อาทิตย์ SCBX หนุนเปิดเพดานปล่อยกู้กลุ่มเสี่ยง เปลี่ยน “ระบบเช่า” แทน “ให้สินเชื่อ”

อาทิตย์ นันทวิทยา
อาทิตย์ นันทวิทยา

“อาทิตย์” บริษัท เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCBX มองปล่อยกู้กลุ่มเสี่ยงไม่ควรมีเพดานกำหนดตามแนว Risk Based Pricing เผยจับมือ KakaoBank ขอไลเซนส์ Virtual Bank หวังเจาะกลุ่มเข้าไม่ถึงการเงิน พร้อมเปลี่ยนแนวคิด “ระบบเช่า” แทน “การปล่อยกู้” ช่วยลดหนี้ครัวเรือน นำร่องกลุ่มจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3 หมื่นคัน ภายใน 1-2 ปี

วันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนวทางการคิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยง (Risk Based Pricing) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าไม่ควรมีเพดานอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากลูกค้ามีความเสี่ยงแตกต่างกัน ควรให้คิดอัตราดอกเบี้ยขึ้นและลงตามความเสี่ยงของลูกค้า ซึ่งไม่ควรมีลิมิตหรือมีเพดานดอกเบี้ย เพราะหากผู้กู้เป็นลูกค้าดีก็ควรได้รับดอกเบี้ยต่ำ เพราะถ้าคิดดอกเบี้ยสูงจะไม่มีลูกค้ามากู้ ซึ่งหากต้องการให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อกลุ่มเสี่ยงขึ้นภายใต้อัตราดอกเบี้ยเท่าเดิมธนาคารก็จะไม่กล้าปล่อย

ดังนั้น เป้าหมายส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับ KakaoBank จัดตั้ง Consortium เพื่อเตรียมความพร้อมในการยื่นขอใบอนุญาต (License) การจัดตั้ง Virtual Bank จาก ธปท. ส่วนหนึ่งต้องการแก้ปัญหาให้กับคนไทยที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินในระบบ (Underserved) และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะไม่ได้เป็นการปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว โดยมีทั้งเงินฝาก เพื่อส่งผ่านต้นทุนที่ถูกลงไปยังผู้กู้กลุ่ม Underserved ให้สามารถเข้าถึงลูกค้า

โดยที่ผ่านมากลุ่ม SCBX ได้ทำผ่านบริษัทมันนิกซ์ (MONIX) ที่ร่วมกับฟินเทคสตาร์ตอัพจากประเทศจีน ซึ่งปัจจุบันประสบความสำเร็จ แม้ว่าพอร์ตการปล่อยสินเชื่อจะไม่ได้ใหญ่มาก อยู่ที่ 6,000 ล้านบาท แต่กำลังมุ่งสู่ 1 หมื่นล้านบาท และทยอยมีผลกำไรสะท้อนว่าเดินมาถูกทาง

“เป้าหมายการขอ Virtual Bank เราจะเอาลูกค้าเป็นตัวตั้ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้าถึงแบงก์ไม่ได้ ซึ่งแน่นอนเราก็รับเงินฝากจากคนที่มีเงินเยอะกว่ามาปล่อยสินเชื่อ และเรามั่นใจใน Principle ที่จะทำอะไร และดีไซน์ออกมา”

นายอาทิตย์กล่าวต่อไปว่า สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 90% ของจีดีพี จะพบว่าหากไม่นับรวมในแง่วงเงิน จะเห็นว่าประมาณ 30% ของประชากรเป็นหนี้ที่วัดได้ แต่จะมีหนี้อีกกว่าครึ่ง หรือ 50% ที่ยังพึ่งพานอกระบบ ซึ่งเรามีหนี้ไม่รู้เท่าไร และมีหนี้ที่จะต้องได้รับการแก้ไขมากน้อยระดับใด นอกจากนี้ คนที่ไม่สามารถกู้ในระบบได้เผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าปกติ ซึ่งธนาคารไม่สามารถดูแลคนกู้นอกระบบได้ เนื่องจากมีคนกู้ในระบบธนาคารพาณิชย์เพียง 10% ที่สามารถดูแลได้

ดังนั้น SCBX อยู่ระหว่างการทดลองการเปลี่ยนระบบการปล่อยสินเชื่อ มาเป็นระบบเช่าให้กับกลุ่มลูกค้ารายได้น้อย โดยเริ่มจากกลุ่มคนขับรถจักรยานยนต์ ซึ่ง SCBX โดย Robinhood ซื้อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามาจำนวน 3 หมื่นคัน มาปล่อยเช่าให้กับคนขับ ซึ่งโดยรวมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายคนขับที่จากเดิมจะต้องเสียเฉลี่ย 300 บาทต่อวัน ลดลงมาเหลือ 150 บาทต่อวัน

โดยเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับ ธปท.เพื่อปรับเปลี่ยนแนวคิดมาสู่ระบบเช่า ซึ่งหลังจาก SCBX ได้เริ่มทดลองไปแล้ว แต่ยังคงติดข้อกำหนดบางอย่างที่จะต้องขออนุญาต ธปท.ในเรื่องของการเช่า ทั้งนี้ ตั้งใจเปลี่ยนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯ ก่อนเบื้องต้น 3 หมื่นคัน ภายในช่วง 1-2 ปี จากปัจจุบันที่มีรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันจำนวน 4 ล้านคัน

อย่างไรก็ดี ได้เริ่มทดลองเฟสแรกไปแล้ว นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดเรื่องของการให้เช่าโซลาร์รูฟท็อป หรือการรวมเข้าไปอยู่กับโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อให้ลูกค้าสามารถประหยัดและสามารถนำเงินที่ลดได้มาจ่ายค่าเช่าแทน โดยไม่ต้องกู้เงินเพื่อติดตั้งในราคา 4-5 แสนบาท

“วิธีการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนคือ ต้องเพิ่มรายได้ก่อน เนื่องจากกลุ่มฐานรากไม่ได้นำเงินไปใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย แต่เป็นการใช้จ่ายในการอุปโภค บริโภค และต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่จากการให้สินเชื่อมาสู่ระบบการเช่า ซึ่งเราเองก็ยังคงมีผลตอบแทนจากการเช่า ลูกค้าเองไม่ต้องกลับไปเป็นหนี้ และขณะเดียวกัน รถไฟฟ้าลดคาร์บอน และลดมาก ๆ เราสามารถนำคาร์บอนมาขายได้อีก มองว่าเราต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่”