ควบรวม AIS-3BB ฉลุย กสทช.ออกเงื่อนไข คุมแพ็กเกจ-คุมราคา

AIS3BB

เป็นอันชัดเจนแล้วว่า คณะกรรมการ กสทช.ซึ่งนัดประชุมวาระพิเศษ ครั้งที่ 12/2566 ในวันนี้ (10 พฤศจิกายน 2566) เพื่อพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทริปเปิ้ลทรี บรอดแบรนด์ จำกัด (3BB) มีมติ “อนุญาตควบรวม” 4 เสียง งดออกเสียง 1 หลังจากประชุมพิจารณา 6 ชั่วโมง และกำหนดเงื่อนไข คุมราคา คุมแพ็กเกจ และคุมคุณภาพ

คณะกรรมการ กสทช.นัดประชุมดังกล่าว หลังได้รับรายงานผลการศึกษา ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ ผลการศึกษาของเอกชนผู้ขอรวมกิจการ, ผลการศึกษาผลกระทบของคณะอนุกรรมการศึกษาการควบรวมกิจการของสำนักงาน กสทช., ผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ และผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจาก สำนักงาน กสทช.ว่า หลังประชุมร่วมกันเกือบ 4 ชั่วโมง ที่ประชุมได้พักการประชุมในช่วงเที่ยงกว่า เนื่องจากต้องไปร่วมงานถวายผ้ากฐินพระราชทาน แต่การประชุมในช่วงบ่าย ปรากฏว่าศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ได้แจ้งว่าป่วยกะทันหัน ขณะที่ พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมาย ไม่เข้าร่วมประชุมต่อได้

การประชุมช่วงบ่ายเริ่มขึ้นในเวลา 15.30 น. ซึ่งกรรมการที่กลับเข้ามาประชุมประกอบด้วย พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง, ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์, นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน, รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช.ด้านกิจการโทรคมนาคม

ถกเงื่อนไข ปกป้องผู้บริโภค

ก่อนการประชุมจะลงมติอนุญาตให้ควบรวมกิจการหรือไม่ แหล่งข่าวจากสำนักงาน กสทช.เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่อง “เงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ” หลังการควบรวมกิจการ รวมถึงการพิจารณาแนวทางการลงมติ ซึ่งเสียงคณะกรรมการแตก 2 ฝั่งว่า กสทช.มีอำนาจเพียง “รับทราบ” การควบรวมเหมือนกรณีทรู-ดีแทค หรือมีอำนาจ “อนุญาตหรือไม่” ตามที่เอกชนทำเรื่องขออนุญาตมา

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงมาตรการเฉพาะหลังการควบรวม ดังเช่นกรณีทรูและดีแทค แต่มีการหารือกันว่าอาจจะไม่ใช้วิธี “คุมราคา” เนื่องจากดำเนินการได้ยาก เพราะมีการปรับแพ็กเกจรูปแบบใหม่ ๆ ตลอดเวลา ทำให้การกำหนดมาตรการเฉพาะจึงจะพิจารณาที่การ “คงแพ็กเกจ” เดิมไว้ให้กับลูกค้า เพื่อให้เป็นทางเลือก หากจะมีการทำแพ็กเกจใหม่ ๆ ให้แจ้ง กสทช.ก่อน

“ผลการศึกษาทั้ง 4 ฉบับ ระบุตรงกันว่า การควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ไม่กระทบกับผู้ใช้วงกว้างเท่ากับมือถือ กรณีงานศึกษาของสำนักงานที่สำรวจประชากร 6,000 คน พบว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตประจำที่แค่ 3 คน ดังนั้นมาตรการเฉพาะอาจไม่เข้มงวดเท่ากับการควบรวมมือถือของทรูและดีแทค”

อีกส่วน คือ มาตรการเกี่ยวกับการใช้โครงข่ายร่วมกัน อาจจะมีการกำกับไม่ให้มีการลดการลงทุนมากจนกระทบต่อการให้บริการประชาชน

“เมื่อทั้ง 5 คนตกลงกันเรื่องการกำกับดูแลได้แล้ว จึงลงมติการควบรวมกิจการ” แหล่งข่าวกล่าว

เคาะเงื่อนไข คุมแพ็กเกจ-คุมราคา 5 ปี

ต่อมา เวลาประมาณ 20.20 น. หรือราว 2 ชั่วโมงหลังการรายงานว่า กสทช. มีมติ 4 ต่อ 1 อนุญาตการควบรวม ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าการประชุมอีกว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพโทรคมนาคม

 

