อีคอมเมิร์ซขับเคลื่อน ศก. อุตสาหกรรมดิจิทัลปรับโหมดมุ่ง “กำไร”

Jakie Wang
Jakie Wang

รายงาน e-Conomy SEA 2023 Report จัดทำโดย Google, Temasek และ Bain & Company ดำเนินการต่อเนื่องมา 8 ปี นอกจากชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล ที่ปีนี้ไฮไลต์อยู่ที่การระบุอย่างชัดเจนว่าบรรดาธุรกิจดิจิทัลในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนมุ่งเน้นการทำกำไรแล้ว

ขณะที่มูลค่าสินค้ารวม (gross merchandise value : GMV) ของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ขยับสูงขึ้นอย่างมากในปี 2566 มีมูลค่าสินค้ารวม 3.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะแตะ 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และเพิ่มเป็น 1-1.65 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 โดยตลาดอีคอมเมิร์ซยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยอย่างต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามูลค่า GMV จะสูงถึง 2.18 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 หรือโตขึ้น 11% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่รายได้เศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค จะแตะ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตที่เร็วกว่า GMV รวมของภูมิภาคถึง 1.7 เท่า

สแกน 5 เซ็กเตอร์ มุ่งกำไร

“แจ็กกี้ หวาง” Country Director บริษัท Google ประเทศไทย กล่าวว่า อุตสาหกรรมในเศรษฐกิจดิจิทัลมุ่งไปในเส้นทางสู่การเติบโตที่อยากมีกำไรอย่างเป็นรูปธรรม และเติบโตสูงสุดด้านความยั่งยืนทางการเงิน โดยรายงานนี้พยายามทำความเข้าใจภาพรวมการลงทุน เพื่อให้เห็นแลนด์สเคปการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัล ครอบคลุม 6 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ใน 5 เซ็กเตอร์หลัก คือ 1.อีคอมเมิร์ซ 2.การขนส่ง-ฟู้ดดีลิเวอรี่ 3.ออนไลน์แทรเวล 4.ออนไลน์มีเดีย โฆษณา เกม วิดีโอเพลงออนดีมานด์ และ 5.ภาคการเงินดิจิทัล

“ภูมิภาคอาเซียน แม้จะเจอความท้าทายเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหภาค แต่เห็นความยืดหยุ่นที่ค่อนข้างแข็งแรง จากตัวเลขจีดีพีที่ยังโตต่อเนื่อง อัตราเงินเฟ้อเข้าสู่ภาวะทรงตัว หลังโควิดที่มีการเหวี่ยงไปมา สามารถรักษาระดับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้ดีเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา และยังเติบโตไปได้เรื่อย ๆ ปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ภาคเอกชนพูดถึงความสำคัญในการทำกำไร ซึ่งช่วยให้เราเข้าใจสุขภาพทางการเงิน ไม่ใช่แค่ในมุมของรายได้ แต่ GMV เองก็เติบโต 11% มาอยู่ที่ 2.1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ”

อีคอมเมิร์ซโตต่อเนื่อง

สำหรับอีคอมเมิร์ซเป็นส่วนสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย คิดเป็น 61% ของ GMV ในปี 2566 ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 10% มีมูลค่าสินค้ารวม 2.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (compounded annual growth rate : CAGR) อยู่ที่ 16%

“ผู้ประกอบการเริ่มลดการจัดโปรโมชั่น และปรับส่วนลดเพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร แต่การเติบโตก็ยังดำเนินไป คาดว่า GMV ธุรกิจอีคอมเมิร์ซมีโอกาสแตะ 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573 เช่นเดียวกับฟู้ดดีลิเวอรี่ และการขนส่งผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ride hailing ที่อยู่ในแนวโน้มเติบโตเช่นกัน”

รายงานระบุว่า ทั้ง 2 อุตสาหกรรมใช้กลยุทธ์ “ลดโปรโมชั่น” และ “ลดแคมเปญ” จูงใจลูกค้าลงอย่างมาก เพื่อสร้างสัดส่วนระหว่างรายได้และกำไรใหม่

สำหรับ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” แม้สถานการณ์โควิดจะคลี่คลายลงไป แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังเหมือนเดิม ขณะที่อุตสาหกรรมขนส่งได้รับผลดีหลังโควิดจากความต้องการการเดินทางที่คืนสู่ระดับเดิม โดยคาดว่าธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2565

“วิลลี่ ชาง” ผู้บริหาร บริษัท Bain & Company กล่าวว่า เมื่อเทียบสัดส่วนการมีส่วนร่วมทางกิจกรรมของเศรษฐกิจดิจิทัล พบว่า กรุงเทพฯมีสัดส่วนการใช้จ่ายมากกว่าต่างจังหวัด แต่ในส่วนของอีคอมเมิร์ซพบว่าซัพพลายและดีมานด์ของการขนส่ง และอีคอมเมิร์ซทั่วประเทศมีความสัมพันธ์กัน และอยู่ในภาวะสมดุล จึงเป็นภาคส่วนที่เติบโตอย่างค่อนข้างมั่นคง ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นต้องเร่งปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ท่องเที่ยวออนไลน์ฟื้นช้า

