ตั้งหลักประมูลคลื่น 3500 MHz ปลดล็อก “ต้นทุน” โจทย์ใหญ่ กสทช.

รศ.ดร.สมภพ ภูวิกรัยพงษ์
รศ.ดร.สมภพ ภูวิกรัยพงษ์
สัมภาษณ์

เทคโนโลยี 5G ออกแบบมาเฉพาะทาง สำหรับงานด้านอุตสาหกรรม ทำให้มีการแยกคลื่น private 5G ออกมาเพื่อป้องกันการรบกวนจากสัญญาณย่านอื่น โดยเฉพาะกับย่านความถี่ 3500 MHz แต่การนำคลื่นย่านดังกล่าวมาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมอาจไม่ง่ายนัก ถ้าใบอนุญาตในการใช้คลื่นความถี่มีราคาสูง ดังเช่นการประมูลรอบก่อน ๆ ที่ค่ายมือถือแข่งกันหนักหน่วงเพื่อแย่งชิงแถบคลื่นย่าน 5G ทำให้ต้นทุนในการให้บริการพลอยไต่ขึ้นไปสูงลิบด้วย

เพราะไม่เฉพาะค่าใบอนุญาต แต่ยังต้องรวมไปถึงเงินลงทุนที่ต้องใช้กับการพัฒนาโครงข่าย และอุปกรณ์ทั้งหลายทำให้ไม่ง่ายนักที่จะผลักดันให้เกิดการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแถบคลื่นความถี่ที่เหมาะกับการใช้งานเฉพาะทางในโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ คือ คลื่นความถี่ในย่าน 3500 MHz ที่ใช้กันทั่วโลก

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “รศ.ดร.สมภพ ภูวิกรัยพงษ์” กรรมการ กสทช.ด้านโทรคมนาคม เกี่ยวกับแผนการนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลในปี 2567-2568 เพื่อส่งเสริมการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม รวมไปถึงปมปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผลักดันให้มีการใช้ private 5G

ความต้องการในการใช้คลื่น 5G

มีการหารือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายกลางและรายเล็ก หรือแม้แต่รายใหญ่เองว่าจะนำคลื่น 3500 MHz ออกมาจัดสรรได้เร็วที่สุดได้อย่างไร ได้ข้อมูลว่า ถ้า กสทช.จะประมูลใบอนุญาตเหมือนเดิม เขาก็คงต้องขอพับแผนไปก่อน เพราะปัญหาคือแพงมาก แม้แต่รายใหญ่เองยังเจ็บตัว แต่เราจะไม่ประมูลก็คงไม่ได้ กฎหมายออกแบบมาให้ประมูล ถ้าจะไม่ประมูลก็ต้องไปแก้กฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การประมูลมีหลายแบบ เรากำลังศึกษากันว่าจะออกแบบอย่างไร ซึ่งทางผู้ประกอบการเสนอ profit sharing เป็นการประมูลข้อเสนอว่า ถ้าเอกชนลงทุนทำโครงข่าย private 5G ไปแล้ว เมื่อมีรายได้และกำไรก็จัดเก็บเข้ารัฐ วิธีนี้ก็น่าสนใจ แต่ยังต้องศึกษาข้อกฎหมายก่อนว่าทำได้แค่ไหน ถ้าเทียบกับสมัยก่อน เราเลิกการตั้งกำแพงภาษี แต่รัฐก็มีรายได้ทางอ้อมจากเอกชนมากกว่าเก็บภาษีโดยตรงเสียอีก

โจทย์ คือ ทำอย่างไรจะสามารถนำคลื่นความถี่ที่มีมาใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด ไม่ใช่เก็บไว้ แต่ต้องมีข้อมูลยืนยันกับเอกชนรายย่อยรายกลางด้วยก่อนว่า มีดีมานด์เยอะพอให้เขาลงทุน

ในส่วนของโอเปอเรเตอร์รายใหญ่ ผมได้คุยกับบริษัทแม่ เขาไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่กับบริษัทลูกค่อนข้างกังวลเรื่องราคา ถ้ามีการนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลจริง ก็จะเข้าประมูล เราคงห้ามเขาไม่ได้ แต่ต้องไม่นำคลื่นนี้ไปรวมกับของเดิม เพื่อให้บริการ mass communication แต่ต้องใช้เฉพาะทางอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่เช่นนั้นคลื่นจะรบกวนกัน

ต้องการยูสเคส ไม่ใช่โชว์เคส

การใช้งาน 5G สำหรับอุตสาหกรรมที่ผ่านมาเป็นโชว์เคสมากกว่าการใช้งานจริง สำนักงาน กสทช.เองมีงบประมาณหลายร้อยล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้มีการทดลองใช้ 5G แต่ไม่เกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเลย

ปีนี้ก็ของบประมาณมา 50 ล้านบาท สำหรับโครงการ 5G แต่ผมบอกว่าขอพักไว้ก่อน ขอให้เลือกโครงการที่เจ๋งจริง ๆ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาเทคโนโลยีจริง ๆ ดังนั้นโครงการที่จะทำขอให้มีการรวมกันระหว่างโอเปอเรเตอร์ ผู้บูรณาการระบบ (SI) เวนเดอร์ และซัพพลายเชนต่าง ๆ ทั้งอีโคซิสเต็มให้เห็นดีมานด์ และเห็นยูสเคสจริง ๆ

