เปิดเหตุผล ทำไม “ไปรษณีย์ไทย” ต้องทำสินค้า “เฮาส์แบรนด์”

ไปรษณีย์ไทย

ส่องเบื้องหลัง “ตราไปร” เฮาส์แบรนด์ “ไปรษณีย์ไทย” เสริมแกร่งธุรกิจค้าปลีก ต่อเติมอีโคซิสเต็มโลจิสติกส์ หมากสำคัญดันกำไรปี 2567 โตจากปีก่อน 5 เท่า

วันที่ 24 มีนาคม 2567 หลังจากที่ในปี 2565 ขาดทุนกว่า 3,000 ล้านบาท “ไปรษณีย์ไทย” สามารถพลิกกลับมาทำกำไรในปี 2566 ได้สำเร็จ จากรายได้รวม 20,934.47 ล้านบาท เติบโตขึ้น 7.40% เป็นกำไรอยู่ที่ 78.54 ล้านบาท ถือเป็นการแสดงศักยภาพด้วยผลงานอันโดดเด่นของพี่ใหญ่ในวงการโลจิสติกส์ไทย ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของผู้ให้บริการแต่ละราย

แม้ว่าแนวทางหลักของการพลิกทำกำไรในครั้งนี้จะมาจากการปรับโครงสร้างบุคลากร ลดต้นทุนการขายและการขนส่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน รองรับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นได้ จากที่เมื่อ 2 ปีก่อน ไปรษณีย์ไทยมีพนักงาน 42,000 คน คิดเป็นต้นทุน 64% ปัจจุบันลดลง 10% เหลือ 38,000 คน จึงลดต้นทุนลงมาได้ 6% แต่องค์กรพี่ใหญ่วัย 140 ปีกลับไม่หยุดคิดหยุดพัฒนา ต่อเติมบริการใหม่ ๆ จนทำให้ไปรษณีย์ไทยเป็นมากกว่าผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ไปแล้ว

หนึ่งในนั้นคือธุรกิจค้าปลีกอย่าง “ThailandPostMart” ที่มีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ ถือเป็นการใช้โครงข่ายไปรษณีย์ไทยผลักดันสินค้าท้องถิ่นของชุมชนเข้าสู่ตลาดทั่วประเทศ รวมถึงในปีที่ผ่านมายังปลุกปั้นเฮาส์แบรนด์ “ตราไปร” ที่ปัจจุบันมีสินค้า 3 ชนิด ได้แก่ น้ำดื่ม ข้าวสาร และกาแฟ มาเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจค้าปลีกอีกทาง

ไปรคอฟฟี่

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จุดเริ่มต้นของโพสต์มาร์ต คือการทําเพื่อช่วยเหลือชุมชน เป็นช่องทางการขายที่ช่วยให้ชุมชนขายสินค้าของตนเองได้มากขึ้น เราช่วยในเรื่องของการตลาด การสร้างแบรนด์ การออกแบบแพ็กเกจจิ้ง แต่ตอนนี้เรารู้สึกว่าธุรกิจค้าปลีกสําคัญกว่าการช่วยเหลือชุมชน เพราะสิ่งนี้ช่วยเหลือเราด้วย

“ผู้ให้บริการขนส่งโลจิสติกส์ทุกราย โดยเฉพาะกลุ่มที่มาจากแพลตฟอร์มต่างชาติมีชิ้นงานของตนเองหมด เพราะขายสินค้าอยู่แล้วบนแพลตฟอร์ม ส่วนเราไม่มีชิ้นงานของตนเอง ต้องสร้างชิ้นงานขึ้นมาโดยคำนึงถึงจุดแข็งในเรื่องของ “คน” และ “เครือข่าย“ เราถือเป็น Sales Network Agent ที่ใหญ่มาก เพราะไม่มีเซลส์แมนที่ไหนไปตามบ้านได้วันละหมื่นคนแบบบุรุษไปรษณีย์”

ดร.ดนันท์กล่าวต่อว่า ด้วยจุดแข็งที่มีอยู่ ธุรกิจค้าปลีกของไปรษณีย์ไทยจึงเน้นไปที่การขายแบบออฟไลน์ นำความต้องการของผู้บริโภคมา “matching“ เป็นสินค้าและบริการ เช่น บ้านนี้ต้องเลี้ยงเด็กเล็ก อาจจะต้องการแพมเพิร์ส หรือไซต์ก่อสร้างต้องการเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นต้น

