TikTok ยกระดับความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม

TikTok

“TikTok” ยกระดับความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม ดำเนินงานภายใต้ 3 ประเด็นสำคัญ ตั้งเป้าเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 นางสาวสิริประภา วีระไชยสิงห์ Outreach and Partnerships Lead, Trust and
Safety, TikTok กล่าวว่า

ความปลอดภัยของผู้ใช้งานและความถูกต้องของข้อมูลเป็นสิ่งที่ TikTok ให้ความสำคัญมาตลอด เรามีความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความปลอดภัยและต่อต้านข้อมูลอันเป็นเท็จบนแพลตฟอร์มด้วยการส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมีความรู้เพื่อป้องกันตนเองจากกลโกงหรือการหลอกลวงผ่านศูนย์ความปลอดภัย (Safety Center)

รวมถึงให้รู้เท่าทันข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านการแนะนำให้ทุกคนในคอมมิวนิตี้ของเรามีความตื่นตัว และระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลที่ละเอียดอ่อนต่าง ๆ

“เราทำงานบนพื้นฐานความเชื่อว่าความปลอดภัยและความถูกต้องไม่ได้เป็นเพียงฟีเจอร์หนึ่งในแพลตฟอร์ม แต่เป็นรากฐานสำคัญของการส่งมอบประสบการณ์การใช้ TiKTok อย่างมีคุณภาพให้แก่ผู้ใช้ทุกคน

ดังนั้นการใช้นโยบายความปลอดภัยการร่วมมือกับพันธมิตร และการริเริ่มกิจกรรมออนไลน์ต่าง ๆ จึงนับเป็นส่วนสำคัญในความพยายามอย่างต่อเนื่องของ TikTok ที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยบนแพลตฟอร์มให้กับทุกคนในคอมมิวนิตี้ และให้ผู้ใช้สามารถใช้งานบน TikTok ได้อย่างมั่นใจ”

โดยประเด็นด้านความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มที่ TikTok ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ แบ่งเป็น 3 ประเด็น ดังนี้

1. การต่อต้านข้อมูลที่บิดเบือนไม่เป็นความจริง (Anti-Misinformation)

TikTok ตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยมากกว่า 40,000 คนทั่วโลก ในการทำงานร่วมกับระบบอัตโนมัติ และใช้นวัตกรรมในการพัฒนาฟีเจอร์ด้านความปลอดภัย เช่น ศูนย์กลางข้อมูล (Information Hub), Information Tag และ Live Banner TikTok

อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถรายงานการหลอกลวงหรือกิจกรรมต้องสงสัยว่าเป็นการฉ้อโกงได้ทันที ผ่าน “Self Report” ภายใต้หัวข้อ “การฉ้อโกงและการหลอกลวง” ช่วยให้ทีมรักษาความปลอดภัยของแพลตฟอร์มสามารถตอบสนองได้อย่างรวดเร็ว

โดยรายงานแต่ละฉบับจะได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดและดำเนินการตามความเหมาะสมตามข้อเท็จจริงที่ค้นพบ รวมถึง TikTok ยังร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกมากกว่า 15 ราย เพื่อร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึง Agence France-Presse (AFP) สำนักข่าวชื่อดังระดับโลก และ COFACT ในประเทศไทย เพื่อต่อต้านข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

2. ความปลอดภัยของผู้เยาว์ (Minor Safety)

TikTok ได้นำความคิดเห็นของผู้ปกครองมาปรับใช้อย่างจริงจัง และนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือบนแพลตฟอร์มที่จะช่วยดูแลการใช้งานของผู้เยาว์ เช่น Family Pairing ที่ช่วยให้ผู้ปกครองปรับแต่งตัวกรองเนื้อหาสำหรับบุตรหลานของตนเองได้ นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Content Level ที่ช่วยคัดกรองความเหมาะสมของเนื้อหาสำหรับเด็กอายุ 13-17 ปีโดยเฉพาะ รวมถึง Refresh Your For You Feed ที่ช่วยให้ผู้ใช้ปรับแต่งฟีดเนื้อหาตามความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไป

นอกเหนือจากเครื่องมือในแพลตฟอร์มแล้ว TikTok ยังได้จัดตั้ง Youth Consultation ภายใต้ความร่วมมือกับ iNet และสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทยเพื่อรับฟังประสบการณ์ของผู้ใช้แพลตฟอร์มโดยตรง พร้อมดึงกลุ่มวัยรุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ปลอดภัยที่สุดให้กับทุกคนในคอมมิวนิตี้

3. สุขภาวะดิจิทัลและการให้ความรู้ทางด้านดิจิทัล (Digital Wellbeing and Digital Literacy)

TikTok ดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความสมดุลในการใช้งานผ่านฟีเจอร์ Screen Time Management ที่ประกอบไปด้วยการแจ้งเตือนเวลาหน้าจอรายวัน (daily screen time notifications) และการแจ้งเตือนการพักหน้าจอ (screen time break reminders)

ซึ่งออกแบบมาเพื่อให้ผู้ใช้ควบคุมการใช้งานแพลตฟอร์มได้อย่างอิสระ สามารถตั้งเวลาหน้าจอรายวันและรับการแจ้งเตือนเมื่อถึงขีดจำกัด ตลอดจนตั้งเวลาเตือนให้หยุดพักจากแพลตฟอร์มหลังจากใช้เวลาอยู่กับหน้าจออย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง รวมถึงมีฟีเจอร์แจ้งเตือนการนอนหลับ (sleep reminder) ที่ช่วยเตือนเมื่อใช้งานในเวลากลางคืนมากเกินไป

อีกทั้ง TikTok ยังมี Digital Literacy Hub ที่ทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

โดยจะให้ข้อมูลเชิงลึกที่รวมถึงกรณีศึกษาที่มุ่งเน้นด้านสุขภาพจิตและสุขภาพทางไซเบอร์ พร้อมคำแนะนำเชิงปฏิบัติเพื่อรับมือกับความกังวลในโลกออนไลน์และพฤติกรรมหลอกลวงต่าง ๆ ช่วยเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัยและความฉลาดทางดิจิทัลผ่านโมดูลการเรียนรู้เชิงตอบโต้ คอลเล็กชั่นวิดีโอ และแบบทดสอบ

นอกจากนี้ TikTok ยังได้จัดตั้ง TikTok Safety Advisory Councils (SAC) เพื่อรวบรวมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระจากทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เพื่อให้คำแนะนำในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยบน TikTok ซึ่งผู้เชี่ยวชาญแต่ละคนจะมาร่วมแบ่งปันความสนใจในหัวข้อต่าง ๆ

รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีในโลกดิจิทัล สุขภาพจิต การปกป้องผู้เยาว์ และการตอบโต้กลโกงและการฉ้อโกงที่ TikTok สามารถนำมาใช้ในการพัฒนานโยบายได้ด้านความปลอดภัยได้

“TikTok มุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนในคอมมิวนิตี้สามารถเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ สามารถแบ่งปันเรื่องราวความคิดสร้างสรรค์และเชื่อมต่อซึ่งกันและกันได้อย่างมั่นใจ TikTok ไม่ได้เป็นเพียงแค่แพลตฟอร์มความบันเทิงแต่ยังเป็นแพลตฟอร์มที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัย ต่อต้านเนื้อหาและข้อมูลที่เป็นเท็จหรือบิดเบือด อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีความโปร่งใสและพร้อมยกระดับความรู้และสุขภาวะดิจิทัลที่ดีให้แก่ทุกคน” นางสาวสิริประภากล่าว