Google เผยความคืบหน้าการยกระดับด้านดิจิทัลของไทย

“Google”

“Google” ประกาศความคืบหน้าการยกระดับด้านดิจิทัลของไทยตาม 4 เสาหลักความร่วมมือกับรัฐบาลในงาน “Digital Samart Thailand”

วันที่ 8 ธันวาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า ขณะที่ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

หนึ่งในภารกิจสำคัญที่เป็นที่จับตาของหลายฝ่าย คงหนีไม่พ้นการเจรจากับนักลงทุนและตัวแทนบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลเข้าสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นกูเกิล (Google), ไมโครซอฟท์ (Microsoft), แอมะซอน เว็บ เซอร์วิส (AWS) และบริษัทอื่น ๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและ Google ได้ประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย และเร่งให้เกิดนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศ

4 เสาหลักความร่วมมือรัฐบาลไทย-Google

รายงานข่าวจาก “กูเกิล ประเทศไทย” (Google Thailand) เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยและ Google จะทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐาน 4 เสาหลักที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ดังนี้

เสาหลักที่ 1 : การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศไทย

Google กำลังพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลใหม่ภายในประเทศเพื่อขับเคลื่อนบริการดิจิทัล ซึ่งก่อนหน้านี้ Google Cloud ได้ประกาศแผนก่อตั้ง Cloud Region แห่งแรกในประเทศไทย และด้วยการสนับสนุนของรัฐบาลไทย Google Cloud ยืนยันแผนก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยที่กรุงเทพฯ

และเมื่อ Cloud Region ในประเทศไทยเปิดให้บริการ จะทำให้เทคโนโลยีของ Google Cloud ใกล้ชิดกับองค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บริการด้านดิจิทัลมีความเชื่อถือ รองรับการขยายขอบเขตบริการ อีกทั้งยังมีความเร็วสูงขึ้น โดยคาดการณ์ว่าการก่อตั้ง Cloud Region ในประเทศไทยจะช่วยยกระดับผลิตภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ GDP ของประเทศ และสร้างงาน 50,300 ตำแหน่งในปี 2573

เสาหลักที่ 2 : การเร่งให้เกิดการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในส่วนภาครัฐ และการสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ Google Cloud จะร่วมกันศึกษาแนวทางการใช้งาน Generative AI (Gen AI) และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี Google Cloud ในการใช้โซลูชั่นที่ขยายผลได้เพื่อผลประโยชน์ของภาครัฐ โดยจะให้ความสำคัญกับการให้บริการภาครัฐผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ๆ เทคโนโลยีด้านการเงิน รวมถึงการพัฒนาภาคสาธารณสุข การศึกษา และการขนส่งมวลชนเป็นอันดับแรก

Google และกระทรวงดีอี จะติดตามวาระร่วมกันในเรื่องความก้าวหน้าด้าน AI ที่มีความรับผิดชอบ โดย Google จะให้การสนับสนุนด้านความเชี่ยวชาญทางนโยบายและ Secure AI Framework ของ Google เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระบบ AI ต่าง ๆ ซึ่ง Google เป็นหนึ่งในบริษัทที่ให้คำมั่นสัญญาผ่านหลักการปัญญาประดิษฐ์ (AI Principles) และกำหนดขอบเขตการใช้งาน AI ที่ Google จะไม่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 นี่เป็นสิ่งที่ Google ยึดถือ และคอยกำหนดแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีและโซลูชั่นขั้นสูงในบริษัท

นอกจากนี้เพื่อช่วยให้องค์กรภาครัฐ ธุรกิจ และประชาชนชาวไทยตระหนักถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและปกป้องภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ และกิจกรรมทางไซเบอร์ที่เป็นอันตราย รัฐบาลและ Google Cloud จะดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และร่วมกันศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อตั้ง National CyberShield Alliance ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลสามารถใช้ระบบอัตโนมัติ การวิเคราะห์ ระบบข่าวกรองภัยคุกคาม และ AI ร่วมกันเพื่อตรวจหา ตรวจสอบ และร่วมกันป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศด้วยวิธีการที่ซับซ้อน

เสาหลักที่ 3 : การวางนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักในประเทศไทย

Google Cloud จะสนับสนุนการพัฒนานโยบาย Go Cloud-first ของกระทรวงดีอี โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านนโยบายและความเชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีเพื่อให้แน่ใจว่าจะสามารถส่งมอบโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่มีความยืดหยุ่น ประหยัดค่าใช้จ่าย และขับเคลื่อนโดยนวัตกรรมให้แก่ประเทศ

นโยบายนี้ตอกย้ำความพยายามของรัฐบาลในการให้ความสำคัญกับการใช้บริการคลาวด์ที่ดีที่สุดในการดำเนินการของรัฐบาลมากกว่าโซลูชั่นที่ใช้ทรัพยากรในสถานที่ตั้งของตนเองซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยยังคงไว้ซึ่งมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ กระทรวงดีอียังจะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อระบุประเภทของข้อมูลที่อาจจำเป็นต้องจัดเก็บใน Google Distributed Cloud Hosted ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมของคลาวด์ที่เป็นส่วนตัวและมีมาตรการทางด้านความมั่นคงปลอดภัยที่ตัดขาดการเชื่อมต่ออย่างสมบูรณ์แบบ (Fully air-gapped)

เสาหลักที่ 4 : การทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและระบบคลาวด์ได้มากขึ้น