คลื่น 3500 MHz มีคุณสมบัติการอัพลิงก์ข้อมูลจากเซ็นเซอร์ อุปกรณ์ไอโอที ตลอดจนเครื่องจักรอุตสาหกรรมสูงกว่าคลื่น 2600 MHz ที่มีใช้อยู่ขณะนี้ ทั้งมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่รองรับในตลาดโลกมาก เพราะทั่วโลกเขาได้พัฒนาคลื่นย่านนี้สำหรับ private 5G ในอุตสาหกรรมแล้ว ดังนั้นการลงทุนเพื่อใช้งานจะเหมาะสม และเป็นมาตรฐานโลก

ทุกวันนี้เราใช้คลื่น 5G เพื่อความบันเทิง และในแง่การใช้งาน แค่ 4G ก็เพียงพอแล้ว จริง ๆ 5G ถูกออกแบบมาใช้เฉพาะทางจะมีประโยชน์มากกว่า เราจึงเห็นว่าต้องเร่งหาทางนำคลื่นที่มีมาใช้ให้คุ้มค่า ต้องไม่ล่าช้าเกินไป เพราะประเทศรอบข้างเริ่มต้นนำร่องไปแล้ว ดังนั้นเราต้องเร่งนำคลื่นนี้ออกมาประมูล แต่ต้องส่งเสริมให้มีการใช้งานจริงด้วย

แนวทางในการจัดการใบอนุญาต

อีกทางเลือกที่เรากำลังหารือกับหลายส่วน คือ การแบ่งซองประมูลย่อย ๆ เพื่อให้เกิดการตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการ เช่น เราจะนำคลื่นที่มี 100 MHz แบ่งเป็นซองหนึ่ง 20 MHz, 10 MHz, 5 MHz เป็นต้น เพื่อเอื้อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมรายกลาง รายย่อย และ system integrator (SI) หรือเจ้าของโรงงาน เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมสามารถมาเลือกประมูลเพื่อนำไปใช้ให้เหมาะในพื้นที่เฉพาะของตนได้ แต่ก็ยังต้องดูข้อกฎหมาย และพูดคุยกันหลายส่วน

อีกทางที่น่าสนใจ คือ ชวนเจ้าของนิคมอุตสาหกรรม อย่างนิคมอมตะ หรือการนิคมฯ เข้าประมูลคลื่นเลย แล้วสนับสนุนให้ตั้งบริษัทย่อยหรือหน่วยธุรกิจเพื่อทำโครงข่ายคลื่น 3500 MHz เพื่อให้บริการกับโรงงานภายในพื้นที่ของตนเอง โดยมีผู้ประกอบการรายเล็กรายย่อยเข้าไปช่วยอีกที

ขีดเส้นประมูล Private 5G

ต้องยอมรับว่าการจะไปแก้กฎหมายเรื่องการประมูลคงยาก เพราะการแก้กฎหมายในสภาถือเป็นหนังชีวิต ดังนั้นการประมูลคงเกิดแน่นอน แต่จะเกิดแบบไหน เรากำลังหาวิธีการ จะต้องต่างจากครั้งก่อน และเอื้อให้รายย่อยเข้าแข่งขันได้มากขึ้น กระบวนการอาจใช้เวลายาวนาน

แต่วันนี้ได้เริ่มคุยกับภาคส่วนต่าง ๆ บ้างแล้ว เมื่อได้ทางออกก็ยังต้องรับฟังความเห็นอย่างเป็นทางการ ทำหลักเกณฑ์ และรายละเอียดต่าง ๆ คาดว่าจะพร้อมนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูลช่วงปลายปี 2567 ถึงต้นปี 2568

เร็ว ๆ นี้จะเข้าไปคุยกับสภาอุตสาหกรรมอีกครั้ง รวมถึงกับทางการนิคมฯด้วยว่าจะหาความต้องการ หรือการสนับสนุนให้ใช้ private 5G ได้อย่างไรบ้าง และจะสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม private 5G ได้อย่างไร

จากมุมมองผม คิดว่าบีโอไอน่าจะช่วยได้ เพราะไม่ใช่แค่เรื่องสิทธิพิเศษทางภาษี แต่เขามีเงินสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งกลุ่มเทคโนโลยีอยู่ในลิสต์แล้ว จะลองเข้าไปคุยดูว่าจะสามารถเพิ่มบริษัทที่ทำ private 5G เข้าไปเป็นพิเศษได้ไหม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุน

ตรงนี้ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงของเรา แต่เห็นว่าถ้าช่วยให้เอกชนเข้ามาแข่งขัน และพัฒนาการใช้คลื่นความถี่นี้ได้ สุดท้ายแล้วจะเกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจประเทศ เหมือนที่บอกว่าแม้รายได้จากใบอนุญาตจะน้อยลง แต่รายได้จากระบบเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี 5G จะกลับเข้าสู่รัฐมากกว่าค่าใบอนุญาตเสียอีก