ถอดบทเรียน “Ticketmelon” จิ๊กซอว์ธุรกิจ “อีเวนต์-คอนเสิร์ต”

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

นอกจากโชว์สุดตระการตา แสงสีเสียงที่จัดเต็ม และพลังการสนับสนุนของแฟนคลับจะเป็นปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจคอนเสิร์ตและอีเวนต์ประสบความสำเร็จแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “ticket service provider” หรือผู้ให้บริการจำหน่ายบัตรเสมือนจิ๊กซอว์เชื่อมองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการจัดอีเวนต์เข้าด้วยกัน

อีกหนึ่งในผู้ให้บริการที่คอคอนเสิร์ตคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มี “Ticketmelon” แพลตฟอร์มจองบัตรเข้าชมและผู้ให้บริการโซลูชั่นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังอีเวนต์ดังมากมาย เช่น Wonderfruit Festival, การแข่งขันมวยไทยที่เวทีมวยราชดำเนินเป็นต้น

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ภานุพงศ์ เตชะไพบูลย์” ประธานกรรมการบริหาร และผู้ก่อตั้ง Ticketmelon หลากหลายแง่มุมจากโปรเจ็กต์ก่อนเรียนจบสู่เทคสตาร์ตอัพดาวรุ่ง ที่เกือบไม่รอดในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา

จุดเริ่มต้นแก้เพนพอยต์ใกล้ตัว

“ภานุพงศ์” เล่าว่าช่วงที่กำลังเรียนมีโอกาสไปงานคอนเสิร์ต และอีเวนต์หลายแห่ง พบว่างานเหล่านี้ยังใช้ระบบการขายบัตรแบบเขียนใส่กระดาษเพราะผู้ให้บริการที่มีอยู่ในขณะนั้นมีไม่กี่ราย และเป็นรายใหญ่ทั้งหมด จึงมองว่ายังมีพื้นที่ทางธุรกิจสำหรับโซลูชั่น หรือแพลตฟอร์มบางอย่างเข้ามาเติมเต็มช่องว่างได้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง Ticketmelon ตั้งแต่ยังเรียนปี 3

“ผมมีโอกาสคุยกับคุณพ่อของเพื่อนที่ทำสตูดิโอ Benetone Films เพื่อปรึกษาเรื่องการทำวิดีโอสั้นในการนำไอเดียไปพิตช์หาทุน พอได้ฟังก็สนใจไอเดีย เขามีกองทุนส่วนตัวร่วมกับนักลงทุนอีก 2-3 ท่านอยู่แล้วจึงได้เงินก้อนแรกมาสร้างธุรกิจนี้”

ช่วงแรกของการเริ่มต้น ตนกับผู้ก่อตั้งอีกคนนั่งทำ mock up บนกระดาษ 60-70 หน้า เพื่อเอาไปสอบถามผู้จัดงาน 7-8 ราย ว่าถ้ามีระบบแบบนี้จะสนใจใช้ไหม หรือพึงพอใจแค่ไหน จากเต็ม 10 สรุปออกมาได้คะแนน 8.5 ซึ่งผู้จัดงานกลุ่มนี้ก็ยังเป็นลูกค้าเราจนถึงปัจจุบัน

“เราให้บริการ ต.ค.-พ.ย. 2558 เริ่มจากงานดนตรีเล็ก ๆ มีผู้ชมหลักร้อยคนต้องจัดการงานหลังบ้านเองทุกอย่าง เพราะทีมยังมีไม่กี่คน”

ช่วง 2-3 ปีแรกบริษัทยังไม่มีกำไรเลย แต่สำหรับเขาสิ่งที่ยากที่สุดไม่ใช่การหาเงิน แต่เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับทีมงาน

“ทุกคนที่ผมดึงมาร่วมงานด้วยโตกว่า มีประสบการณ์มากกว่าผมอย่างน้อย 3-4 ปี เคยทำงานในบริษัทใหญ่มาแล้ว แต่ผมเป็นแค่เด็กจบใหม่ที่อยากทำธุรกิจของตนเอง ผมต้องทำสไลด์ไว้พิตช์ให้คนมาสมัครงานด้วย ช่วงแรกผมใช้เวลาปฐมนิเทศพนักงานใหม่ 3 ชั่วโมง เพราะต้องการให้เขาเห็นภาพในสิ่งที่เราทำจริง ๆ”

มากกว่าแพลตฟอร์ม “กดบัตร”

แม้หลายคนจะมีภาพจำว่า Ticketmelon เป็นแพลตฟอร์มจองบัตรสำหรับเข้าชมอีเวนต์ต่าง ๆ แต่ปัจจุบันขยับขยายการบริการครอบคลุมระบบหลังบ้านการจัดงานอีเวนต์ทั้งหมด แบ่งธุรกิจเป็น 3 ส่วน ส่วนแรก Ticketing บริการจองตั๋วออนไลน์

“ภานุพงศ์” บอกว่าแต่ละปี มูลค่าบัตรที่จำหน่ายให้ลูกค้า (gross merchandise value) เกิน 1 พันล้านบาท เป็นธุรกิจที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุด โดยมีรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ของการจำหน่ายบัตรตามแต่จะตกลงกับผู้จัดงาน ส่วนถัดมาคือ In-Event Services หรือบริการวางระบบหลังบ้านให้กิจกรรมต่าง ๆ ในงาน เช่น นำเทคโนโลยี RFID/NFC หรือ QR Code มาใช้กับสายรัดข้อมือ ป้ายคล้องคอ และบัตรเข้างาน เพื่อสแกนซื้อสินค้า หรือเป็นระบบสแกนการเข้าร่วมกิจกรรมในบูทต่าง ๆ

ส่วนสุดท้ายเป็นบริการถ่ายทอดสดงานอีเวนต์ผ่านระบบสตรีมมิ่ง

“หนึ่งในสิ่งที่ Ticketmelon ยึดถือมาตลอดตั้งแต่เริ่มธุรกิจ คือไม่ทำอีเวนต์แข่งกับลูกค้า เรามาพร้อมแนวคิดที่เรียกว่า empower organizer ที่ต้องการให้ผู้จัดงานมั่นใจกับการจัดงานของตนเอง ไม่ว่าจะสเกลเล็กหรือใหญ่ การที่เราเป็นเพียงผู้ให้บริการหลังบ้าน ทำให้เราสามารถลงทุนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาโซลูชั่นซัพพอร์ตความต้องการของลูกค้าได้”

จากการขายตั๋วต่อยอดมายังธุรกิจ in-event ที่มีการจัดเก็บข้อมูลพฤติกรรมของผู้ที่เข้ามาร่วมงานเพื่อช่วยลูกค้าวางแผนการทำงาน เช่น เมื่อเห็นว่าวันแรกไม่ค่อยมีคนเข้าชมโซน A วันถัดมาจะจัดสรรทราฟฟิกการเดินชมงานใหม่ หรือเพิ่มการโปรโมตงานมากขึ้นก็ได้

บทเรียนล้ำค่าจาก “โควิด-19”

หลังจากเริ่มต้นในปี 2558 Ticketmelon เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2562 ขยายไปต่างประเทศ แต่ฝันร้ายที่เรียกว่า “โควิด-19” หยุดทุกอย่างส่งผลกระทบโดยตรงกับบริษัท จึงต้องเริ่มหาวิธีเอาตัวรอด ทั้งยกเลิกแผนการเช่าออฟฟิศ และลดจำนวนพนักงานลง

ในช่วงโควิดถือเป็นช่วง “ฝึกจิต” ในการทำงาน เพราะตั้งแต่ต้นปี 2563 มีลูกค้ายกเลิกงานวันละ 30 งาน ซึ่งบีบหัวใจมากเท่ากับว่ารายได้หายไปด้วย ทุกอย่างเป็นศูนย์เลย

“ผมกับทีมเอาตัวเลขมากางดู ตอนนั้นคิดไปถึงสถานการณ์ที่ว่ารายได้ใน 15 เดือนข้างหน้าเป็นศูนย์ และไม่สามารถหาทุนจากที่ไหนได้เลย ต้องดูว่าจะตัดค่าใช้จ่ายตรงไหนบ้าง เม.ย. 2563 จึงปรับลดพนักงานจาก 40 คน เหลือ 15 คน คนที่เหลือยังยอมลดเงินเดือนตัวเองลงกว่าครึ่งเพื่อให้บริษัทไปต่อได้ เราลดพนักงานเร็วมาก ซึ่งเป็นทางที่ดีกับทั้งพนักงาน และบริษัท เพราะยังจ่ายเงินชดเชยให้ทุกคน และประคองบริษัทตามแผน 15 เดือนต่อได้”

มองหาโอกาสในวิกฤต

“ภานุพงศ์” บอกว่าแบ็กกราวนด์ด้านการเงินจากการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยทำให้ เขาตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว

“ช่วงแรก ผมทำ cash flow ทุกคืน เช็กงบฯกับรายได้ยันเศษสตางค์ ทำให้เริ่มเห็นแล้วว่า cash flow ที่มีไปต่อลำบากแน่ ๆ จึงรีบตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกทันที พอจัดอีเวนต์ไม่ได้ รายได้หายไป เราต้องหันไปทำงานด้านอื่น ตอนนั้นแทบจะกลายเป็นบริษัทเทค เพื่อรับเขียนโค้ด ทำซอฟต์แวร์ให้บริษัทต่าง ๆ ทั้งระบบสตรีมมิ่ง, แพลตฟอร์ม e-Learning ทำให้มีรายได้มาต่อชีวิตไปได้ ซึ่งโควิดลากยาวกว่าที่คิด ต้นปี 2565 จึงเตรียมแผนไว้คุยกับนักลงทุนเพื่อขอระดมเงินเพิ่ม แต่ปรากฏว่าพ.ค.ปีเดียวกัน เราพลิกกลับมามีกำไรได้ จึงไม่ต้องใช้เงินทุนก้อนใหม่ที่ไปขอมาแล้ว”

โควิด-19 ในมุมมองของ “ภานุพงศ์” จึงเป็นช่วงเวลาที่บริษัทได้รับความรู้ใหม่ ที่นำมาใช้ในการต่อยอดธุรกิจได้ และเป็นบทพิสูจน์ฝีมือการบริหารงานของเขาอีกด้วย

“เวลาที่เราถูกบีบให้ทำธุรกิจแบบคนจน เราจะเห็นว่าอะไรจำเป็น ไม่จำเป็นในการบริหารงาน มีกลยุทธ์ในการลงทุนหรือคัดคนทำงานมากขึ้น ถ้าไม่มีโควิดก็คงทำธุรกิจแบบเรื่อย ๆ โควิดยังช่วยดึงสติเราให้กลับมาอยู่กับความจริง เพราะคนเราพอทำธุรกิจไปสักระยะ หรือได้รับความสนใจจากสื่อ จากสิ่งต่าง ๆ จะเริ่มมีอีโก้บางอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต”

ต่อยอดและเติบโต

เมื่อโควิดเริ่มคลี่คลาย ธุรกิจคอนเสิร์ต และอีเวนต์ต่าง ๆ กลับมาคึกคัก Ticketmelon จึงกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง

“ปัจจุบันเรามีพนักงานราว 30 คน เข้าไปดูแลระบบหลังบ้านของอีเวนต์ต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 2,000 งานต่อปี ถือว่าเติบโตกว่าช่วงก่อนโควิด 2-3 เท่า จากนี้ไปเราจึงอยากสร้างการรับรู้ให้คนรู้จักว่าเราไม่ได้เป็นแค่แพลตฟอร์มจองบัตร

หรือดูแลระบบหลังบ้านของคอนเสิร์ตเพียงอย่างเดียว งานอีเวนต์สำหรับองค์กรต่าง ๆ เราก็ทำ ที่ผ่านมาได้แรงสนับสนุนจากลูกค้าที่บอกต่อกันแบบปากต่อปาก โดยตั้งเป้าไว้ว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า อยากทำให้ Ticketmelon เป็นที่รู้จักทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ปัจจุบัน Ticketmelon ขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศแล้ว 4 แห่ง คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ ที่ผ่านมามีโอกาสเข้าไปดูแลระบบหลังบ้านของอีเวนต์ในต่างประเทศมากมาย ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันในบางมุม เช่น เมียนมา นิยมซื้อบัตรที่ร้านค้าหรือร้านอาหาร

แต่ต้องออกแบบระบบหลังบ้านโดยโฟกัสไปที่จุดขาย หรือ POS (point of sales) หรือในฟิลิปปินส์ ตลาดคล้ายกับประเทศไทย จึงต้องใช้ต้นทุนในการโปรโมต branding เป็นพิเศษ เพราะเป็นตลาดที่ค่อนข้างเจาะเข้าไปได้ยาก

“ในแง่ของลักษณะอีเวนต์ ฟิลิปปินส์จะเป็นงานคอร์ปอเรตเป็นหลัก ส่วนมาเลเซียจะเป็นงานคอนเสิร์ต หรืองานเฟสติวัลต่าง ๆ ในแต่ละประเทศยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นข้อจำกัดในการจัดงานด้วย เช่น ศาสนา กฎการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และใบอนุญาตต่าง ๆ ข้อจำกัดเหล่านี้ ทำให้ผู้จัดงานต่างชาติตัดสินใจมาจัดงานในไทย

เพราะไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างในการจัดงานมาก ต้นทุนการทำคอนเสิร์ตเข้าถึงได้ ไทยมีศักยภาพในการดึงดูดเม็ดเงินนักท่องเที่ยวจากธุรกิจคอนเสิร์ต และอีเวนต์ โดยการผลักดันของภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมของเราเติบโตขึ้นได้”