ETDA ย้ำเดดไลน์ขึ้นทะเบียน “ดิจิทัลแพลตฟอร์ม” 18 พ.ย.นี้

ETDA โชว์ผลงานรอบปี เร่งกวาดแพลตฟอร์มแจ้งลงทะเบียนบริการดิจิทัลภายใน 18 พ.ย. 2566 เพื่อการส่งเสริมและกำกับดูแลแบบ Cocreation Regulator

วันที่ 22 กันยายน 2566 ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA เปิดเผยว่า การบังคับใช้ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มดิจิทัลฯ (พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565) ตั้งแต่ช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา เป็นการเน้นย้ำความสำคัญของการกำกับดูแลและส่งเสริมบริการดิจทัลให้เป็นมาตรฐานปลอดภัยและน่าเชื่อถือ

โดย พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐ ที่จะเข้าถึงข้อมูลสำคัญของแพลตฟอร์มที่คนไทยใช้งาน สามารถประเมินความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตของประชาชน ซึ่งการให้แพลตฟอร์มมาจดแจ้งขึ้นทะเบียนนี้ จะทำให้หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสามารถใช้ข้อมูลแบบร่วมกัน Cocreation Regulator เพื่อสร้างแนวทางหรือหลักเกณฑ์ที่ดี และไม่สร้างผลกระทบต่อทั้งแพลตฟอร์ม ประชาชน และระบบเศรษฐกิจ

“ที่ผ่านมามีการตอบรับที่ดี บริษัทและแพลตฟอร์มจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจมาลงทะเบียน ใครที่ยังไม่แน่ใจก็มีการส่งมาให้เราประเมินว่าเข้าข่ายต้องขึ้นทะเบีบนหรือไม่จำนวนมาก เรากำลังพัฒนาเครื่องมือในการจำแนกแพลตฟอร์ม และจัดความสำคัญว่าส่งผลต่อคนไทยมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีคนไทยใช้งานมาก อย่างเช่น โซเชียลมีเดีย หรืออีคอมเมิร์ซ”

“แต่ทั้งนี้ไม่อยากให้ผู้ให้บริการที่มาขึ้นทะเบียนและต้องทำตามเงื่อนไขข้อกฎหมายดังกล่าวรู้สึกว่าเป็นการบังคับให้ต้องทำมาตรฐานเพิ่มต้นทุน แล้วไปขึ้นราคาผู้ใช้ หรือไม่อยากให้พวกแพลตฟอร์มต่อต้าน อยากเชิญชวนให้มาลงทะเบียนเพื่อหาทางกำหนดวิธีการในการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส เป็นธรรมร่วมกัน หรือเป็น Cocreation Regulator”

ในช่วงปีนี้มีการเพิ่มความเข้มข้นของการกำกับดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้ พ.ร.ฎ.แพลตฟอร์มฯ หรือกฎหมาย DPS หรือ Digital Platform Services ที่บังคับใช้แล้วและเปิดระบบให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลมาจดแจ้งเพื่อทำตามมาตรฐานการส่งเสริมและกำกับธุรกิจบริการดิจิทัล

โดยในวันที่ 18 พ.ย. 2566 นี้ จะครบกำหนดในการเข้ามาแจ้งกับ ETDA สำหรับบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้งกรณีบุคคลธรรมดา มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท หรือกรณีนิติบุคคล มีรายได้เกิน 50 ล้านบาท หรือมีผู้ใช้งานเกิน 5,000 ราย ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษตามกฎหมาย

และจะมีการเปิดระบบ Digital Platform Assessment Tool ให้แพลตฟอร์มที่ไม่มั่นใจว่าเข้าข่ายต้องแจ้งหรือไม่ ได้มาประเมินคุณสมบัติด้วยตนเองแบบง่าย ๆ ที่สำคัญรู้ผลทันทีภายใน 5 นาที ล่าสุดมีแพลตฟอร์มทำประเมินนี้แล้ว 467 ราย

