สะพัด รองเลขาฯ กสทช. ร้อง สว. ตรวจสอบคุณสมบัติประธานบอร์ด กสทช. ใหม่

กสทช.

รองเลขาธิการ กสทช. ร้องขอวุฒิสภาตรวจสอบคุณสมบัติประธานบอร์ด กสทช. ใหม่ ปมผลประโยชน์ทับซ้อนกับตำแหน่ง ยังออกตรวจโรคตามโรงพยาบาล เลขาฯ ฝ่ายกฎหมายแย้ง การออกตรวจโรคไม่ได้มีผลประโยชน์แย้งกับการปฏิบัติหน้าที่ ประธาน กสทช.

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยหนังสือสำนักงาน กสทช. เลขที่ สทช 2300/42144 ลงวันที่ 27 พ.ย. 2566 ลงนามโดย ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์สิริ รองเลขาธิการ กสทช.

หนังสือดังกล่าว เป็นการส่งหลักฐานเพิ่มเติมและร้องขอให้ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคมของวุฒิสภา ทำการตรวจสอบคุณสมบัติประธาน กสทช. ใหม่ เนื่องจากปรากฏชื่อในการเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือ นิติบุคคลอื่น หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับการปฏิบัติหน้าที่ ประธาน กสทช. หรือไม่ อย่างไร

หากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย จะส่งผลให้ ศ.(คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้

โดยเนื้อความระบุ เรื่อง ขอส่งหลักฐานเพิ่มเติม และขอความอนุเคราะห์ตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ. (คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.

“ตามหนังสือที่อ้างถึง หนังสือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) สทช 2300/33940 ลงวันที่ 28 กันยายน 2566 ขอให้ประธานวุฒิสภาได้โปรดทำการตรวจสอบคุณสมบัติของ ศ.(คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

ว่ามีการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนตามมาตรา 4 มาตรา 18 และมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยมีการประกอบวิชาชีพอิสระอื่นที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ขัดแย้ง ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือเบียดบังเวลาการปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งประธาน กสทช. หรือไม่

รวมทั้งขอได้โปรดตรวจสอบไปในคราวเดียวกันว่า ปัจจุบัน ศ.(คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ ยังคงเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นหรือหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน หรือนิติบุคคลอื่นใดตามนัยมาตรา 7 (12) แห่ง พระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) กับการปฏิบัติหน้าที่ ประธานกรรมการหรือไม่ อย่างไร

โดยหากปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศ. (คลินิก) นพ.สรณ บุญใบ ชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ มีคุณสมบัติที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการ ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และส่งผลให้ ศ. (คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น

ในการนี้จึงขอส่งหลักฐานเพิ่มเติมเป็นข้อมูลที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นตารางแพทย์ลงตรวจ (Premium Clinic) ของโรงพยาบาลรามาธิบดี และอีกเว็บไซต์ระบุเป็นเว็บไซต์ข้อมูลแพทย์ สถานที่ และเวลาที่แพทย์ออกตรวจตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่า ศ. (คลินิก) นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ มีตารางแพทย์ลงตรวจที่สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระราม 9

ทำงานโรงพยาบาลไม่ขัดแย้งประโยชน์

พันตำรวจเอก ประเวศน์ มูลประมุข เลขาธิการประจำตัว และโฆษกด้านกฎหมายประธาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ากรณีดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นเรื่องต้องกังวล เนื่องจากการทำงานในโรงพยาบาล การออกตรวจโรคไม่ได้ส่งผลประโยชน์ทับซ้อนอะไร

“เรื่องการออกตรวจในขณะปฏิบัติหน้าที่ประธาน กสทช. ก็เป็นอีกเรื่องที่ตรวจสอบได้ แต่ต่อให้ตรวจโรคหรือทำงานกับโรงพยาบาลจริง งานเหล่านั้นก็ไม่ได้มีผลประโยชน์ซ้อนอะไรกับ กสทช.”

