“ชิตเบียร์” นักปั้นสตาร์ตอัพ สู่แนวคิด “ต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ”

วิชิต ซ้ายเกล้า
วิชิต ซ้ายเกล้า

วงการคราฟต์เบียร์อาจคุ้นเคยชื่อ “วิชิต ซ้ายเกล้า” เจ้าของร้าน Chit Beer ผู้บุกเบิกการต้มเบียร์ดื่มเองบนเกาะเกร็ด เปิดโรงเบียร์แบบถูกกฎหมาย พร่ำสอนผู้คนที่สนใจคราฟต์เบียร์ ด้วยความหวังอยากเห็นคนตัวเล็ก ๆ พึ่งพาตนเองได้ โดยใช้การ “ต้มเบียร์” เป็น “สาร” หรือ “หัวเชื้อ” ส่งต่อแนวคิด “ต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ”

ในเวลาเดียวกัน ยังเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า และผู้ก่อตั้งเทคสตาร์ตอัพไทยยุคแรก ๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “วิชิต ซ้ายเกล้า” หลากหลายแง่มุม เบื้องหลังแนวความคิด และความตั้งใจ หลังเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมจากอเมริกา จากวันที่คนไทยแทบไม่เคยมีใครได้ยินคำว่า “สตาร์ตอัพ”

ต้นทุนต่ำ ความพยายามสูง

“วิชิต” ย้อนเล่าถึงที่มาในวัยเด็กว่า เกิดมาในครอบครัวที่ค่อนข้างลำบาก ทางเดียวที่จะทำให้ครอบครัวดีขึ้น คือการเรียน แต่ถ้าจะรอให้เรียนจบมหาวิทยาลัยก็ไม่รู้จะช้าไปไหม จึงตัดสินใจสมัครสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร (รุ่นที่ 31) จากโรงเรียนเตรียมทหาร สู่โรงเรียนนายร้อย จปร. (รุ่นที่ 42) และสอบชิงทุนได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ

“ตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือ ชอบฝัน ผมสอบเข้าได้ที่ 2 ของกองทัพบก จากพัทลุง พอจบเตรียมทหารก็เป็นที่หนึ่งของรุ่น ตอนเรียนมี อ.ท่านหนึ่งบอกว่า เวลาขึ้นโรงเรียนเหล่ามาแล้วจะมีทุนเมืองนอก 7 ทุน เรารู้แล้วว่าเราจะทำอะไรต่อ ตั้งแต่วันนั้นพอเขาปิดไฟนอนตอน 3 ทุ่มก็แอบขนหนังสือไปอ่านในห้องน้ำถึงตีหนึ่งทุกคืน พี่เป็นคนแบบนี้ เรารู้ว่าเราต้องการอะไร ทำเต็มที่”

ทำอย่างนี้ทุกวัน ในที่สุดก็สามารถสอบได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาตรี-โท

“ตอนแรกจะเลือกไปอังกฤษ แต่พอกลับมาคุยกับลุงที่บ้าน ลุงบอกอย่าไปเลยประเทศเล็ก อเมริกาใหญ่ หลากหลายกว่า ก็เลยเปลี่ยนใจไปอเมริกา จบ ป.ตรีวิศวกรรมไฟฟ้า โรงเรียนนายร้อยเวอร์จิเนีย (VMI) จริง ๆ อยากเข้า WestPoint คะแนนไม่ถึง ทำให้รู้สึกว่าเราต้องพยายามมากขึ้นอีก พออยู่เวอร์จิเนียก็ตั้งใจมาก หาเขาลูกใหม่ปีนได้แล้ว คิดว่าต้องเรียนจบที่หนึ่งของรุ่นที่นี่ เพื่อให้ชื่อสลักที่กำแพงโรงเรียน”

ผมเชื่อว่า ถ้าเราทำมากกว่าคนอื่น ทำนานกว่าคนอื่น “เบื้องบน” ไม่เคยปฏิเสธ โลกจะให้รางวัลกับคนทำงานอย่างหนัก และต่อเนื่อง