นอกจากนี้ ยังมีระบบ Preconsult ให้คำปรึกษา สำหรับการเตรียมข้อมูลเพื่อแจ้งเข้าระบบต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการออก Best Practice หรือแนวปฏิบัติที่ดี ผ่านกฎหมายลำดับรอง 9 ฉบับ ที่ครอบคลุมทั้งการคุ้มครองเยียวยาผู้ใช้บริการ เงื่อนไขการให้บริการ การจัด Ranking วิธีการลงทะเบียน ช่องทางการให้ความช่วยเหลือ การจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาท ฯลฯ

ขับเคลื่อน 4 มิติ ดันเศรษฐกิจดิจิทัล 30% GDP

วิสัยทัศน์ที่ ETDA เดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้เป้าหมายใหญ่สุดท้าทาย 30 : 30 ที่เปรียบเสมือนเป้าหมายที่ต้องเดินไปให้ถึงเส้นชัย ภายในปี 2570 นี้ ทั้งการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลต่อ GDP 30% และยกระดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของประเทศอยู่ใน 30 อันดับแรกของโลก

รอบปีที่ผ่านมา 2566 จึงได้เดินหน้าดำเนินงานในหลายเรื่อง โดยครอบคลุมใน 4 มิติ ดังนี้

1.Digital Infrastructure & Ecosystem

เร่งเครื่องธุรกรรมออนไลน์ที่น่าเชื่อถือ-ด้วย Digital ID ผ่านบทบาท Cocreation Regulator อย่างเต็มตัวกับการทำหน้าที่ในการส่งเสริม ผนวกกับการกำกับดูแลธุรกิจบริการ Digital ID หรือ IdPs ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ด้วยกลไกการดำเนินงานภายใต้กฎหมาย Digital ID ที่บังคับใช้แล้ว โดยได้เปิดให้ IdPs มายื่นขอประเมินเพื่อรับใบอนุญาต

ล่าสุดมี IdPs เอกชนที่ยื่นขอรับการประเมินกับ ETDA แล้ว 21 ราย และเปิด Preconsult สำหรับผู้ประสงค์จะประกอบธุรกิจบริการนี้ด้วยไปพร้อม ๆ กับการจัดทำกฎหมายลำดับรองให้การปฏิบัติตามกฎหมายชัดเจนขึ้น มีมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการใช้งาน Digital ID ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของแต่ละธุรกรรมออนไลน์ ให้ทุกภาคส่วนได้เลือกใช้งาน ให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบบริการ ให้กับผู้ให้บริการ

อย่าง ThaID หมอพร้อม เป๋าตัง และ NDID พร้อมขยายผลการใช้งานร่วมกับพาร์ตเนอร์ อย่าง DOPA เพื่อพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วยใบหน้า ร่วมผลักดันให้เกิดโมเดลการใช้งาน Digital ID สำหรับการทำธุรกรรมของนิติบุคคลร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) เป็นต้น

ซึ่งปัจจุบันคนไทยใช้งาน Digital ID เพิ่มขึ้นแล้ว 7,300,000 คน ผ่านแอป ThaiD (ไทยดี) แล้ว 6,021,096 คน แอป Mobile ID มากกว่า 85,000 คน และแอปเป๋าตัง มากกว่า 1.2 ล้านคน

2.Digital Service Governance

ลดความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน-เป็นสิ่งที่ ETDA ได้เปิดตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมากับศูนย์ ETDA Foresight ที่ปีนี้ได้มีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ทั้งรัฐและเอกชน จนได้มีผลการคาดการณ์ทั้งในด้านการท่องเที่ยวไทย จนไปถึงเรื่อง Mental Health

ในขณะเดียวกันก็มีสแกนหาสัญญาณอนาคตอย่างต่อเนื่องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการทำธุรกรรมทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นในด้าน Digital ID, AI และ Digital Transformation เป็นต้น ที่ได้มีการนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจผ่านงาน ETDA Foresight Symposium 2023 ในช่วงที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับการกำหนดทิศทางการดำเนินงาน

