เปิด 7 เทรนด์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ปี 2567

ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น

“บลูบิค” เผย 7 เทรนด์ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” รับความท้าทายทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นในปี 2567

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ BBIK ที่ปรึกษาผู้ให้บริการด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น กล่าวว่า

ในปี 2567 ภาคธุรกิจจะต้องเตรียมพร้อมเพื่อเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไร้พรมแดนที่นำมาซึ่งโอกาส ความเสี่ยง และการแข่งขันที่รุนแรงใน Digital Landscape, ไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างกันของผู้บริโภคแต่ละช่วงวัย, การทำงานแบบ Gig Worker ที่รับค่าตอบแทนตามจำนวนงานที่ทำ, ปัญหาเศรษฐกิจ, แรงกดดันจากแนวทางความยั่งยืนหรือ ESG และความเสี่ยงจาก Al และภัยคุกคามทางไซเบอร์

“ปัจจัยเหล่านี้กำลังกดดันให้องค์กรต้องเร่งยกระดับขีดความสามารถของตนเอง ด้วยการพัฒนาและใช้นวัตกรรมในกระบวนการดำเนินงาน ยกระดับเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิม เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุค Digtal-First World ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม”

ทั้งนี้ บลูบิคได้สรุป 7 ขีดความสามารถทางเทคโนโลยี (Tech Capablities) สำคัญประจำปี 2567 ภายใต้ 4 แกนหลักที่จะช่วยให้การทำธุรกิจในยุคปัจจุบันเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

แกนที่ 1 Augmented Intelligence ถือเป็นหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจแห่งอนาคต ภายใต้แนวคิดการผสานพลัง Al เข้ากับการทำงานของมนุษย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่กัน

โดยขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีสำคัญที่จะเข้ามาสนับสนุนแนวคิดนี้ คือ

Democratization of Generative AI (Gen Al) หรือการเข้าถึงเทคโนโลยี Gen AI ในวงกว้างเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้เร็วมากขึ้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การลดงานซ้ำซาก และยกระดับการเข้าถึงลูกค้าผ่านการหา Customer insights ด้วย AI เพื่อสร้างคอนเทนต์สำหรับลูกค้าเฉพาะราย ซึ่งองค์กรที่ไม่ได้ใช้ Gen AI จะถูกคู่แข่งที่ใช้งานทิ้งห่างออกไปเรื่อย ๆ

แกนที่ 2 Digital Ecosystem หรือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจที่เชื่อมต่อหลายระบบและบริการเข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้กับลูกค้า สามารถใช้งานได้หลากหลายผ่านช่องทางเดียว ซึ่งการสร้าง Digital Ecosystem เช่น ซูเปอร์แอป (Super App) ให้สามารถรองรับการเติบโตในอนาคต ต้องให้ความสำคัญกับขีดความสามารถต่อไปนี้

– Multiexperience (MX): สร้างประสบการณ์การใช้บริการและซื้อสินค้าอย่างราบรื่นให้ครอบคลุมทุกจุดสัมผัสบนช่องทางดิจิทัล (Digital Touchpoints) และการใช้งานข้ามแพลตฟอร์ม เช่น Website, Super App, Augmented Reality (AR), Virtual Reality (VR) และอุปกรณ์สวมใส่ (Wearables) เป็นต้น

– Event-Driven Nano Architecture (EDNA): รูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยนาโนเซอร์วิส (Nanoservices) ที่แยกออกจากกัน ซึ่ง EDNA มีจุดเด่นที่ความยืดหยุ่น สามารถพัฒนาบริการในแต่ละส่วนงานระดับนาโน รวมถึงปรับเพิ่มและลดขนาดการใช้ทรัพยากรได้อย่างอิสระกว่า Microservice ของ Event-Driven Architecture (EDA) และไม่กระทบบริการอื่นหากบางเซอร์วิสมีปัญหา อีกทั้งยังลดความซับซ้อนในขั้นตอนการทำงานและต้นทุน

แกนที่ 3 Digital Immunity and Trust หรือการสร้างภูมิคุ้มกันและความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร รับมือภัยคุกคามไซเบอร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขีดความสามารถที่จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์องค์กรยุคใหม่ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ได้แก่

