ใครเป็นใคร เปิดชื่อ 3 ตัวเต็งเลขาฯ กสทช.คนใหม่

กสทช. เลขาธิการ ประชุมบอร์ด

ส่อง 3 รายชื่อ ตัวเต็งเลขาฯ กสทช. วงในเผย เตรียมชงบอร์ด กสทช. เคาะไทม์ไลน์กระบวนการสรรหา คาดชัดเจนภายใน 15 มีนาคม

วันที่ 8 มีนาคม 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บอร์ด กสทช.จะมีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กสทช. คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 15 มีนาคม 2566

หลังจากวานนี้ (7 มี.ค.) มีการประชุมนัดพิเศษ เพื่อกำหนดคุณสมบัติของตำแหน่งเลขาธิการ และมีการพิจารณาอำนาจของประธาน โดยมติชี้ว่าประธานบอร์ดฯ มีอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดกระบวนการคัดเลือกเลขาธิการ ทั้งนี้โดยอ้างถึงมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ว่า “ให้ประธานกรรมการ โดยความเห็นชอบของ กสทช. เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช.”

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวใกล้ชิดประธานบอร์ดฯ กล่าวว่า นอกจาก 3 รายชื่อที่มีการระบุว่าอยู่ในลิสต์ที่ประธาน กสทช. จะเสนอให้มีการพิจารณานั้น คาดว่าจะต้องมีการเปิดรับสมัครก่อน เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้ามาสมัคร เพราะประธานยังไม่ได้มีการตัดสินใจในการวางตัวใคร และอยากรู้ว่าใครสนใจบ้าง ซึ่งล่าสุดมีการกำหนดคุณสมบัติที่เหมาะสม ดังนั้น เมื่อเปิดรับสมัครแล้วก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า ทั้ง 3 รายชื่อ ที่มีการเปิดเผยมานั้น ยืนยันว่ายังไม่มีการพูดถึง แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ปิดกั้น อาจใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับใครจะมาสมัคร

สำหรับ 3 รายชื่อ ที่มีการเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าประธานบอร์ด กสทช. เตรียมเสนอให้พิจารณาเป็นว่าที่เลขาธิการ กสทช. คนใหม่ ได้แก่

  1. นางสุรางคณา วายุภาพ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA
  2. นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย
  3. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการ สํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA

เปิดคุณสมบัติแคนดิเดต 3 ราย

1. นางสุรางคณา วายุภาพ

สำเร็จการศึกษา นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นิติศาสตรมหาบัณฑิต กฎหมายระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ประสบการณ์ทำงาน เคยเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร
ที่ปรึกษาคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์, ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (เนคเทค) (สวทช.),

เคยเป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาวิจัยประเด็นด้านจริยธรรม กฎหมาย และผลกระทบทางสังคมของเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) (สวทช.), ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (เนคเทค) (สวทช.), หัวหน้าโครงการพัฒนากฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (เนคเทค) (สวทช.)

ในช่วง พ.ศ. 2557 “สุรางคณา” ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

นอกจากนี้ “สุรางคณา” เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA ยาวนานถึง 9 ปี มีส่วนในการผลักดันระเบียบข้อกฎหมายเพื่อเอื้อให้เกิดการกำกับดูแลธุรกรรมและการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ

ในปี 2562 ได้ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อไปทำบริษัทสตาร์ตอัพ Be Tech Company

2. นายนิรุฒ มณีพันธ์

สำเร็จการศึกษา ปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) มหาวิทยาลัยรามคำแหง ปี 2531, เนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) สมัยที่ 45 สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ปี 2535

ปริญญาโท Master of Comparative Jurisprudence (M.C.J.), Howard University, U.S.A. ปี 2540, Master of Laws (LL.M.), Temple University, Philadelphia, Pennsylvania, U.S.A. ปี 2539

ด้านการทำงาน เคยเป็นรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย, ที่ปรึกษากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.การบินไทย, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมายธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

“นิรุฒ” เข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ในปี 2563 พร้อมกับภารกิจทั้งเรื่องปัญหาหนี้สะสมการรถไฟ ทั้งการโหมลงทุนระบบรางเพื่อขับเคลื่อนการลงทุน ไม่ว่ารถไฟทางคู่เฟสแรกกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งรถไฟไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-โคราช และอื่น ๆ

3. ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ เป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่กรรมการในบอร์ดบริหารหลายแห่ง สำเร็จการศึกษา วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกล สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (M.Sc.), Engineering (Civil Engineering), มหาวิทยาลัยเปอร์ดู สหรัฐอเมริกา, ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (Ph.D.) (Civil Engineering) มหาวิทยาลัยเดียวกัน

ในช่วงปี 2560-2563 “ดร.ปกรณ์” เป็นกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, กรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย, กรรมการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ปัจจุบัน “ดร.ปกรณ์” เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)