และยังส่งเสริมให้หน่วยงานในอุตสาหกรรมสำคัญ ที่เริ่มต้นกับกลุ่ม Healthcare เพื่อเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI อย่างมีธรรมาภิบาล ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือศูนย์ AIGC (AI Governance Clinic by ETDA) ที่คอยให้คำปรึกษาโดยทีมจากศูนย์ AIGC และ Expert Fellowship ทั้งในไทยและต่างประเทศ

โดยในปีนี้ได้มีการออก AI Governance Guideline for Executives เพื่อเป็นกรอบการประยุกต์ใช้ AI อย่างมีธรรมาภิบาลเป็นครั้งแรกของประเทศ โดยได้มีหน่วยงานทางด้าน Healthcare ให้ความสนใจ สู่การจัด Workshop ระดับหน่วยงานร่วมกัน มีการเพิ่มความรู้ ความเข้าใจในระดับนโยบายผ่านหลักสูตร AI Governance Program (AiX) รุ่นที่ 1 สำหรับอุตสาหกรรม Healthcare ที่เตรียมขยายในปีต่อไป

และยังมีการปล่อยผลสำรวจ AI Readiness Measurement 2023 ที่ได้ช่วยสะท้อนความพร้อมด้านการประยุกต์ใช้ AI ของหน่วยงานไทย ให้ทุกภาคส่วนนำไปเป็นฐานข้อมูลเพื่อกำหนดนโยบายและวางกลยุทธ์ได้อย่างตรงจุด

3.Digital Adoption & Transformation

คนไทยทุกภาคส่วน พร้อมเปลี่ยน สู่โอกาสใหม่-ETDA ได้นำความรู้ ประสบการณ์ทั้งจาก ETDA และพาร์ตเนอร์ เพื่อสร้างโอกาสในทางธุรกิจ และองค์กรที่ต้องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปลดกระบวนการ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจอย่างสอดคล้องกับกฎหมาย มาตรฐาน หรือมาตรการที่เกี่ยวข้อง

โดยปัจจุบัน ETDA มี ETDA Sandbox หรือสนามทดสอบนวัตกรรมหรือบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันมี 2 ส่วน ได้แก่ Digital Service Sandbox เน้นทดสอบบริการในประเภทที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ผ่านมาจะมีทั้ง e-Document, e-Signature และ Digital ID

โดยในปี 2566 ส่วนที่เปิดคือ ให้ทดสอบ e-Timestamp หรือการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบันได้มีบริการเข้ามาทดสอบสะสมอยู่ 15 ราย และ Innovation Sandbox เพื่อเป็นสนามทดสอบนวัตกรรมใหม่ ๆ รองรับอนาคต อยู่ระหว่างการทดสอบ 2 ราย

ในส่วนของการศึกษาความพร้อมที่ช่วยสะท้อนสถานะของ SMEs ไทย ทาง ETDA ได้มีผลการศึกษา Digital Transformation Maturity 2023 ที่จะมีการนำไปทดลองให้เกิดต้นแบบ สนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการธุรกิจ สำหรับบริการอื่น ๆ ที่ ETDA เปิดให้บริการ

จะมีทั้งในส่วนของบริการโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการสร้างเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ระบบบริการลงประทับเวลาเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Timestamping) ที่มีการให้บริการไปแล้ว 19,667,446 ฉบับ (ที่จะสิ้นสุดการให้บริการระบบ e-Timestamping ในวันที่ 30 ก.ย. 2566 นี้ เพื่อให้ภาคเอกชนได้ให้บริการ)

ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรองรับผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี (e-Tax Invoice by Email) ที่เชื่อมโยงกับกรมสรรพากร ที่มีการให้บริการไปแล้ว 822,094 ฉบับ ระบบตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (Web Validation) ที่มีจำนวนข้อมูลที่ให้บริการไปแล้ว 88,364 ฉบับ (ข้อมูลสะสม ณ เดือนสิงหาคม 2566)

