้เกิดการแข่งขัน และมีการปรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมการประมูล โดยแยกคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูลในแต่ละชุดข่ายงานดาวเทียมแตกต่างกัน โดยเฉพาะชุดที่ 4 (วงโคจรที่ 126 E) เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยหรือรายใหม่เข้าสู่การแข่งขันได้ง่าย เพราะราคาเริ่มต้นเพียง 8 ล้านบาท

นอกจากนั้น กสทช. ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้งานเพื่อประโยชน์สาธารณะของหน่วยงานภาครัฐ โดยได้กำหนดให้ภาครัฐใช้ดาวเทียมฟรี 1 ทรานสปอนเดอร์ สำหรับดาวเทียมสื่อสารแบบ Broadcast และ 400 Mbps สำหรับดาวเทียมสื่อสารความจุสูงแบบ Broadband ต่อวงโคจรหรือต่อดาวเทียม 1 ดวง เมื่อเทียบกับระบบสัมปทานเดิมภาครัฐจะได้สิทธิใช้ดาวเทียมฟรีดังกล่าวต่อ 1 สัมปทาน (แม้สัมปทานหนึ่งจะมี 3-4 ดวง ก็ได้เท่านี้)

และเพื่อให้สอดคล้องตามนโยบายของคณะกรรมการอวกาศแห่งชาติ กสทช. ได้กำหนดให้บริษัทที่ชนะการประมูลต้องอนุญาตให้หน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายมีส่วนร่วมในการใช้วงโคจรที่ 119.5 E อาทิ มีส่วนร่วมในการจัดสร้างศูนย์ควบคุมเกตเวย์ของรัฐเพื่อควบคุมการใช้งานดาวเทียมในส่วนของภาครัฐและเป็นการฝึกบุคลากรภาครัฐให้มีความพร้อมในการบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนของตนเอง โดยในส่วนนี้รัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เป็นต้น

พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุดข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาประมูลฯ ในครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 5 ชุด (Package) ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ประกอบด้วย วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1 และ N1) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ราคาเริ่มต้นการประมูล 374 ล้านบาทเศษ ชุดที่ 2 ประกอบด้วย วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ 78.5E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 360 ล้านบาทเศษ

ชุดที่ 3 ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ 119.5E) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 397 ล้านบาทเศษ ชุดที่ 4 วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 8 ล้านบาทเศษ และชุดที่ 5 วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ 142E) ราคาเริ่มต้นการประมูล 189 ล้านบาทเศษ

“คาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วม 2-3 ราย สิ่งที่ กสทช. ดำเนินการมาก็เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ หากไม่สามารถหาผู้มาใช้สิทธิในการสร้างและส่งดาวเทียมในวงโคจรทั้ง 5 ชุดได้ ประเทศไทยอาจโดนเพิกถอนสิทธิดังกล่าวจาก ITU จึงคาดว่าการประมูลครั้งนี้จะบรรลุผลและทำให้กิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศไทยเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานมาสู่ระบบการอนุญาตได้” พล.อ.ท.ดร. ธนพันธุ์ ทิ้งท้าย