“พอจบโทแล้วก็ยังอยากเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่เมืองนอกมากขึ้นไปอีก คิดถึงการเรียนต่อปริญญาเอก แต่ตามกำหนดที่ได้ทุนมาจะต้องกลับแล้ว จึงตัดสินใจเขียนจดหมายส่วนตัวหา ผบ.ทบ.ตรง ๆ เลย ไม่ได้รู้จักท่านส่วนตัว แต่เขียนไปขอตรง ๆ เลยว่าขอเรียนต่อเอกได้ไหมอีก 5 ปี แต่ไม่ขอทุน แค่ขอเวลา แล้วเขาก็อนุมัติเป็นคนแรก พี่ก็ไปถูพื้น เสิร์ฟอาหาร เป็นไลฟ์การ์ดสระว่ายน้ำโอลิมปิก และเป็นโปรแกรมเมอร์เขียนซอฟต์แวร์ให้นอร์เทลเน็ตเวิร์กของแคนาดา ทำงาน-โอทีได้เงินใช้จ่าย และก็เทคคลาส เพื่อเรียน ป.เอกไปด้วย”

ในช่วงท้ายของการเรียน ป.เอก ตั้งใจว่าจะออกจากงานมาทำวิทยานิพนธ์ให้เสร็จ แต่ยังไม่ทันขอลาออก บริษัทมีการปรับโครงสร้าง และเลย์ออฟ จึงได้เงินชดเชยแถมมาด้วย

“แทนที่จะเสียใจ กลับดีใจ เพราะมีเงินมากพอให้เรียนจบ และเหลือพอที่จะกลับไปตั้งต้นธุรกิจในไทยได้ด้วย พี่อยู่อเมริกา 11 ปี ไปตอนอายุ 19 ช่วงท้าย ๆ อยากกลับบ้านทุกวัน”

ปั้นสตาร์ตอัพบนเครื่องบิน

“วิชิต” เล่าว่า วันที่นั่งเครื่องบินกลับบ้าน 30 ชม. ไม่นอนเลย เขียนไดอารี่ตลอดเวลาว่า ฉันต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ได้ร่ำเรียนมา

“ถ้าอยู่เมืองไทยอาจมองไม่เห็น แต่เมื่อไปอยู่ข้างนอกแล้วมองเข้ามาจะเห็น ทำให้การกลับบ้านรอบสุดท้าย ได้ตังค์จากบริษัทที่่ทำงานด้วยมาก้อนหนึ่งก็ตั้งใจเลยว่ากลับไทยครั้งนี้ ตั้งใจจะกระโดดข้ามแม่น้ำเชี่ยวตั้งแต่วันแรกใช้ความรู้เชิงเทคนิคที่มีทำอะไรสักอย่าง ช่วงปี 2544-2547 มีคำว่า Creative Economy และนวัตกรรมเต็มไปหมด จึงน่าทำอะไรที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ”

บริษัทแรกที่ตั้งขึ้นมา ชื่อ บริษัท เอ็กซ์เซ้นส์ อินฟอร์เมชั่น ทำเกี่ยวกับเซ็นซิ่งฮาร์ดแวร์บนรถ และตัวซอฟต์แวร์ให้เพื่อควบคุมบริหารจัดการการขนส่งได้

“ผมได้ดูซีรีส์แนวสืบสวน มีฉากตำรวจหาหลักฐานรถขนอาหารทะเลแล้วต้องเข้าไปหาฐานข้อมูลขนส่งทางบก เหมือนวันนี้ถ้าอยากรู้รถทะเบียนอะไร ดูได้จาก GPS Tracking หนังเรื่องนั้นทำให้ได้ไอเดียว่าที่ไทยยังไม่มี พอกลับมาก็ไปเช่าออฟฟิศที่ตึกซอฟต์แวร์ปาร์ก เปิดบริษัท วันธรรมดาไปสอนหนังสือที่โรงเรียนนายร้อย เสาร์-อาทิตย์ มาทำบริษัท ทำอยู่ 3 ปี เงินเริ่มหมด สิ้นเดือนต้องจ่ายเงินให้ลูกน้อง ตัวเองเงินเดือนไม่มีไม่เป็นไร แต่ลูกน้อง 2-3 คน ต้องมี จำได้เลยว่าตอนนั้น ต้องไปใช้บริการ Easy Buy เพราะมีรายได้จากเงินเดือนทหาร 2 หมื่นกว่าบาทเท่านั้น”

วงเงินที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเงินด่วนในครั้งนั้น คือ 80,000 บาท