พร้อมเฟ้นหานวัตกรรมตอบโจทย์ความต้องการ SMEs ผ่านการจัดกิจกรรม Hackathon ประจำปี ทั้ง Hack for GOOD (Well-being) ในภาคเหนือ และ Hack for GROWTH (Tourism) สำหรับทั่วประเทศ

4.Digital Workforce, Literacy & Protection

เสริมทักษะคนไทย สู่แรงงานดิจิทัล ที่รู้เท่าทัน-ไปกับสถาบัน ADTE by ETDA ด้วยการอบรมและให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลในประเด็นเฉพาะด้านสำหรับองค์กรและผู้ที่สนใจ เช่น การประยุกต์ใช้ Digital ID, e-Signature, e-Document ให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะ SMEs ให้พร้อมเปลี่ยนผ่านกระบวนการทำงาน การทำธุรกิจและการให้บริการด้วยดิจิทัล

โดยในปี 2566 มีผู้ผ่านอบรม จำนวน 2,679 คน และรับคำปรึกษา จำนวน 326 ราย พร้อมร่วมกับสถาบันการศึกษา 4 ภูมิภาค เดินหน้าโปรเจ็กต์ ETDA Local Digital Coach (ELDC) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ได้พัฒนาโค้ชดิจิทัลชุมชนอย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ได้เพิ่มมาอีก จำนวน 981 คน เพื่อการลงชุมชน ต่อยอดสินค้าและบริการสู่ออนไลน์ ปีนี้ได้มาอีก จำนวน 126 ชุมชน พร้อม ๆ กับการสานต่อกิจกรรม Boosting Craft Idea ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเฟ้นหาและร่วมพัฒนา Business Model ที่เหมาะสมสำหรับสินค้าและบริการในชุมชน

ในขณะเดียวกันสำหรับเยาวชน ประชาชน ผู้สูงอายุ รวมไปถึงการต่อยอดไปยังกลุ่มคนพิการทางด้านการได้ยิน ผ่านโครงการ ETDA Digital Citizen หรือหลักสูตร EDC ที่เป็นโครงการในการส่งต่อความรู้ในการใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ รู้เท่าทันภัยออนไลน์ที่ปีนี้มีคนไทยเข้าร่วมหลักสูตรและอบรมแล้วกว่า 30,000 คน พัฒนาจนได้ EDC Trainer สะสมไม่น้อยกว่า 1,000 คน

และคนไทยเข้าถึงสื่อภายใต้หลักสูตร EDC ทางออนไลน์สะสมกว่า 30 ล้าน ควบคู่ไปกับการเปิดโอกาสผ่านเวที EDC Pitching สำหรับทุกคนในสังคมที่มีไอเดีย กับแคมเปญ “ศิลปะการป้องกันตัวจากภัยออนไลน์” จนได้ผลงานที่จะนำไปสู่การต่อยอดในปีต่อไป

อีกหนึ่งงานสำคัญที่ช่วยให้ Ecosystem ของการส่งเสริมการทำธุรกรรมทางออนไลน์ของคนไทยมีความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น คือ งานของสายด่วน เบอร์ 1212 ETDA หรือศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ที่ให้บริการรับเรื่องร้องเรียน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้คำปรึกษาให้คนไทยเข้าถึงการคุ้มครองได้เร็วขึ้น

และได้มีการขยายช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนผ่านทาง LINE และสำนักงานสถิติจังหวัด ที่ปี 66 นี้มีผู้ติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ และปรึกษาปัญหาทางออนไลน์ จำนวน 53,752 ครั้ง โดยได้แก้ไขปัญหาไปแล้วคิดเป็น 95.25% จากปริมาณทั้งหมด และยังผนวกการทำงานเชิงรุก โดยการลงพื้นที่ให้ความรู้ใน 4 ภูมิภาค จำนวน 22 จังหวัด