ในส่วนของการท่องเที่ยวออนไลน์ (บริการจองเที่ยวบิน ที่พัก ทัวร์ และอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ) เป็นอีกตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2566โดยคาดว่าจะเติบโต 85% จากปีที่ผ่านมา มีมูลค่าสินค้ารวมแตะ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่ยังไม่กลับไปสู่ระดับก่อนโควิดที่สูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2562

“การท่องเที่ยวไทยขาเข้าฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะการเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด แต่คาดว่าการประกาศใช้นโยบายใหม่ของรัฐบาล เช่น การยกเว้นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวจีน และโครงการอื่น ๆ จะปูทางไปสู่การฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบในปี 2567”

ไทยครองแชมป์สื่อออนไลน์

จากรายงานยังระบุว่า ไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิ่งเรียกเก็บค่าสมาชิกใหญ่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคาดว่าจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค

โดยในปี 2566-2573 แม้จะมีข้อจำกัดด้านคอนเทนต์ที่เป็นภาษาท้องถิ่น แต่ผู้บริโภคชาวไทยเต็มใจที่จะสมัครใช้บริการวิดีโอ และเพลงออนดีมานด์จึงคาดว่าธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทยจะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้ เพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 16% ต่อปี มีมูลค่าสินค้ารวม 7 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568 และแตะ 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2573

ช่องว่างด้านดิจิทัลใน ตจว.

นอกจากกรุงเทพฯและปริมณฑลจะมีการใช้จ่ายด้านดิจิทัลสูงกว่าคนต่างจังหวัดแล้ว ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (high-value users : HVUs) หรือผู้มีกำลังซื้อสูงยังคิดเป็น 70% ของมูลค่าธุรกรรมดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใน 70% นั้นมาจากผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด 30% แรก

สำหรับประเทศไทย HVUs ใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (non-HVUs) โดยเฉลี่ย 7 เท่า โดยเฉพาะในส่วนของเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 64% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า สูงที่สุดในภูมิภาค

แม้กลุ่ม HVUs จะมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับการสร้างผลกำไรของธุรกิจ แต่กลุ่ม non-HVUs มีโอกาสเติบโตมากกว่าถึง 1.9 เท่า ดังนั้นการลดช่องว่างขจัดอุปสรรค และเพิ่มการมีส่วนร่วมของกลุ่ม non-HVUs มีความสำคัญต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา การลงทุนจากภาคเอกชนในอาเซียนลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี สอดคล้องกับสถานการณ์ต้นทุนของเงินลงทุนและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวงจรการระดมทุนทั่วโลกที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค รวมถึงไทย โดยการลงทุนในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 กลับมาสู่ระดับปกติ

ที่น่าสนใจ คือ นักลงทุนทุ่มเงินในกลุ่ม “บริการใหม่” ประกอบบริการระดับ Enterprise, เทคโนโลยีสุขภาพ, เทคโนโลยีด้านการศึกษา (EdTech), DeepTech/AI, Web3/คริปโต, อสังหาริมทรัพย์, ยานยนต์ เป็นต้น

“ธุรกิจต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร ต้องแสดงให้นักลงทุนเห็นแผนธุรกิจ และผลตอบแทนจากการลงทุน มีมูลค่าประเมินราคาเข้าสู่ตลาดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ด้วยโมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และสามารถทำได้จริง”

การเงินดิจิทัลโอกาสใหญ่ของไทย

จากการวิเคราะห์ตัวเลขของอุตสาหกรรมที่ 5 คือ บริการด้านการเงินดิจิทัล (digital financial services : DFS) พบว่าเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลในไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค ในปี 2566 ด้วยการสนับสนุนกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินแบบดั้งเดิม (ธนาคาร) และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกใบอนุญาตประกอบการธนาคารดิจิทัลในปี 2567 รวมถึงการขยายระบบผูกบัญชีพร้อมเพย์ช่วยให้คนไทยเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินได้มากขึ้น

บริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเติบโตเร็วที่สุดถึง 65% โดยมียอดสินเชื่อสูงถึง 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2566 และยังเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในภูมิภาคด้วย บริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัล คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเร็วที่สุดถึง 39% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

“บริการการเงินดิจิทัล ไม่ใช่โมบายแบงกิ้งของธนาคาร เพราะนั่นคือการเงินแบบดั้งเดิมที่อยู่บนดิจิทัล ซึ่งมีคนใช้เยอะมากอยู่แล้ว แต่บริการการเงินดิจิทัลแบบใหม่เป็นการย้ายรูปแบบสินเชื่อการฝาก เพย์เมนต์ ประกัน และอื่น ๆ ไปอยู่บนระบบดิจิทัล ซึ่งจะมีโอกาสอีกมากในการเติบโต”

ผู้บริหาร บริษัท Bain & Company ย้ำว่า การมีส่วนร่วมทางดิจิทัลในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการผลักดันกฎระเบียบการออกใบอนุญาตธนาคารดิจิทัลที่จะช่วยสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้คนไทยมากขึ้นด้วย