“ผมกรอกโปรไฟล์ว่า จบ ดร. และกำลังทำบริษัท ได้เงินมา 8 หมื่น รู้สึกเจ็บใจนะว่า ค่าตัวเราได้แค่นี้เหรอ ช่วงแรกลำบากมาก แต่ต้องทำตามสัญญากับรุ่นพี่ และเพื่อนที่มาลงเงินกับเรา เพราะบริษัทนี้มาจากไอเดียของผม โชคดีว่ามีสำนักงานวัตกรรม เข้ามาช่วยให้ได้ไปเสนอธุรกิจกับเอสซีจี ตอนนั้นมีระบบจัดการโลจิสติกส์ที่ดีอยู่แล้ว ผมเลยขอให้ลองใช้ระบบเราบางเส้นทาง เริ่มที่ภาคใต้ ซึ่งเส้นนั้นคนขับค่อนข้างเกเร ควบคุมพฤติกรรมไม่ได้ มีอุบัติเหตุบ่อย เรานำอุปกรณ์ไปติดตั้ง 200 ชุด ปรับปรุงการขนส่ง จากรถที่วิ่งได้เที่ยวเดียวต่อวันเป็น 2 เที่ยวต่อวัน และมีการนำระบบติดตามไปใช้บริหารฟลีตเรือ และรถของโรงงานปูนซีเมนต์ด้วย”

โซลูชั่น “ฟลีต เพอร์ฟอร์แมนซ์ อิมพรูฟ”ยังได้รางวัลรองชนะเลิศในโครงการเอสซีจีนวัตกรรมในปีนั้นด้วย “เอสซีจี โลจิสติกส์”จึงใช้โซลูชั่นนี้แทบทั้งหมด บริษัทจึงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากพนักงาน 4-5 คน เป็น 50 คน มียอดขายจากค่าบริการรายเดือนกว่า 120 ล้านบาท

ต่อยอดแตกบริษัทใหม่

“วิชิต” ไม่หยุดอยู่แค่นั้น เขามีไอเดียว่า ทำไมไม่ทำซอฟต์แวร์ที่จับคู่ระหว่างคนอยากใช้รถ และคนมีรถ คอนเซ็ปต์เดียวกับแพลตฟอร์มเรียกรถทุกวันนี้

“พูดตอนนั้นเป็นเรื่องแปลก คนยังมองไม่ออก ผมอยากแก้โจทย์ที่ทำให้รถล้านคันขึ้นมาอยู่บนแพลตฟอร์มเดียว ปี 2011-2012 จึงออกมาตั้งอีกบริษัท ชื่อ ดีเอ็กซ์ อินโนเวชั่น ตอนนั้นหน่วยงานด้านนวัตกรรมอยากให้มีคนพัฒนาโซลูชั่นโลจิสติกส์พอดี จึงเสนอโครงการเข้าไปได้มา 1 ล้านบาท จากค่าตัว 8 หมื่นบาท วันนี้มีคนให้มา 1 ล้านก็ดีใจ เราก็พาไปดู ฟลีตโซลูชั่น ว่าสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้งานได้อย่างไร ให้เห็นว่าเรามีศักยภาพในการเขียนโซลูชั่น

ผมต้องการขยายส่วนแบ่ง เพราะรู้ว่าในอนาคตรถทุกคันต้องติดจีพีเอส กลับมาทำบริษัทใหม่ทุนตั้งต้น 1.4 ล้าน ช่วงนั้นยังไม่มีคลาวด์ ต้องซื้อเซิร์ฟเวอร์ 2 แสน เหลือ 1.2 ล้าน กับคนอีก 4-5 คน”

ถ้าคิดแบบสตาร์ตอัพ ด้วยเงินทุนเท่านี้ บริษัทจะมีอายุแค่ 6 เดือน จึงต้องเร่งทำงานหลายส่วนพร้อมกัน

“พอขึ้นแขนขาแพลตฟอร์มได้ เราก็ระดมหารายชื่อบริษัทขนส่งโลจิสติกส์ ได้มา 300 กว่ารายชื่อ แล้วส่งจดหมายเพื่อเสนอแนวคิดในการปฏิวัติวงการโลจิสติกส์ไทย เพื่อลดต้นทุน พร้อมแบบฟอร์มการสมัครสมาชิกแพลตฟอร์ม ดีเอ็กซ์เพรส มีคนกรอกส่งกลับมา 10 ราย แค่นั้นก็ดีใจมาก เพราะเกิน 3% จากนั้นก็ระดมสรรพกำลังควานรายชื่อเพิ่มเพื่อส่งไปอีก รอบนี้ตอบกลับมาจริง 40 กว่ารายเรารู้ว่าเรามีอายุ 6 เดือน ต้องรีบไปพิตชิ่งบริษัทที่คิดว่าเขาน่าจะซื้อไอเดียของเราแน่ ๆ คือ ซีอีโอ บริษัท จีซี เจเนอรัล อิเลคทรอนิค คอมเมิร์ซ ที่ทำเทคโนโลยีซัพพลายเชน ที่ทำ e-Ordering ให้ ปตท., เซเว่นฯ โลตัส มีเพย์เมนต์เกตเวย์เอง แต่ยังขาดโซลูชั่นแพลตฟอร์มแบบเรา”

