SCBx ชู AI อัพสปีดธุรกิจ ดันทีมไทยแลนด์ขับเคลื่อน ศก.ดิจิทัล

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์

ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์แบบ generative AI ซึ่งเป็น AI ที่ออกแบบมาให้มีความสามารถในการสร้างสรรค์ เริ่มเข้ามาเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลไปอย่างสิ้นเชิง ทุกอุตสาหกรรมล้วนกำลังมองหาวิธีที่จะนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และการดำเนินธุรกิจ ไม่เว้นแม้แต่ “ธนาคาร”

“ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอสซีบี เอกซ์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อินโนเวสเอ็กซ์” ขึ้นบรรยายในหัวข้อ “AI at the Core of SCBx Transformation and Thai Tech Leap” ในงาน Techsauce Global Summit 2023 มีมุมมองน่าสนใจเกี่ยวกับทิศทางสำคัญของ “เอสซีบี” ที่กำลังเดินเข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีหลักใน 4 แกน พร้อมกับเน้นย้ำด้วยว่า ประเทศไทยต้องการการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เพื่อนำพาประเทศหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง

เส้นทางทรานส์ฟอร์ม SCBx

“ดร.อารักษ์” พูดถึงความเป็นมาของ SCBx ในฐานะธนาคารที่มีการทรานส์ฟอร์มตนเองต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2558 ในขณะที่มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว จากการเป็นธนาคารแห่งแรกของประเทศสู่การเป็นธนาคารแห่งภูมิภาค ต่อมาได้สร้างปรากฏการณ์ครั้งสำคัญ ด้วยการประกาศแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “ยานแม่” จากธนาคารสู่บริษัทโฮลดิ้งในนาม “กลุ่มเอสซีบี เอกซ์” และเดินตามแผนการปรับโครงสร้างเพื่อวางแนวทางในการสร้างธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน โดยเปิดตัวบริษัทใหม่ ๆ และเข้าไปลงทุนด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นบล็อกเชน, สินทรัพย์ดิจิทัล และเอไอ เป็นต้น

“ปัจจุบันระยะเวลาการทรานส์ฟอร์มเร็วขึ้นมาก เรามองเห็นว่า เอไอเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งยังต้องลองพัฒนาและลองใช้ เป็น 2 วิธีที่กำลังทำ โดยใช้ทั้งในทางกว้าง (Board Adoption) และทางลึก (Deep Development) ในทางกว้างเราลองใช้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทำธุรกิจได้ ดังที่โมเดล GenerativeAI อย่าง ChatGPT ของ OpenAI ที่ไมโครซอฟท์นำมาใช้ คนทั่วไปหรือพนักงานใช้ PowerPoint Excel อยู่แล้ว นำมาปรับปรุงอะไรได้อีกมากในเรื่องประสิทธิภาพและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับเรามองว่า เราไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่ใช้เอไอเพียงอย่างเดียว แต่สามารถพัฒนาได้อย่างเหมาะสม นั่นคือการพัฒนาในเชิงลึก”

ทำให้ SCBx ต้องมีความร่วมมือทั้งกับสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงสตาร์ตอัพทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Institute of Human Centered AI ของมหาวิทยาลัย Stanford รวมถึงเข้าไปลงทุนในบริษัทเทคสตาร์ตอัพในอินโดนีเซีย และทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

AI-GPT อัพสปีดธุรกิจ

“การพัฒนาเอไอเชิงลึก สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่าเราเป็นธนาคาร ซึ่งมี core banking ที่สลับซับซ้อน เป็นศูนย์รวมของธุรกรรมที่มีขนาดใหญ่ และเป็นหัวใจของเรา ดังนั้นเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ต้องถูกออกแบบมาเป็นการเฉพาะ ซึ่งเทคโนโลยี GPT (generative pretrained transformer) ปัจจุบันยังทำงานด้านข้อมูลที่เป็นภาษาไทยได้ไม่ดีนัก โดยเฉพาะกับการใช้งานบนฐานข้อมูลมหาศาลของ SCB รวมถึงบริบทของข้อกฎหมายที่ต่างกันในแต่ละประเทศ”

ดังนั้นเป้าหมายที่สำคัญของ SCBx คือ การสร้าง SCBx-GPT เพื่อให้พนักงานสามารถใช้งานในทางกว้างในการให้บริการด้านการเงินแก่ลูกค้า ทั้งยังเป็นภาษาไทย และต่อยอดไปสู่เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากฐานข้อมูลที่มีอยู่เพื่อสร้างโมเดล AI เฉพาะของตนขึ้นมา

“ดร.อารักษ์” กล่าวต่อว่า การพัฒนาเอไอให้ทำงานร่วมกับ core bank ทั้งทางกว้างและทางลึก คือปัจจัยสำคัญในการพัฒนา “ความเร็ว” และ “ความสามารถในการขยายตัว” (speed and scale) ของบริการธนาคาร ทำให้มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น แต่การนำข้อมูลมาใช้ มีขอบเขตเรื่อง “ข้อมูลส่วนบุคคล” ของลูกค้าที่มีจำนวนมาก จึงมีข้อควรระวัง ทั้งมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่เป็นความท้าทาย แต่ก็ทำให้มีขอบเขตแนวทางชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของลูกค้าจะรับรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อการพัฒนาบริการที่รวดเร็วและสะดวกมาถึงตัว

