“Google-Microsoft” จุดพลุเศรษฐกิจ AI

เศรษฐา ทวีสิน

หนึ่งในภารกิจสำคัญเมื่อครั้งที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เดินทางไปร่วมประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ที่นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา คือการไปพูดคุยพบปะนักลงทุน และตัวแทนบิ๊กเทคโนโลยีระดับโลกทั้งหลาย เพื่อชักชวนให้เข้ามาลงทุน

และขยายความร่วมมือในประเทศไทย โดย “กูเกิล (Google) และไมโครซอฟท์ (Microsoft) เป็น 2 บริษัทแรก ๆ ที่รัฐบาลไทยประกาศความร่วมมือทางยุทธศาสตร์ เพื่อเสริมขีดความสามารถและยกระดับการแข่งขันด้านดิจิทัลของไทย รวมถึงเร่งให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม AI ในประเทศ

รายงานข่าวจาก Google ประเทศไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลไทยและ Google จะทำงานร่วมกันเพื่อวางรากฐาน 4 เสาหลักที่จำเป็นต่อการส่งเสริมประเทศไทยให้เติบโตในเศรษฐกิจ AI ได้แก่ 1.การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล 2.การเร่งให้เกิดการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบในส่วนของภาครัฐ และการสร้างไซเบอร์สเปซที่มั่นคง 3.การวางนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลักในประเทศไทย และ 4.การทำให้คนไทยเข้าถึงทักษะด้านดิจิทัลและระบบคลาวด์ได้มากขึ้น

นางสาวแจ็กกี้ หวัง Country Director Google ประเทศไทย กล่าวว่า กว่าทศวรรษที่ผ่านมา Google มุ่งมั่นส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย ซึ่งธุรกิจต่าง ๆ ได้นำผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นที่ทํางานด้วยระบบ AI ของ Google ไปใช้ ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท ในปี 2565 ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท สนับสนุนการจ้างงานในประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อมกว่า 2 แสนห้าหมื่นตำแหน่ง

ล่าสุด Google มีความร่วมมือในการร่างนโยบาย Cloud-First อีกทั้ง Google Cloud ยังประกาศความร่วมมือด้าน Generative AI กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กระทรวงคมนาคม และสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ (องค์การมหาชน) หรือ BDI โดยบุคลากรจากทั้ง 3 องค์กรจะได้รับการฝึกอบรมภาคปฏิบัติจากทีมวิศวกรของ Google Cloud เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง

โดยใช้เทคโนโลยี Generative AI รวมไปถึงการใช้ Vertex AI เพื่อจัดทำโซลูชั่นของตนเอง และด้วยแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud องค์กรต่าง ๆ เลือกโมเดล AI พื้นฐานทั้ง Google และแบบโอเพ่นซอร์ซกว่า 100 โมเดล นำไปปรับใช้ในการสร้างโมเดลแบบกำหนดเอง โดยใช้เครื่องมือและข้อมูลขององค์กรที่มีอยู่ ผนวกรวมโมเดลแบบกำหนดเองเหล่านี้เข้ากับบริการดิจิทัลขององค์กร เพื่อให้บริการแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ดีขึ้นด้วย

ในฟากของไมโครซอฟท์ ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับรัฐบาลไทย นำเทคโนโลยีคลาวด์ และ AI มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ สร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการจ้างงาน และปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ทั้งด้านนวัตกรรมดิจิทัล และความยั่งยืน โดยไมโครซอฟท์ยังมีแผนนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตด้วย

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า ไมโครซอฟท์จะทำงานใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดีอี โดยมุ่งไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา ทั้งจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์ และ AI ในอนาคต

“เราจะให้การสนับสนุนรัฐบาลไทยด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำ ทั้งทำงานร่วมกับกระทรวงดีอี พัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และบริการสาธารณะต่าง ๆ มีแผนจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่ช่วยให้การนำ AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่าง ๆ”

ขณะเดียวกัน ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ครอบคลุมทักษะสำคัญหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสาร หรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึง และทำงานกับหน่วยงานภาครัฐของไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608