เมื่อถามว่า กรณีที่ ประธาน กสทช. พยายามผลักดันโครงการโทรเวชกรรม ส่งผลประโยชน์ทับซ้อนกับโรงพยาบาลดังกล่าวหรือไม่ เลขาประธานฯ กล่าวว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานโทรเวชกรรม เป็นโครงการด้านโทรคมนาคมพื้นฐานอย่างทั่วถึงเท่าเทียม ไม่ได้มีผลประโยชน์หรือเกี่ยวอะไรกับโรงพยาบาลที่กล่าวอ้าง

นอกจากนี้ ยังพูดถึง กรณีที่ ประธาน กสทช. ไม่ยอมไปขึ้นชี้แจงต่อ คณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม ของวุฒิสภา ที่กำลังตรวจสอบกรณีบอร์ด กสทช. ขัดแย้ง และตีความข้อกฎหมายไม่ตรงกัน นั้น เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบดังกล่าวเป็นอำนาจตุลาการ ซึ่งปมขัดแย้งระหว่างบอร์ด กสทช. ยังอยู่ในกระบวนการของศาลการที่ประธาน กสทช. ไปชี้แจงคณะกรรมาธิการ อาจถือว่าเป็นล่วงอำนาจศาล จึงไม่ไปตามที่เรียก

เส้นทางโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กสทช.

กสทช. เป็นองค์คณะตั้งขึ้นเพื่อตัดสินใจกำกับดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่และดาวเทียม ซึ่งเป็นทรัพยากรล้ำค่าของประเทศ ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย กสทช. 7 คน ดูแลกิจการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่

โดยการสรรหาผู้ดำรงตำแหน่ง กสทช.ทั้ง 7 ในปัจจุบัน ดำเนินการโดยวุฒิสภา ซึ่งได้ตั้งองค์คณะสรรหาเมื่อปี 2564 ดังนี้

    1. นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล (ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคย ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา) ประธานกรรมการสรรหา
    2. นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต (ผู้ตรวจการแผ่นดินซึ่งได้รับคัดเลือก โดยที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน) รองประธานกรรมการสรรหา
    3. นายนภดล เทพพิทักษ์ (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับคัดเลือก โดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญ)
    4. นายณรงค์ รัฐอมฤต (กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
    5. นางยุพิน ชลานนท์นิวัฒน์ (กรรมการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งได้รับคัดเลือกโดย ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน)
    6. นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ (ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย)
    7. นายวิษณุ วรัญญู (ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งได้รับคัดเลือกโดย ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด) กรรมการสรรหาและเลขานุการ และโฆษกคณะกรรมการสรรหา

เมื่อได้ประกาศรับสมัครแล้วคณะกรรมการจะสรรหา และเสนอชื่อเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณาและลงมติรับรอง และเห็นชอบให้บุคคลผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนดำรงตำแหน่ง และทูลถวาย โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มีวาระสมัยเดียว 6 ปี

โดย กสทช. ชุดปัจจุบันได้ผ่านการคัดเลือกและลงมติเห็นชอบจากวุฒิสภาตั้งแต่ 20 ธันวาคม 2564 จำนวน 5 คน ได้แก่

1.ศ.(คลินิก) นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ (ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค)

2.พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ (ด้านกิจการกระจายเสียง)

3.ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต (ด้านกิจการโทรทัศน์)

4.นายต่อพงศ์ เสลานนท์ (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน)

5.รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย (ด้านอื่น ๆ ที่จะยังประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. (ข) ด้านเศรษฐศาสตร์)

ซึ่งได้มีการประชุมกันครั้งแรกเพื่อเลือกประธาน กสทช. ในวันที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่ง ศ.(คลินิก) นพ.สรณ ได้รับเลือกเป็นประธาน จากนั้นได้รับการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2565

ในวันที่ 28 ตุลาคม 2566 ได้ประกาศราชกิจจาฯ โปรดเกล้าฯ ให้ พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร ดำรงตำแหน่ง กสทช. ด้านกฎหมาย ตั้งแต่ 22 ต.ค. 2565

และในวันที่ 19 มีนาคม 2566 ได้ประกาศโปรดเกล้าฯ ให้ รศ.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เป็น กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม ตั้งแต่ 18 มีนาคม 2566