AIS3BB

สภาผู้บริโภคเดินหน้าฟ้อง

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ อดีต กสทช. และประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ กสทช. เรียกร้องให้ใช้อำนาจ “ไม่อนุญาต” โดยระบุว่า การที่ประธาน กสทช.มีจุดยืนให้ความเห็นว่า กสทช.มีอำนาจเพียง “รับทราบ” การควบรวมกิจการ ในทางหนึ่งเข้าใจเอกชนที่ต้องการยื่นข้อเสนอควบรวมทางธุรกิจเหมือนกรณีทรูและดีแทคเคยทำมา

ดังนั้นจึงไม่ได้คัดค้านเอกชน แต่เป็นการเรียกร้องโดยตรงไปยัง กสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล ซึ่งมีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้ ให้ใช้อำนาจพิจารณาบนฐานของประโยชน์สาธารณะ และว่าหากมีการอนุญาตให้ควบรวมก็จะมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เหมือนกรณีทรูและดีแทค เนื่องจากมติ กสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในวงกว้าง

โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคได้อ้างการศึกษาของ 101 Policy Research ที่ระบุว่า การควบรวมระหว่าง AIS และ 3BB จะส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริการแพงขึ้น 9.5-22.9%

ก่อนหน้านี้ ความเห็นกลุ่มหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะต่อ กสทช. 5 ประการ คือ 1.ให้กำหนดเงื่อนไขหลังการควบรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB โดยให้ กสทช.กำหนดมาตรการในการกำกับดูแลด้านราคาที่เคร่งครัด เช่น กำหนดเพดานราคาค่าบริการ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของผู้บริโภค 2.กำหนดให้ผู้ให้บริการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ เพื่อให้บริการแก่ประชาชนที่อยู่ชายขอบเข้าถึงบริการได้ทั่วประเทศ

3.กำหนดให้ผู้ให้บริการรายงานว่ามีหน่วยงานใดขอข้อมูลผู้ใช้บริการไปดำเนินการอย่างไรบ้าง และมีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เป็นจำนวนตัวเลขให้ประชาชนทราบทุกปี เพื่อที่จะปกป้องข้อมูลในส่วนของข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้บริการ

4.กำหนดและกำกับดูแลคุณภาพการให้บริการของผู้ให้บริการ ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกันในแต่ละเจ้า ให้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกัน และ 5.กำหนดมาตรการในการทำให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในตลาด หรือสนับสนุนให้มีผู้เข้าแข่งขันรายใหม่เพิ่มขึ้น

สำหรับสภาพตลาดโทรคมนาคมประจำปี 2565 รายงานโดย กสทช.ระบุว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในปัจจุบัน มีมูลค่า 19,200 ล้านบาท มีผู้ให้บริการรายใหญ่ 4 ราย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดดังนี้ ทรู มีส่วนแบ่งตลาด 37.59% มีจำนวนผู้ใช้บริการ 4,972,252 ราย คิดค่าบริการเฉลี่ย 445 บาทต่อเดือน

ถัดมาเป็นบริการ 3บีบี มีส่วนแบ่งการตลาด 27.97% ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการ 3,700,000 ราย คิดค่าบริการเฉลี่ย 577 บาทต่อเดือน, เอไอเอส มีส่วนแบ่งตลาด 16.4% คิดเป็นจำนวนผู้ใช้บริการ 2,169,200 ราย ค่าบริการเฉลี่ย 407 บาทต่อเดือน และเอ็นที มีส่วนแบ่งการตลาด 15.52% ด้วยผู้ใช้บริการ 2,052,700 ราย ค่าบริการเฉลี่ย 480 บาทต่อเดือน และผู้ให้บริการรายอื่น ๆ รวมกันอีก 2.53% มีผู้ใช้บริการรวม 335,047 ราย

AIS ย้ำคอนเวอร์เจนซ์

ก่อนหน้านี้ นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การควบรวมกิจการของเอไอเอสและ 3BB มีความต่างจากการควบรวมของทรูและดีแทค ทั้งในเชิงกระบวนการที่เป็นการขออนุมัติจาก กสทช. ไม่ใช่ขอให้ “รับทราบ” อีกทั้งตัว “สินค้า” หรือบริการ เมื่อควบรวมแล้วก็ยังมีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลือถึง 3 ราย เพราะมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในไทยมีรายใหญ่ 4-5 ราย จึงไม่เป็น “ดูโอโพลี” และไม่เกี่ยวกับคลื่นความถี่ หากมีผู้ที่ต้องการเข้าสู่ธุรกิจนี้ก็ทำได้

“ยุทธศาสตร์หลังการควบรวมก็จะเป็นการหลอมรวม fix mobile convergence คือ การนำเสนอแพ็กเกจโมบายให้ลูกค้า 3BB และ AIS เรามองว่าเขาอยากจะใช้ทั้งสอง แต่ขึ้นอยู่กับลูกค้า โดยเฉพาะการเสนอแพ็กเกจมือถือให้ลูกค้า 3BB เขาจะอยากใช้หรือไม่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้า”