– Generative Cybersecurity Al: เทคโนโลยีที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการใช้งาน Gen AI เช่น การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลรั่วไหล และช่องโหว่การโจมตี โดยใช้ Autoregressive Generative Large Language Models (LLMs) สื่อสารและเพิ่มพูนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้าง Security Use Cases

นอกจากนี้ Generative Cybersecurity AI ยังสามารถประเมินความเสี่ยง ตรวจสอบ ติดตาม ระบุความผิดปกติบนระบบและรายงานผลให้ผู้ใช้งาน/ผู้ให้บริการทราบ ผ่านการโต้ตอบด้วยภาษามนุษย์ (Natural Language) เช่นเดียวกันกับใช้งาน Gen AI เพื่อหาคำตอบที่ต้องการ

– Al-Enhance Security Operations: เทคโนโลยี AI ที่เปรียบได้กับกระบวนการหลังบ้าน (Backend Process) ของระบบดำเนินการด้านความปลอดภัย ที่มาเพิ่มความสามารถในการวิเคราะห์เกี่ยวกับความปลอดภัยและแนวทางการตอบสนองต่อภัยคุกตามในรูปแบบต่าง ๆ โดย Al – Enhance Security Operations ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่งเพื่อวิเคราะห์ ค้นหา ไล่ล่าไวรัสมัลแวร์ และนำเสนอวิธีการรับมือกับเหตุการณ์นั้น ๆ ทำให้องค์กรสามารถป้องกันและจัดการกับปัญหาได้รวดเร็วแม่นยำมากขึ้น

แกนที่ 4 Sustainability Technologies หรือการผสมผสานแนวคิดด้านการใช้เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืนซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ออกแบบเพื่อแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงปัญหาสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีที่สนับสนุนนโยบายด้าน ESG ซึ่งเทรนด์น่าจับตามองในปีหน้าเป็นดังนี้

– Al for Sustainability: การใช้ Al ช่วยปรับปรุงระบบการดำเนินงานและจัดการกระบวนการที่เป็นอุปสรรคต่อการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยคาร์บอน รวมถึงใช้ AI เฝ้าสังเกต คาดการณ์ ลดการปล่อยคาร์บอนและปรับปรุงประสิทธิภาพในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม เช่น การพยากรณ์อากาศ การปรับปรุงระบบรีไซเคิลและจัดการของเสีย การจัดเส้นทางการขนส่งให้มีประสิทธิภาพ และการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นต้น

– ESG Management and Reporting: เป็นกระบวนการบริหารจัดการและจัดทำรายงานด้าน ESG ที่จะเข้ามาช่วยองค์กรรับมือกับแรงกดดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การจัดการภายในองค์กรจนถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบด้าน ESG ของหน่วยงานต่าง ๆ และคู่ค้า โดยอาศัยซอฟต์แวร์ที่สามารถรวบรวมข้อมูลและจัดทำรายงานได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถใหม่ ๆ เช่น โมเดลและการวิเคราะห์ขั้นสูง (Modeling and Advanced Analytics) ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงผลลัพธ์ด้าน ESG ให้แก่องค์กร

นายพชร กล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะมีอิทธิพลต่อการทำธุรกิจและดำเนินชีวิตของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ภาพรวมของ Technology Landscape ยังคงพัฒนาอย่างไม่หยุดผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนผ่านคาดการณ์ของ Gartner ที่ระบุว่าเม็ดเงินลงทุนด้านเทคโนโลยีทั่วโลกจะแตะ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2566

“ผู้คน เทคโนโลยี และธุรกิจกำลังเชื่อมโยงกันมากขึ้นทุกวัน ดังเห็นได้ชัดจากความสมดุลระหว่างประโยชน์และผลลัพธ์เชิงลบอันเกิดจากการใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงที่ผ่านมา ทำให้การทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นจะต้องทำอย่างต่อเนื่องและมีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งองค์กรธุรกิจที่รู้เท่าทันกระแสที่เกิดขึ้นและเตรียมพร้อมรับมืออย่างเหมาะสม จะสามารถลดความเสี่ยง เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ และเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุค Digital-First World”