AWC จุดพลุ Global Workplace ครีเอต “พิกุล” เชื่อมออนไลน์ออฟไลน์

วัลลภา ไตรโสรัส-ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร
วัลลภา ไตรโสรัส-ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร

ทิศทางอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยอยู่ในช่วงกำลังฟื้นตัว AWC หรือบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) บิ๊กอสังหาฯ และโรงแรมแบรนด์หรู ใช้จังหวะนี้จัดทัพธุรกิจจากออฟไลน์สู่ออนไลน์มากขึ้น ปรับโฉมอาคารสำนักงาน “เอ็มไพร์” ให้มีพื้นที่ coliving ที่ตอบโจทย์ผู้เช่า ทั้งด้านการงาน และการพักผ่อน

พร้อมไปกับความร่วมมือกับบริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม Pikul (พิกุล) หลอมรวมประสบการณ์ออนไลน์-ออฟไลน์ และช่องทางการชำระเงินผ่านอีวอลเลต และพรีเพดการ์ด เติมประสบการณ์การใช้โปรแกรมสิทธิประโยชน์ (AWC Infinite Lifestyle) ที่ให้ลูกค้าในโครงการของ AWC ทั้งในส่วนของโรงแรม อาคารสำนักงาน และคอมมิวนิตี้ ช็อปปิ้งมอลล์

ดัน Global Workplace

“วัลลภา ไตรโสรัส” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC กล่าวว่า ดีมานด์ในการใช้พื้นที่อาคารสำนักงาน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว บริษัทได้ปรับปรุงพื้นที่ภายในอาคารเอ็มไพร์ ในคอนเซ็ปต์ Co-Living Collective : Empower Future เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนทำงาน และองค์กรรุ่นใหม่ รองรับเทรนด์ที่ผสานการทำงานกับไลฟ์สไตล์เข้าด้วยกัน คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้ถึงต้นปี 2567 โดยหวังจะให้เป็นจุดหมายปลายทางของบริษัทระดับโลก (global workplace destination) ด้วยพื้นที่รวมกว่า 3 แสน ตร.ม. ปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้ 20,000 คนต่อวัน ผู้เช่าพื้นที่กว่า 70% เป็นบริษัทข้ามชาติ

“เราออกแบบพื้นที่ทำงาน และการใช้ชีวิต มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เหมือนทำงานที่บ้าน มี AWI โปรแกรมสิทธิประโยชน์ให้ผู้เช่า เกิดการสร้างเครือข่ายระหว่างกัน ส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ ผ่านการจัดกิจกรรม และเวิร์กช็อปต่าง ๆ เป็นดิจิทัลอีโคซิสเต็มที่อยากจะนำมารวมกันในพื้นที่นี้ ออฟไลน์คงไม่พอ ถ้าไม่มีออนไลน์แพลตฟอร์มให้ทุกคนรู้จักกัน และเชื่อมกันจึงร่วมมือกับ 2c2p ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มการชำระเงินระดับโลกที่เข้ามาเปิดสำนักงานแห่งใหม่ในตึกเอ็มไพร์ สร้างแพลตฟอร์มพิกุล”

โดยพิกุลจะเป็นการรวมประสบการณ์ออนไลน์และออฟไลน์เข้าด้วยกัน ทั้งการขาย, การส่งของขวัญ และเกมิฟิเคชั่นเพื่อแลกรางวัลในแอปพลิเคชั่น มีคอร์เป็นระบบชำระเงินผ่านอีวอลเลต และพรีเพดการ์ด

ครีเอต “พิกุล” เชื่อมนิเวศดิจิทัล

“เราอยากให้พิกุลเป็นโมเดลนำการท่องเที่ยวแบบใหม่ของไทยด้วย ทุกวันนี้สิ่งที่นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมี 2 อย่าง คือการจองโรงแรม และจองเที่ยวบิน ไม่ว่าจะจองอะไรก่อนก็ตามจะแยกจากกันหมด เราสามารถนำระบบเหล่านี้มาไว้บนแพลตฟอร์มพิกุล นักท่องเที่ยวไม่ต้องเข้าเว็บไซต์ ไม่ต้องกังวลเรื่องยาก ๆ อย่างเช่นเรื่องการชำระเงินเดิมที่ต้องใช้บัตรเครดิต แต่แพลตฟอร์มพิกุลจะแปลงได้เลย ทำให้ประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวดีขึ้นและนำไปสู่การจองไฟน์ไดนิ่ง จองรถลิมูซีน ทัวร์ และบริการอื่น ๆ จะตามมาได้ทั้งอีโคซิสเต็มบนแพลตฟอร์มพิกุล”

“ซีอีโอ AWC” อธิบายเพิ่มเติมว่า เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกทาง เพราะการเพิ่มช่องทางในการจับจ่ายทำให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยได้รับความสะดวกมากขึ้น ไม่ต้องพกเงินสด หรือพกแต่บัตรเครดิตอย่างเดียวแต่จะสแกนจ่ายได้หมดผ่านแพลตฟอร์ม “พิกุล” คาดว่าระบบจะพร้อมใช้ในต้นปีหน้า