และเขาก็ซื้อจริงๆ แต่มีโจทย์ว่าใน 3 ปี จะต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกบนแพลตฟอร์มให้ได้ 1 หมื่นราย ซึ่งทำได้ในปี 2015 มีสมาชิก 1.2 หมื่นราย ถือเป็นงานที่สนุกมาก ทำให้เห็นว่าคนเห็นค่าในเครื่องมือเรา จากนั้นไปเจอผู้ใหญ่ใจดีในวงการการเงิน พรีเซนต์ไม่ถึง 5 นาทีเขาก็ซื้อแล้ว เลยแบ่งหุ้นให้เขา 25% ได้เงินมา 20 ล้าน จำได้ว่านั่งรถไปรับเช็คลงมากับน้องอีกคนบอกว่าถ้าอยู่ซิลิคอนวัลเลย์ ต้องบินเฟิรสต์คลาสไปรับเงินจากนิวยอร์กกลับซิลิคอนวัลเลย์ แต่วันนั้นเราถือเช็ค 20 ล้านนั่งรถไฟฟ้าใต้ดินมานั่งกินเบียร์แถวสนามเป้า”

ต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ

“วิชิต” พูดถึงแนวคิด “ต้มเบียร์เปลี่ยนประเทศ” ว่าไม่ได้หมายถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย หรือเปิดเสรีสุรา แต่เป็นการส่ง “แมสเสจ” ที่ใหญ่กว่า คือเสรีภาพของมนุษย์ที่จะคิด และทำเพื่อตัวเอง

“ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย พื้นฐานคนต้องเชื่อในตน คิดด้วยตัวเอง และเมื่อประชาชนตระหนักว่าการคิดของตนเพื่อตนมีพลัง มันก็จะเปลี่ยนสังคมได้ ช่วยปลดล็อก และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในสังคมได้”

ที่เลือก “เบียร์” มาใช้ในการสื่อสาร เพราะเป็นสิ่งที่ชวนตั้งคำถามระหว่างสิ่งมึนเมา ผิดกฎหมาย กับความคิดง่าย ๆ “แค่ต้มเบียร์กินเอง ทำไมจะทำไม่ได้”

“จริง ๆ การต้มเบียร์เกิดจากความเหงา หลังจากทำบริษัทสตาร์ตอัพของตัวเองมาได้สักพัก แล้วมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการถือหุ้น และการบริหาร เริ่มมีเวลาว่างมาก สักปี 2554 ก็ไปเช่าบ้านบนเกาะเกร็ด ลองซื้ออุปกรณ์มาต้มดื่มเองและแจกจ่ายให้คนที่รู้จัก ปรากฏว่าเขาชอบ ก็มีกำลังใจ และต้มเรื่อยมา กระทั่งมีคนมาขอเรียนด้วย เกิดการรวมกลุ่ม และขยายตัวไปเรื่อย”

ในปี 2557 โดนจับในข้อหาต้มเบียร์เถื่อน แล้วมีเพื่อนชวนไปเที่ยวเยอรมนี พาไปดูโรงต้มเบียร์ขนาดเล็ก คิดว่าน่าจะทำแบบเดียวกันในไทยได้ จึงพยายามยื่นขอใบอนุญาตเพื่อตั้งโรงเบียร์ขนาดเล็กที่กฎหมายยังคลุมเครือ

“ช่วงที่ยื่นขอใบอนุญาตนั้นก็ยังโดนจับอยู่ 6-7 ครั้ง ในข้อหาเดิม แต่ไม่ถอดใจแล้ว เพราะวิธีคิดเปลี่ยน เป็นการต้มเบียร์เพื่อสื่อสารว่า เราทำกินเองที่บ้านได้ การต้มเบียร์ดื่มเอง คือการพึ่งพาตนเองอย่างหนึ่ง ลองนึกดูว่าทุกวันนี้เวลามีเรื่องเดือดร้อน เรามักวิ่งไปขอให้คนอื่นช่วย ขอให้รัฐช่วย หวังพึ่งแต่คนอื่น ทำให้เกิดระบบที่ให้อำนาจกับคนบางกลุ่มมากเกินไป ผมอยากทำอะไรสักอย่างที่ลดอำนาจคนได้”

การต้มเบียร์จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิดของคน ให้ตระหนักในตน ลดการพึ่งพาคนอื่น ถ้าคนไทยพึ่งพาตัวเองได้ ประเทศก็เปลี่ยนแล้ว