ปักธง 4 แกนนวัตกรรม

สำหรับทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมของ SCBx “ดร.อารักษ์” อธิบายว่า จะโฟกัสที่กลยุทธ์ A-B-C-D จะเป็นการเดินทางของการทำทรานส์ฟอร์เมชั่นในระยะกลางถึงไกล

A คือ AI ไม่ใช่แค่การพัฒนาโมเดลพื้นฐาน SCB-GPT แต่ต้องนำไปต่อยอดสู่การให้บริการทางการเงินที่เป็นมาตรฐาน มีความรับผิดชอบต่อกฎระเบียบ และการนำไปใช้ขับเคลื่อนระบบงานให้เป็นอัตโนมัติมากขึ้น

B-blockchain เป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ แม้กระแสจะเงียบไป แต่หลายปีมานี้ พวกเราใช้บริการบล็อกเชนโดยไม่รู้ตัวในการบันทึกธุรกรรมที่โอนเงินจากประเทศต่าง ๆ หลายประเทศใช้การขับเคลื่อนโดย blockchain

“เราเห็นว่าบริษัทที่พัฒนาด้านบล็อกเชนโอนเงินระหว่างประเทศเป็นบริษัทที่น่าลงทุน”

C-climate เรื่องนี้มีการพัฒนาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศโลก ที่เร่งให้บริษัทขนาดใหญ่ จนถึง SMEs ต้องการเครื่องมือที่จะตรวจสอบปริมาณการลดการปลดปล่อยคาร์บอน ซึ่งนำไปสู่การซื้อขายคาร์บอนเครดิต

“เราก็มีการมองหาวิธีที่จะทำ tokenization คาร์บอนเครดิตเหล่านั้น เพื่อนำไปสู่การซื้อขายแลกเปลี่ยน”

สุดท้ายคือ D-disruptive tech ถือเป็นพรมแดนใหม่ องค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่จะเปลี่ยนวิธีทำงานทั้งหมดในระยะยาวคือ การพัฒนา “ควอนตัมคอมพิวเตอร์”

อัดฉีด R&D เพิ่มโอกาสประเทศ

“อารักษ์” ยังกล่าวด้วยว่า การวิจัยและพัฒนาด้านเอไอมีความสำคัญก็จริง แต่ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ ร่วมไปด้วย ซึ่งถ้ามองย้อนหลังกลับไปจะพบว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาน้อยมาก ทำให้ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง

“ยกตัวอย่างเกาหลีใต้ที่เราเรียกว่า ปาฏิหาริย์แห่งลุ่มน้ำฮัน ที่สามารถเพิ่มความสามารถในการพัฒนาประเทศจากการมุ่งมั่นลงทุนพัฒนานวัตกรรม จากปี 1953 จีดีพีเกาหลีใต้อยู่ที่ 1.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 67 เหรียญสหรัฐต่อประชากร แต่ในปี 2023 จีดีพีขยับขึ้นไปที่ 1.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 3.3 หมื่นเหรียญสหรัฐต่อประชากร เมื่อดูสัดส่วนการลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ปี 2018 เกาหลีใต้อยู่อันดับสองของโลก ใช้เงินถึง 4.81% ของจีดีพี”

ขณะที่ประเทศไทย ในปี 2020 ใช้เงินไปกับการวิจัยและพัฒนา คิดเป็น 1.33% ของจีดีพี หรือราว 2 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 6.6 พันล้านบาท และเอกชน 1.41 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2021 อยู่ที่ 1.21% ของจีดีพีหรือราว 1.95 แสนล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐ 5 หมื่นล้านบาท และเอกชน 1.44 แสนล้านบาท

“เกาหลีใต้มีตัวเลข 3-5% ของจีดีพี ขณะที่เราใช้ไปประมาณ 1% ในขณะนี้อาจดูน้อย แต่เป็นพื้นฐานสะสมที่สำคัญที่จะช่วยอัพสปีดประเทศได้ 50 ปีที่แล้ว คนเกาหลี 2 ชั่วอายุคนที่ใช้เงิน 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐประมาณ 5% ของจีดีพีต่อเนื่องมาตลอด เมื่อเทียบกับประเทศไทยในช่วง 20 ปีมานี้ เราใช้ 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ พอเวลาผ่านไปคุณก็เริ่มเห็นความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงจากประเทศกำลังพัฒนาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่ทำให้เขามีบริษัทระดับโลก เช่น Samsung, LG และอื่น ๆ หลุดจากรายได้ปานกลาง”

รวมพลัง Team Thailand

“อารักษ์” กล่าวว่า การประกาศขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลให้ได้ 30% ของจีดีพีของประเทศไทย เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยอย่างน้อย 30% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลต้องมาจากนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องมีการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ภายใต้ในแนวคิด Team Thailand เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งต้องการ ecosystem และพันธมิตรที่แข็งแกร่งและหลากหลาย ข้ามอุตสาหกรรม และสามารถดึงคนที่มีความสามารถจากต่างประเทศ แม้แต่คนไทยที่มีความสามารถมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำธุรกิจอยู่นอกประเทศ

“จะทำอย่างไรจึงจะเชื้อเชิญให้เขาเข้ามาลงทุนและทำธุรกิจภายในประเทศ ที่มีโครงสร้างพื้นฐานและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียบพร้อม”