อลหม่าน ประชุมบอร์ด กสทช. ล่ม 4 ใน 7 กรรมการ กสทช. รอเก้อ

ประชุมบอร์ด “กสทช.” ล่ม “วงใน” ระบุประธานบอร์ดป่วย ขอยกเลิกกะทันหัน วาระค้างเพียบหวั่นกระทบงานหลายด้าน

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เปิดเผยว่า การประชุมบอร์ด กสทช. วานนี้ (5 ก.ค. 2566) ต้องยกเลิกการประชุมกะทันหัน เนื่องจากเมื่อเวลา 09.20 น. สำนักประธานกรรมการและการประชุม ได้แจ้งเข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ ขอยกเลิกการประชุม และมีบันทึกขอยกเลิกการประชุมส่งถึงที่ประชุมในเวลา 09.40 น. ภายหลังจากการประชุมเริ่มต้นไปแล้ว 10 นาที เนื่องจากประธาน กสทช.ป่วย โดยมีการนัดหมายการประชุมในครั้งต่อไปในวันที่ 19 ก.ค. 2566

“การยกเลิกการประชุมในวันนี้ทำให้ การพิจารณาวาระสำคัญ ๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างสำนักงาน, การพิจารณาเรื่องร้องเรียน, การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ และวาระอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาล่าช้าออกไป”

สำหรับกรรมการที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองศาสตราจารย์ ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และรองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ส่วนนายต่อพงศ์ เสลานนท์ และ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร ไม่เข้าร่วมประชุม

และในการประชุมครั้งที่ 15/2566 มีวาระที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 81 เรื่อง เป็นเรื่องที่ค้างพิจารณา 45 เรื่อง เรื่องที่เสนอพิจารณาเพิ่มเติม 25 เรื่อง ในจำนวนนี้มีเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ กสทช. ต้องพิจารณา เช่น เรื่องการปรับโครงสร้างของสำนักงาน กสทช. เรื่องการแต่งตั้งและต่ออายุคณะอนุกรรมการชุดต่าง ๆ อย่างน้อย 10 คณะ โดยคณะอนุกรรมการอย่างน้อย 6 คณะ ได้สิ้นสุดระยะเวลาตามคำสั่ง และไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมถึงคณะอนุกรรมการตามกฎหมาย คือ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งจะหมดระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 13 ก.ค. 2566

นอกจากนี้ยังรวมถึงคดีฟ้องร้องที่ กสทช. ต้องพิจารณาคำต่อสู้คดีของสำนักงาน กสทช. ซึ่งจะครบกำหนดการยื่นคำให้การในวันที่ 8 ก.ค. และมีวาระที่กระทบต่อผู้บริโภคในประเด็นต่าง ๆ ที่เสนอโดยสำนักคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ อย่างน้อย 7 วาระ และวาระที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม จำนวน 2 วาระ รวมถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการออกอากาศรายการโทรทัศน์อย่างน้อย 7 วาระ

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า สำนักประธานกรรมการและการประชุม มีบันทึกข้อความด่วนที่สุด แจ้งขอยกเลิกการประชุม กสทช. ครั้งที่ 15/2566 ในระบบออนไลน์ เวลา 09.20 น. ของวันที่ 5 ก.ค. โดยระบุว่า สำนักงาน กสทช. ได้รับการประสานงานจากเลขานุการประธาน กสทช. ขอให้แจ้งยกเลิกการประชุม เนื่องจากในวันและเวลาดังกล่าว ประธาน กสทช. มีอาการป่วย ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ และให้นำระเบียบวาระการประชุม กสทช. ทั้งหมดบรรจุในระเบียบวาระการประชุม กสทช. ในวันพุธที่ 19 ก.ค. 2566 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม บันทึกแจ้งยกเลิกการประชุมดังกล่าวมาถึงที่ประชุมภายหลังจากเวลานัดหมาย แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีเลขาธิการ กสทช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ กสทช. รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักประธานกรรมการและการประชุม มาที่ห้องประชุมแม้แต่คนเดียว และไม่สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่สำนักงานผู้ที่รับผิดชอบการประชุมได้ จนเวลาผ่านไปกว่าครึ่งชั่วโมง จึงมีเจ้าหน้าที่มาปรากฏตัวจากการโทรศัพท์ติดตามของกรรมการท่านหนึ่ง

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องซึ่งมาปรากฏตัว ณ ที่ประชุมว่า ตามระเบียบการประชุม มีกรรมการมาประชุม 4 คน สามารถประชุมได้หรือไม่ เพราะมีการนัดหมาย มีวาระประชุม และมีกรรมการมาเกินกึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถตอบได้ และบอกว่าจะไปถามฝ่ายกฎหมาย แต่ไม่ได้กลับมาให้คำตอบแต่อย่างใด กรรมการทั้ง 4 คน รออยู่พักใหญ่จึงแยกย้ายกันไป

“เราเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่สำนักงานอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของประธานและเลขาธิการ และน่าจะเกรงใจผู้บังคับบัญชาโดยตรงมากกว่าบอร์ดคนอื่น แต่สำนักงานก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่มีอย่างเคร่งครัดและต้องเห็นแก่ภาพรวมขององค์กรและผลกระทบต่อสาธารณะด้วย การงดประชุมกะทันหันดังกล่าว และการที่สำนักงานไม่พยายามหาทางออกให้บอร์ดคนอื่นที่พร้อมประชุมทำให้ส่งผลกระทบกว้างขวาง ความล่าช้าที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ” ดร.พิรงรองกล่าว

ด้าน พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง กล่าวเพิ่มเติมว่า การยกเลิกการประชุมกระชั้นชิด โดยไม่มีการมอบหมาย ไม่มีระเบียบรองรับ และไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากในระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ จึงไม่เคยมีการกระทำเช่นนี้มาก่อน ตั้งแต่มี กสทช. หากประธานไม่สามารถมาประชุมได้ ก็ควรให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมแทน

อีกทั้งในระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2555 ข้อ 26 ระบุว่า “ในการประชุมถ้าประธานไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกรองประธานคนใดคนหนึ่งทำหน้าที่แทน ถ้าไม่มีรองประธานหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม