ทีวีดิจิทัลลุ้นขายใบอนุญาต รอ “ม.44” ดึงทุนใหม่ซื้อกิจการ-บริหารหนี้

ม.44 ช่วยทีวีดิจิทัลขายไลเซนส์ยังต้องลุ้น ! วิษณุเผยต้องหาข้อมูลเพิ่ม ทั้งประเด็นหนี้-ภาษี ฟากผู้ประกอบการย้ำหวังเรื่องนี้มากสุด เชื่อช่วยให้ขายช่องได้เร็วขึ้น เพราะนายทุนใหม่ไม่ต้องรับภาระหนี้

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงผลการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาว่า มาตรการความช่วยเหลือทีวีดิจิทัลมี 3 แนวทาง คือ 1.อนุญาตให้พักการชำระค่างวดได้ 3 งวด จาก 5 งวดที่เหลือ ในปี 2561-2565 แต่จะต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 1.5 ในระหว่างพักการชำระหนี้ 2.ให้ กสทช.ช่วยเหลือเช่าโครงข่าย (MUX) สำหรับการออกอากาศ ที่ผู้ประกอบการต้องเช่าจากเจ้าของโครงข่าย ได้แก่ ไทยทีพีบีเอส บมจ.อสมท และช่อง 5 โดยให้ กสทช.ช่วยจ่ายค่าเช่าให้ 50% เป็นเวลา 2 ปี และ 3.อนุญาตให้สามารถโอนใบอนุญาตต่อได้

ลุ้นเคลียร์ปมโอนกิจการ

“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะต้องหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน เช่น กรณีการโอนกิจการ จะโอนได้อย่างไร โอนด้วยวิธีไหน ซึ่งปัจจุบันนี้แม้จะไม่อนุญาตให้โอนกิจการแต่ก็โอนกันอยู่แล้ว โดยใช้วิธีการเข้าไปซื้อหุ้น เช่น ช่อง 34 อมรินทร์ทีวี ซึ่งกำลังหาข้อเท็จจริงอยู่ว่าแตกต่างกันอย่างไรระหว่างการโอนกิจการกับการเข้าไปถือหุ้นเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง”

นายวิษณุยกตัวอย่างว่า “เดิมใบอนุญาตเป็นของบริษัทอมรินทร์ฯ แต่เมื่อกลุ่มสิริวัฒนภักดี ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เข้าถือหุ้นใหญ่ ใบอนุญาตก็ยังเป็นของบริษัทอมรินทร์ แต่กรณีการโอนกิจการ อาจจะทำให้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็นบริษัทอื่นก็ได้”

นายวิษณุกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังจะต้องพิจารณาไปถึงเรื่องภาษีและหนี้สินด้วยว่า เมื่อโอนกิจการแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังได้ข้อสรุปจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุม คสช.อีกหรือไม่ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี

ขายไลเซนส์คือความหวัง

แหล่งข่าวในวงการทีวีดิจิทัลหลายรายเปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ไปแนวเดียวกันว่า การเปิดช่องให้โอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้ เป็นความหวังของผู้ประกอบการหลายราย เนื่องจากไม่ต้องการดำเนินกิจการต่อแล้ว แต่ไม่สามารถหาผู้ลงทุนเข้ามาซื้อกิจการได้ แต่ถ้ามีประกาศ ม.44 ให้สามารถเปลี่ยนชื่อในใบอนุญาตได้ก็น่าจะดึงดูดกลุ่มทุนต่าง ๆ ได้ดีขึ้น

“การให้โอนไลเซนส์ได้ แตกต่างจากการโอนเปลี่ยนมือช่องในปัจจุบัน ที่ใช้การซื้อหุ้นในบริษัทที่ถือไลเซนส์อยู่ ซึ่งหมายถึงผู้ลงทุนรายใหม่ต้องเข้ามารับทั้งทรัพย์สินและหนี้สินของบริษัทนั้น รวมถึงข้อผูกพันอื่น ๆ ที่บริษัทได้ไปทำกับคนอื่น ซึ่งที่ผ่านมาต้องทำแบบนั้นเพราะ พ.ร.บ. กสทช.ระบุห้ามซื้อขายไลเซนส์ จึงต้องเลี่ยงใช้การซื้อหุ้นบริษัทแทน แต่ถ้าซื้อขายเฉพาะไลเซนส์ได้ นายทุนก็รับไปเฉพาะสิทธิ์การประกอบกิจการทีวี ไม่ต้องรับภาระหนี้สินของบริษัทเดิมไปด้วย” แหล่งข่าวช่องทีวีดิจิทัลรายหนึ่งกล่าวและว่าปัจจุบันมีหลายบริษัทที่พยายามขายช่องให้นายทุน ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายมีไลเซนส์มากกว่า 1 ช่อง จะตัดขายบางไลเซนส์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะใช้ชื่อบริษัทเดียวกันถือใบอนุญาตมากกว่า 1 ช่อง

“ปัญหาหลักของทีวีดิจิทัลตอนนี้คือ อยากจะหยุดก็หยุดไม่ได้ แต่เงินจะจ่ายก็ไม่มี พฤติกรรมผู้บริโภคยุคนี้เปลี่ยนเร็วมาก ถ้าเปิดช่องให้ขายได้ไว้ก็ดี ข้อเสนอเกี่ยวกับการโอนขายกิจการจึงเป็นความหวัง ก็หวังว่าจะไม่รอเก้อ”

ทั้งยังย้ำด้วยว่า การให้โอนใบอนุญาตได้ เป็นทางออกที่เหมาะสมแล้ว เพราะเดิมมีกลุ่มผู้ประกอบการหลายรายเรียกร้องขอให้คืนไลเซนส์เพื่อให้ กสทช.นำไปจัดสรรใหม่ได้ แต่ขอไม่จ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือด้วย ซึ่งจะเหมือนกรณีที่บริษัท ไทยทีวีของนางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย (ติ๋มทีวีพูล) ตัดสินใจยื่นฟ้องศาล

กม.เดิมสกัดเร่ขายต่อ

ด้านแหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการช่วยเหลือตามที่ พ.ร.บ. กสทช.เปิดช่องไว้ กสทช.ได้ดำเนินการไปหมดแล้ว จึงต้องรอให้ คสช.ใช้อำนาจปลดล็อกข้อกฎหมาย

“เดิมตอนยกร่าง พ.ร.บ. กสทช.มีความกังวลกันว่า หากมีการจัดสรรคลื่นแล้วจะมีพวกนายหน้าเข้ามาประมูลขอรับใบอนุญาต แล้วไปเร่ขายต่อเพื่อทำกำไร ซึ่งจะทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ จึงได้ล็อกไว้ว่า ห้ามเปลี่ยนมือไลเซนส์”