ตลาดแอปเรียกรถยังร้อนแรง TADA ชูโมเดล “ไม่เก็บค่าคอม”

TADA

ตลาด Ride Hailing หรือแอปเรียกรถ ยังคงร้อนแรงต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การเดินทางท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเป็นปกติ มีแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจแพลตฟอร์ม “ขนส่งผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” จากกรมการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันมีมากถึง 9 แอปพลิเคชั่น แบ่งเป็นแอปพลิเคชั่นเรียกรถ ทั้งแท็กซี่ และรถส่วนบุคคล ได้แก่ Grab, Air Asia Ride, Robinhood Ride, Bolt, Line Man และ InDrive รวมถึงแอปสำหรับให้บริการแท็กซี่โดยเฉพาะ คือ Cabb Drivers ที่ให้ผู้ขับเช่ารถแท็กซี่ทรงคลาสสิก ให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑล อีกแอป คือ Hello Phuket ให้บริการเรียกแท็กซี่ในพื้นที่ภูเก็ต

ล่าสุดแอปน้องใหม่ “TADA” เป็นแพลตฟอร์ม Ride Hailing เข้ามาเป็นรายล่าสุด

TADA ไม่ใช่ธรรมดา มีส่วนแบ่งตลาดอันดับสองในสิงคโปร์ มองเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในประเทศไทยก็ขยับขยายเข้ามาให้บริการในกรุงเทพฯแล้ว หลังเข้ามาทดสอบเมื่อปีที่แล้วจึงตัดสินใจให้ไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศที่เข้ามาบุกตลาด นอกจากมีในสิงคโปร์ เวียดนาม และกัมพูชา

ข้อมูลจาก Statista (อัพเดต ธ.ค. 2566) ระบุว่า ตลาดเรียกรถในประเทศไทยมีแนวโน้มการเติบโต โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะสูงถึง 1.43 พันล้านเหรียญสหรัฐในปี 2567 มีอัตราการเติบโตต่อปีที่ 7.78% คาดว่าภายในปี 2571 มูลค่าตลาดจะขยับขึ้นไปที่ 1.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 16.05 ล้านคน

เดินเกมยาว ไม่เก็บคอมมิชชั่น

“ฌอน คิม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TADA เปิดเผยว่า มีการตั้งทีมและจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทยกลางปี 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท และทดสอบระบบในปลายปี โดยสร้างกรอบความร่วมมืออย่างต่อเนื่องกับกรมการขนส่งทางบก และสหกรณ์แท็กซี่พันธมิตร ทำให้มีรถโดยสารในระบบ 1.5 หมื่นคัน รองรับการให้บริการในกรุงเทพฯ และในปีนี้จะมีการขยายไปยังมอเตอร์ไซค์ และตามหัวเมืองสำคัญ ๆ ด้วย แต่ต้องมีการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการรถยนต์โดยสารด้วย

“หลายคนอาจเคยเห็นแอปเราขึ้นให้ดาวน์โหลด และมีการเปิดใช้มานานแล้ว เพราะมีนักเดินทางนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศที่เคยใช้แอปของเราเดินทางมาที่ไทย เขาก็ได้ลองเปิดใช้ดู และเริ่มมีการใช้งานมากขึ้น แม้ตลาดแอปเรียกรถจะเป็นน่านน้ำสีแดง แต่เราเชื่อว่ายังมีช่องว่างอีกมาก และอัตราการเข้าถึงบริการ Ride Hailing ก็ยังคงต้องเพิ่มขึ้น”

สำหรับกลยุทธ์ที่ใช้ในการแข่งขันจะชูเรื่องความเป็นธรรม จากปัญหาที่ไรเดอร์ และไดรเวอร์ในแพลตฟอร์มอื่น ๆ เผชิญ ที่มักจะมีความห่วงพะวงกับการเร่งรอบขับเพื่อให้มีรายได้เพียงพอ สิ่งนี้ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยจากการไม่ได้พักผ่อน และความเครียดสูง

“เราจึงเชื่อมั่นในโมเดลรายได้ที่เป็นธรรมด้วยแนวคิดไม่เก็บค่าธรรมเนียมหรือ ZERO Commission และไม่บังคับให้คนขับรับงาน ถ้าไม่เครียด การทำงานก็จะดี และสร้างความปลอดภัย และความเชื่อมั่นให้ผู้ใช้งาน”

อย่างไรก็ตาม บริบทและข้อกฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน จึงต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานกำกับดูแล เช่น ในประเทศไทย โมเดลธุรกิจของบริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มตามกฎหมายระบุให้อยู่ที่ 20 บาทสำหรับรถยนต์ ก็จะเก็บแค่นั้น ส่วนค่าโดยสาร คนขับรถก็จะได้เต็มจำนวนโดยที่บริษัทไม่เก็บค่า GP หรือค่าคอมมิชชั่นใด ๆ เพิ่ม

“ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มคนเรียกรถเป็นคนจ่ายในทุกบริการ ดังนั้นในภาพรวมการคำนวณราคาค่าบริการจะลดลงและถูกกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ เพราะไม่ได้คิดเรื่องคอมมิชชั่นในนั้น”

เดินหน้าผนึกพันธมิตร

ถามว่า จะมีเงินรายได้เพียงพอเลี้ยงแพลตฟอร์มให้รอดได้อย่างไร “คิม” กล่าวว่า TADA ดำเนินการในสิงคโปร์ใช้เวลา3-5 ปี ในการทำให้รายได้เติบโต และยืนหยัดได้ ด้วยโมเดลราคาที่เป็นธรรม จึงกลายเป็นแพลตฟอร์มที่มีส่วนแบ่งอันดับสองได้ ก็คาดว่าตลาดในประเทศอื่น ๆ จะใช้เวลาใกล้เคียงกัน ด้วยโมเดลเดียวกัน

“เราระมัดระวังในการขยายบริการ จ้างงานเท่าที่จำเป็น ไม่อยากเติบโตแบบก้าวร้าว ทำให้การบริหารจัดการต้นทุนทำได้ดี ส่วนเป้าปีนี้ยังตอบได้ยากทั้งในส่วนของจำนวนผู้ใช้ และส่วนแบ่งการตลาด เพราะเพิ่งเปิดตัวไม่นานจึงต้องใช้เวลา แต่เชื่อว่าโมเดลความเป็นธรรมที่เป็นจุดเด่นนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรมได้”

บริษัทแม่ของ TADA คือบริษัท MVLLABS Group จำกัด สตาร์ตอัพด้านเทคโนโลยีที่พัฒนางานหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบล็อกเชนที่ใช้เพื่อระบบขนส่ง หรือแพลตฟอร์มรถยนต์ไฟฟ้า ONiON ที่นำร่องใช้งานร่วมกับเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือ ซี.พี.กรุ๊ป

โดย MVLLABS มีการระดมทุนในระดับซีรีส์ซีมาแล้ว 125 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะมีการระดมทุนเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจพลังงานสะอาด และการขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด

“ปตท.เองก็ให้ความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนใน TADA เพียงยังต้องพูดคุยกันอีกมาก เพราะหากมีรายใหญ่อย่าง ปตท.มาลงทุนก็จะต้องมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับจุดเด่นของเรา และอาจมีความร่วมมือใหม่ ๆ อีกหลายด้าน ยังอยู่ระหว่างพูดคุยในฐานะพาร์ตเนอร์”