“ให้เราแข่งแบบที่แพลตฟอร์มต่างชาติทำคงไม่ได้ เพราะไม่มีเงินที่จะไปเผาแบบนั้น สิ่งที่ทำได้คือการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีให้มากที่สุด ทำให้เราเป็นหนึ่งในช่องทางการขายสินค้าของแบรนด์ต่าง ๆ นอกจากมีการพูดคุยกับค้าปลีกรายใหญ่เพื่อสร้างความร่วมมือกัน ยังพัฒนาเฮาส์แบรนด์มาแก้ pain point ของผู้บริโภคด้วย จะเห็นว่าสินค้าชุดแรกของเราเป็นน้ำกับข้าวสาร ซึ่งเป็นของหนักที่คนไม่อยากขน ตอนนี้ก็สามารถสั่งกับบุรุษไปรษณีย์ให้มาส่งที่บ้านได้แล้ว”

การปั้นเฮาส์แบรนด์ถือเป็นการดึงจุดแข็งในส่วนต่าง ๆ ของไปรษณีย์ไทยมาเป็นตัวเชื่อมในการให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ “ระวางว่าง“ ในวันอาทิตย์ เพื่อกระจายสินค้าไปยังที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ และการทำตลาดผ่านเครือข่ายของบุรุษไปรษณีย์ที่มีความสัมพันธ์อันดีกับร้านค้าและผู้คนในพื้นที่

“วิธีการคือ เราขายเขาด้วยราคาต่ำแล้วให้เขาไปมาร์กอัพเอง มีราคาแม็กซิมัม เช่น แพ็กละหกสิบบาท แต่ไปขายถูกกว่าได้ สิ่งที่เราจะทำต่อคือ มอนิเตอร์ว่าใครขายเก่ง เทสต์ความสามารถของเน็ตเวิร์ก เขารู้จักร้านโชห่วย รู้จักร้านอาหารโลคอลในพื้นที่อยู่แล้วก็น่าจะขายน้ำดื่มได้ พอทำแบบนี้เราก็ไม่ต้องบิดค่าขนส่งมาเป็นมาร์จิ้นค่าของ ไม่ต้องแข่งกับ Shopee และ Lazada ตรง ๆ”

นอกจากนี้ ดร.ดนันท์มองว่า ธุรกิจค้าปลีกและสินค้าเฮาส์แบรนด์ยังเป็นแหล่งรายได้ใหม่ของบุรุษไปรษณีย์ และยกระดับอาชีพให้มีคุณค่ามากขึ้น ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของบุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 ชีวิตดีขึ้นด้วย

“สำหรับการต่อยอดในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกและเฮาส์แบรนด์มองไปที่ Silver Marketing หรือตลาดสำหรับผู้สูงอายุ เพราะเป็นกลุ่มที่อยู่บ้านตลอด มีเวลารับรู้ข่าวสารต่าง ๆ และเป็นกลุ่มที่คุ้นเคยกับบุรุษไปรษณีย์เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่คนกลุ่มนี้สนใจจะเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพหรืออาหารเสริม”

ทั้งนี้ ในปี 2566 ไปรษณีย์ไทยมีสัดส่วนรายได้จากกลุ่มงานต่าง ๆ ได้แก่ กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 45.56% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 33.85% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.43% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 4.90% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.96% และรายได้อื่น ๆ 1.30%

และในปี 2567 ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ 46.12% กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 32.48% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.98% กลุ่มบริการค้าปลีกและการเงิน 5.10% กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ 0.90% และรายได้อื่น ๆ 1.42%

ดร.ดนันท์กล่าวด้วยว่า ธุรกิจค้าปลีกมีแนวโน้มเติบโตเป็นอย่างมาก ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้แตะพันล้าน รวมถึงยอดขายจากสินค้าเฮาส์แบรนด์เกิน 20 ล้านบาทแล้ว และเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายที่จะผลักดันให้กำไรของปี 2567 โตขึ้นจากเดิม 5 เท่า หรือประมาณ 350 ล้านบาท

“ความตั้งใจจริงคือการผลักดันสัดส่วนรายได้ของกลุ่มธุรกิจค้าปลีกเป็น 15% ภายใน 2 ปี รวมถึงล่าสุดยังร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดจุดให้บริการไปรษณีย์ไทย @ธงฟ้า ตั้งเป้า 20,000 แห่ง ภายในปี 2567 ซึ่งมองว่าความร่วมมือส่วนนี้มีโอกาสต่อยอดเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าของเราได้ แต่ต้องดูความเป็นไปได้จากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย”

ข้าวสารตราไปร