“คนไทยใช้จ่ายออนไลน์มาก ไปที่ไหนก็สแกนได้ แต่นักเดินทางไม่มีบัญชีในไทยจึงจ่ายบนพร้อมเพย์ไม่ได้ ซึ่งพิกุลจะทำให้นักเดินทางทุกคนที่มาในเมืองไทยสแกนจ่ายได้หมด ในแง่เป้าหมายยังไม่ได้วางไว้ อยากให้โตอย่างมั่นคงมากกว่า มั่นใจว่าลูกค้าหรือนักเดินทางจะเชื่อมประสบการณ์การท่องเที่ยวของเขากับบริการในเครือเรา และพาร์ตเนอร์ด้วยดิจิทัลได้ดีขึ้น วันนี้ถ้าลูกค้าเข้ามาที่โรงแรมของ AWC จะได้รับการแนะนำให้เชื่อมเข้ากับพิกุล เพื่อจ่ายค่าโรงแรมก่อนเเล้วเพิ่มแอ็กเคานต์เข้าไปจากนั้นก็จะไปใช้จ่ายบริการอื่น ๆ ได้ ยูสเซอร์จะเริ่มจากลูกค้า AWC ก่อนขยายไปที่เน็ตเวิร์กของพาร์ตเนอร์ทั่วโลกกว่า 600 ล้านคน”

เสริมสปีดดึงนักท่องเที่ยว

และว่าในจำนวนนี้สมมุติมาไทย 300 ล้านคน แน่นอนว่า 300 ล้านก็ต้องเชื่อมเข้ามา แต่บริษัทไม่ได้คาดหวังขนาดนั้น คิดว่าแค่คนที่เข้ามาในไทยแล้วเชื่อมประสบการณ์เข้ามาจากคนที่เข้ามาในโรงแรมในเครือ AW 4 ล้านคนต่อปี (2 ล้านรูมไนต์) จาก 4 ไป 10 ล้านคน ค่อย ๆ เพิ่มไป เชื่อว่าถ้าโซลูชั่นของพิกุลตอบโจทย์ในที่สุดก็จะขยายได้เร็ว เพราะเป็นดิจิทัลโซลูชั่น

ด้าน “ปิยชาติ รัตน์ประสาทพร” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด หรือ 2c2p กล่าวว่าอยากให้ลูกค้าที่ไม่ค่อยเชื่อมั่นที่จะใช้บัตรเครดิต หรืออาจไม่มีบัตรเครดิตได้ใช้จ่ายผ่านวอลเลต โดยเติมเงินแล้วใช้ได้เลย เช่น ไปแลกเงินที่เคาน์เตอร์หน้าโรงแรมแล้วเติมเข้าไปในวอลเลตก็ใช้ได้ทั้งเครือ AWC หรือหากไปต่างประเทศก็มีบริการทุกประเทศในอาเซียนต่อกับระบบเพย์เมนต์ทั้งหมด สมมุติมาจากฟิลิปปินส์ก็ทำคอนเวอร์ชั่นเป็นเงินบาทเติมเข้าวอลเลตแล้วใช้ได้เลย

และจากการที่ 2c2p ทำระบบเพย์เมนต์ผ่านบัตรเครดิตให้สายการบินจำนวนมาก ได้เห็นว่าไฟลต์บินค่อนข้างจะเต็มแต่การใช้บัตรเครดิตยังมีอุปสรรค ซึ่งนักเดินทางจำนวนมากมองหาวิธีการจ่ายเงินที่หลากหลายขึ้น การใช้วอลเลตหรือคิวอาร์โค้ดข้ามประเทศได้จะช่วยดึงดูดคนและเม็ดเงินในการใช้จ่ายเมื่อเดินทางมาไทยได้มากขึ้น ถ้าสร้างจำนวนผู้ใช้ได้ถึง 20-30 ล้านคน ก็จะกลายเป็นคอมมิวนิตี้ใหญ่ที่บริษัทหรือแบรนด์อื่น ๆ อยากเข้าร่วมทำให้การเติบโตของอีโคซิสเต็มไปต่อได้เรื่อย ๆ ไม่สิ้นสุด

“วัลลภา” ทิ้งท้ายว่า AWC ยังคงอยู่ในธุรกิจเรียลเอสเตต แต่อยากเชื่อมต่อประสบการณ์ของผู้ใช้ที่ปัจจุบันอยู่ในโลกออนไลน์ เป็นการเมกชัวร์ว่าเรียลเอสเตตโมเดลของเรามีโอกาสไม่สิ้นสุด ซึ่งการสร้างประสบการณ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ถือเป็นการเพิ่มคุณค่า ทุกอย่างที่ทำจึงเชื่อมโยงกลับมาที่แกนกลาง คือประสบการณ์บนเรียลเอสเตต