TKC ผนึกพันธมิตรพลิกเกมโต เบื้องหลัง “รถบัสไฟฟ้า” ไร้คนขับ

สยาม เตียวตรานนท์
สยาม เตียวตรานนท์

รถบัสไฟฟ้าอัตโนมัติไร้คนขับ คันแรกของประเทศไทย ที่ผลิตทุกส่วนตั้งแต่ตัวรถ ระบบควบคุมผ่านสัญญาณ 5G ตลอดจนแท่นชาร์จไฟ เปิดตัวแล้ว เริ่มวิ่งให้บริการนำชมรอบอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2567 เฉพาะวันศุกร์-วันอังคาร

โครงการนี้ดำเนินการโดย ศูนย์วิจัย Mobility & Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ซึ่งได้รับทุนจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 27 ล้านบาท

แม้ทางสถาบันการศึกษาจะเป็นแม่งานในการวิจัยพัฒนา และถือครองสิทธิในรถดังกล่าว แต่ผู้รับผิดชอบหลักอีกราย คือ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญระบบสื่อสารและเทคโนโลยีดิจิทัล ที่เรียกว่า C-V2X หรือ Cellular Vehicle-to-Everything บนเครือข่าย 5G ตอบโจทย์การใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะของ กสทช.

TKC ได้อะไรจากการวิจัยเพื่อพัฒนายานยนต์ไร้คนขับตลอด 20 เดือนมานี้ “สยาม เตียวตรานนท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทิร์นคีย์ คอมมูนิเคชั่น เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ TKC กล่าวว่า TKC มีความสามารถในการดีไซน์ระบบควบคุม และจากความเชี่ยวชาญด้านไอที การสื่อสาร และซอฟต์แวร์ จึงนำมาใช้เป็นจุดแข็งในการพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบสื่อสารผ่านมือถือ 5G เพราะรถบัสจะวิ่งได้ต้องมีการสื่อสารตลอดเวลา

“การเข้าไปมีส่วนร่วมกับสถาบันการศึกษา เพื่อวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับเรา เกิดจากความเชื่อที่ว่าบุคลากรในไทยมีความสามารถไม่แพ้ใคร แม้เรื่องยานยนต์ไร้คนขับจะมีมานานแล้วในหลายประเทศ แต่ในไทยยังไม่มีใครทำ นี่จึงเป็นครั้งแรก ซึ่ง TKC ให้ความสำคัญกับตัวระบบควบคุมพาหนะ ที่นำไปต่อยอดกับโซลูชั่นอื่น ๆ เช่น Smart Factory ที่มีอยู่แล้ว และเริ่มมีการเจรจากับลูกค้าบางโรงงานเพื่อนำระบบไปติดตั้งแล้ว ประโยชน์ที่แท้จริงจากการเข้าไปทำวิจัยร่วมกับสถาบันการศึกษา คือ เรื่องการพัฒนาคน และการมีพันธมิตร”

Advertisment

“สยาม” ขยายความว่า คนไทยเก่ง และมีอีกหลายอย่างที่พัฒนาเองในประเทศได้ แต่ TKC ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องใช้ความร่วมมือจากหลายส่วน โครงการนี้ทำให้มีพาร์ตเนอร์มากมายมาร่วมกันทำ ระบบหลัก ๆ มีทั้ง TKC ทั้งบริษัท เจ็นเซิฟ ที่นำระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติมาใช้ และเน็กซ์ พอยท์ ผู้ผลิตรถโดยสาร

“ถ้าเรามีมหาวิทยาลัย มีพันธมิตร แล้วเราจะได้รู้จักสตาร์ตอัพอีกมากมายในประเทศนี้ เป็นโอกาสและมูลค่ามหาศาล ที่สำคัญกว่านั้นคือ อยากเข้าไปในมหาวิทยาลัย เราสามารถเข้าถึงแหล่งบุคลากรรุ่นใหม่ เด็ก ๆ ในสถาบันการศึกษาที่เข้ามามีส่วนร่วมทำโครงการวิจัย 20 เดือนนี้ เมื่อก่อนไม่มีใครรู้จักเรา แต่ตอนนี้ TKC เข้าถึงเด็กที่มีความสามารถได้ก่อนที่เขาจะเรียนจบด้วยซ้ำ”