Google ร่วมมือกับกระทรวงดีอี และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพของ Google เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ภายใต้โครงการ Samart Skills ที่ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในเดือน ต.ค. 2565 ทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน เพื่อช่วยให้คนไทยได้พัฒนาทักษะพร้อมรับใบรับรองทักษะอาชีพโดยไม่มีค่าใช้จ่าย สำหรับงานระดับเริ่มต้นในสาขาที่มีความต้องการสูงอย่าง เช่น การรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ การวิเคราะห์ข้อมูล การสนับสนุนด้านไอที และอีคอมเมิร์ซและการตลาดดิจิทัล

อีกทั้ง Google Cloud ยังมอบหลักสูตร Introduction to Generative AI Path ให้แก่บุคคลทั่วไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ผ่านโครงการ Google Cloud Skills Program ซึ่งประกอบด้วยหลักสูตรออนไลน์ที่ทำให้ผู้เรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่าง Gen AI กับ AI ประเภทอื่น และการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ผู้เรียนที่สำเร็จหลักสูตรการเรียนรู้นี้จะได้รับป้ายรับรองแบบดิจิทัลซึ่งสามารถแสดงไว้ในเรซูเม่ของตนเองเพื่อแสดงถึงความเข้าใจขั้นพื้นฐานของ Gen AI

ความคืบหน้ายกระดับความสามารถด้านดิจิทัลของไทย

วันนี้ (8 ธ.ค.) Google ประเทศไทย ได้จัดงาน Digital Samart Thailand เพื่อเผยความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานตามความร่วมมือดังกล่าว

นายเศรษฐา กล่าวในงานว่า รัฐบาลยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Google เพื่อช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังเทคโนโลยีสำคัญอย่างเช่น AI ในระบบคลาวด์

ความร่วมมือนี้จะช่วยสนับสนุนความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลที่อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเพิ่มโอกาสสร้างงานที่มีมูลค่าสูงและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย พร้อมทั้งยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในจุดหมายหลักสำหรับการลงทุนของนักลงทุนชั้นนำจากทั่วโลก

“ผมต้องขอบคุณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการส่งเสริมและผลักดันความร่วมมือกับ Google ทั้งในเรื่องของ AI คลาวด์ และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์”

ด้าน นางสาวแจ็คกี้ หวัง Country Director, Google ประเทศไทย กล่าวว่า ตลอดกว่าทศวรรษที่ผ่านมา Google ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย เราดีใจมากที่ได้ทราบว่าการที่ธุรกิจต่าง ๆ ในไทยนำผลิตภัณฑ์และโซลูชันที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาทในปี 2565

“อีกทั้งยังทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ร้บผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจถึง 7.4 หมื่นล้านบาท และสนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 250,000 ตำแหน่ง นี่เป็นอีกหนึ่งข้อพิสูจน์ถึงพลังของเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสใหม่ ๆ และเราภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในระยะยาว”

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดในการดำเนินงานที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI มีรายละเอียดดังนี้

1. กระทรวงดีอีดำเนินนโยบาย Go Cloud First ตามคำแนะนำและแนวทางปฏิบัติแนะนำระดับนานาชาติจาก Google ซึ่งจะประกาศรายละเอียดเพิ่มเติมในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567

2. Google Cloud ประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI กับกระทรวงดีอี กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) (Big Data Institute : BDI) โดยบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรจะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างโดยใช้เทคโนโลยี Generative AI รวมไปถึงการใช้ Vertex AI หรือเครื่องมือในการพัฒนาและปรับแต่ง AI บน Google Cloud เพื่อจัดทำโซลูชั่นของตนเอง

3. คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. (National Cyber Security Committee : NCSC) จะเป็นผู้วางกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Framework)

4. Google ประกาศมอบทุนการศึกษาสำหรับใบรับรองทักษะอาชีพที่ใช้หลักสูตร Google Career Certificates เพิ่มเติมจำนวน 12,000 ทุน ให้กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และกระทรวงดีอี ไปจนถึงสิ้นปี 2567 ซึ่งทำให้มียอดรวมทั้งสิ้น 34,000 ทุน

5. Google เพิ่มหลักสูตรสาขาอาชีพใหม่อีก 4 หลักสูตรเป็นภาษาอังกฤษ ได้แก่ ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity), การวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูง (Advanced Data Analytics), ธุรกิจอัจฉริยะ (Business Intelligence) และการสร้างระบบอัตโนมัติด้านไอทีด้วย Python (IT Automation with Python) เพื่อรองรับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ปัจจุบันมีหลักสูตรจาก Google ทั้งหมด 9 หลักสูตร

นอกจากนี้ นายคารัน ปัจวา รองประธาน Google Cloud เอเชีย-แปซิฟิก ยังเปิดเผยด้วยว่า ผลวิจัยของ Google ชี้ว่า หากภาคส่วนและองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยนำนวัตกรรม AI มาใช้งาน จะสามารถปลดล็อกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้อย่างน้อย 2.6 ล้านล้านบาท ภายในปี 2573

“ภายใต้ความร่วมมือกับกระทรวงดีอี กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ เราจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปในการเตรียมความพร้อมให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการแก่ประชาชนในการสร้างและปรับใช้โซลูชั่น Generative AI โดยใช้ความสามารถของ Cloud AI เรากำลังดำเนินการตามเสาหลักความร่วมมือทั้ง 4 ข้อ เพื่อช่วยพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยและสร้างประโยชน์ในวงกว้างต่อคนไทยทุกคนได้อย่างรวดเร็ว”