SpaceX มีหนาว สตาร์ตอัพจีนเตรียมปล่อยจรวดใช้ซ้ำ สู้กิจการอวกาศ

ภาพจาก Orienspace.com

Orienspace ประกาศสามารถปล่อยจรวดขนส่งสู่อวกาศแบบใช้ซ้ำได้ในปี 2568 จุดพลุอุตสาหกรรมอวกาศจีน

วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 การส่งยานอวกาศหรือดาวเทียมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศนั้น มีชิ้นส่วนที่มีราคาแพงที่สุดที่ใช้ส่ง คือจรวดนำส่ง ดังนั้น หากสามารถพัฒนากระบวนการหรือเทคโนโลยีจรวดใช้ซ้ำ ก็สามารถลดต้นทุนการผลิตจรวดใหม่ได้อย่างมาก ทำให้อุตสาหกรรมอวกาศเติบโตขึ้นในระยะยาว

ผู้ที่บุกเบิกเทคโนโลยีนี้จนสามารถใข้งานในเชิงพาณิชย์ได้นั้นเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “อีลอน มัสก์” ที่ได้ก่อตั้ง SpaceX ขึ้นมา ทำให้อุตสาหกรรมอวกาศสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บริษัท Orienspace ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพด้านอวกาศ ตั้งอยู่ในปักกิ่ง ได้เปิดตัวจรวดขนส่งสู่อวกาศแบบใช้ครั้งเดียวเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนที่แล้ว และกำลังพัฒนา Gravity-2 ที่เป็นจรวดแบบนำกลับมาใช้ใหม่ สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ คาดว่าการทดสอบครั้งแรกของจรวดจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2568-2569

“เหยา ซ่ง” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม Orienspace กล่าวว่า ยังมีบริษัทจีนอื่น ๆ ที่แข่งขันกันเพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ได้แก่ Beijing Interstellar, Glory Space Technology ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่รู้จักกันในชื่อ i-Space

ขณะเดียวกัน บริษัทในเครือของ China Aerospace Science and Industry Corp. ซึ่งเป็นของรัฐ ได้ทดสอบการบินขึ้นและลงจอดในแนวดิ่งของจรวด Kuaizhou ที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้

ปัจจุบัน SpaceX ยังคงเป็นผู้นำระดับโลกในสาขานี้ แต่ Blue Origin LLC ซึ่งก่อตั้งโดย “เจฟ เบโซส” ผู้ก่อตั้ง Amazon กำลังเตรียมแผนที่จะเปิดตัวจรวดแบบใช้ซ้ำ “New Glenn” ในปีนี้

ในปีที่แล้วบริษัทจีน รวมถึงสตาร์ตอัพ และรัฐวิสาหกิจจีน มีการปล่อยจรวดแบบใช้ครั้งเดียว 70 ครั้ง ส่วน SpaceX มีการปล่อยจรวดแบบใช้ซ้ำเกือบ 100 ครั้ง

Orienspace ยังได้เปิดตัวจรวดที่สามารถปล่อยตัวจากกลางทะเลลำแรก ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับบริษัทต่าง ๆ ที่มองหาวิธีเพิ่มความถี่ในการปล่อยจรวดด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

“การปล่อยจรวดนอกชายฝั่งสามารถประหยัดเวลาได้หนึ่งเดือน และลดต้นทุนด้านลอจิสติกส์หลายล้านหยวนสำหรับจรวดแต่ละลำ”

บริษัทมีแผนปล่อยจรวด 3-5 ครั้งในปี 2568 และ 5-8 ครั้งในปี 2569 Orienspace ต้องการเพิ่มความถี่เป็น 10 ครั้งต่อปีในเวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งจะช่วยให้มีรายได้ 1 พันล้านหยวน (ราว 5 พันล้านบาท)

จากรายได้นี้จะทำให้บริษัทสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนสำหรับการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ได้ นอกจากนี้ Orienspace เพิ่งเสร็จสิ้นการระดมทุน Series B มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท และมีการประเมินมูลค่าหลังการจัดหาเงินทุนอยู่ที่ราว 3 หมื่นล้านบาท

อุตสาหกรรมอวกาศที่กำลังเติบโตของจีนทำให้มีการเร่งเปิดตัวเทคโนโลยี และกำลังดึงดูดนักลงทุน ทั้งนี้ Shanghai Spacecom Satellite Technology ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเซี่ยงไฮ้ เพิ่งระดมทุนได้ 3.2 หมื่นล้านบาท เพื่อสนับสนุนทุนสำหรับสร้างโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ ที่อาจมีดาวเทียมมากกว่า 12,000 ดวง