เมื่อ 5 ปีก่อน บริษัทเคยร่วมกับ มจธ. ทำวิจัยพัฒนาแท่นชาร์จอีวี ในวันที่รถอีวียังไม่เป็นเทรนด์ทุกวันนี้ ก็มีคำถามว่าทำไปทำไม แต่เมื่อวันที่กระแสรถอีวีมาถึงอย่างตอนนี้ ก็พร้อมทันทีที่จะผลิตแท่นชาร์จ เรียกว่าทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำโดยฝีมือคนไทยทั้งหมด ใช้วิศวกรคนไทยล้วน ๆ จาก มจธ.และ TKC ร่วมกัน

“ผมเชื่อว่าเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน คือ รถอีวีกึ่งไร้คนขับ 3-5 ปีนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่จะเกิด คณาจารย์และนักศึกษาหลายคนมีองค์ความรู้ แต่ยังขาดทุนในการผลิต และพัฒนาของจริง ดังนั้นวันนี้ทดลองศึกษาวิจัย ลองของจริง เรียนรู้ไป แม้ยังไม่เห็นภาพที่ชัดเจน แต่ถ้าวันที่เทคโนโลยีไร้คนขับมาถึง วันที่ตลาดเปิด เชื่อว่าเราจะเป็นรายแรกที่พร้อม ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยแล้วรอตลาดเปิดจะไม่ทัน”

Advertisment

“สยาม” เล่าด้วยว่า ตอนวิจัยแท่นชาร์จอีวีก็ใช้เวลานานกว่าจะเห็นภาพว่าจะทำตรงไหน พัฒนาเป็นโปรดักต์แล้วจะขายอย่างไร แม้วันนี้จะสามารถขายสิ่งที่ทำเองได้ แต่เรื่อง “ราคา” ก็ยังสู้ฝั่งจีนไม่ได้เลย เพราะเขาผลิตฮาร์ดแวร์ชิ้นหนึ่งออกมาทีละเป็นแสนชิ้น ขณะที่ไทยผลิตทีละ 1-2 ร้อยชิ้น ต้นทุนจึงคนละเรื่อง

“เราก็ต้องหาทางทำอย่างไรที่จะสร้างความน่าซื้อมาทดแทน เช่น เรา Customized ซอฟต์แวร์ให้ลูกค้าได้ เพราะคนไทยทำ แต่จีนไม่ค่อยทำ อย่างนี้เราสู้ได้ อีกส่วนที่เราเพิ่มเข้าไปได้เพื่อสู้กับคู่แข่งรายอื่น ๆ คือ เรื่องการคำนวณคาร์บอนเครดิต ที่กำลังศึกษาและพัฒนาเช่นกัน เมื่อมีการใช้รถอีวีแล้ว ก็จะคำนวณการปลดปล่อยคาร์บอนและให้จ่ายค่าชดเชยได้”

แม่ทัพ “TKC” กล่าวด้วยว่า ธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทคือ ด้านโทรคมนาคม เคยเป็นผู้ออกแบบ ติดตั้ง และวางระบบเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ทุกคนใช้กัน ซึ่งไม่ใช่แค่ร่วมงานกับโอเปอเรเตอร์ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศก็มีโอกาสเข้าไปทำด้วย จนกระทั่งเทคโนโลยียุค 4G พัฒนาไปสู่การที่ระบบสามารถเฝ้าดูแลและออปติไมซ์เครือข่ายได้โดยใช้ “เอไอ โซลูชั่น” จึงต้องปรับตัวทำงานด้านเครือข่ายโทรคมนาคมให้น้อยลง หันมาสร้างคลาวด์ เอไอ ไซเบอร์ซีเคียวริตี้ บล็อกเชน เป็นโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ถือเป็นธุรกิจใหม่ และแตกยอดออกมาเป็น Smart Solution ต่าง ๆ

“Core Business ที่เป็นดาวรุ่งสมัยก่อนเลยไม่โตแล้ว เคยทำรายได้ 100 ล้าน เหลือแค่ 30 ล้าน กระทั่งเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ถือหุ้น และบอร์ด อยากให้สร้างรายได้ใหม่ จาก Smart Solution เหล่านี้ โดยขยับสัดส่วนรายได้ในกลุ่มธุรกิจใหม่ สมาร์ทโซลูชั่นต่าง ๆ เป็น Core Business ทดแทนงานโทรคมนาคม คาดว่าผลประกอบการปี 2566 ที่กำลังจะออกมา คงได้เห็นว่ารายได้ฝั่งธุรกิจใหม่เติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ”