“ICO-เงินดิจิทัล” ยังฮอต แนะรัฐเร่งปกป้องนักลงทุน-งดเก็บภาษี

กระแสลงทุนเงินดิจิทัล-ระดมทุนด้วยการออกเหรียญดิจิทัล ICO (initial coin offering) ยังมาแรงไม่หยุด ไม่ใช่แค่บริษัทใหญ่อย่าง บมจ.เจมาร์ท ที่เพิ่งประกาศเทรด “JFIN” ในตลาดรองเมื่อ 2 พ.ค. 2561 แต่ยังทยอยประกาศ ICO ต่อเนื่อง

ZMN 150 ล้าน

ล่าสุด “กษมพัทธ์ วิธานวัฒนา” ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีมายน์โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด เปิดเผยว่า เตรียม ICO เพื่อขยายธุรกิจให้บริการขุดเหรียญดิจิทัลที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 ผ่าน “ZMN” 1,000 ล้านโทเคน คาดว่าจะระดมทุนได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านบาท และเงินที่ได้ 80% จะใช้สำหรับการสั่งซื้อ-มัดจำการ์ดจอจากโรงงานโดยตรง 10% ลงทุนด้านฮาร์ดแวร์และงานวิจัย อีก 5% เป็นงบฯด้านการตลาด และ 5% เป็นงบฯด้านพัฒนาบุคลากร ตั้งเป้าสิ้นปีเพิ่มอีก 30,000 การ์ดจอ จากเดิมมีอยู่ 16,000 การ์ดจอ ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.19% ต่อเดือน

ชี้ในไทยมีเหมืองขุดหลายร้อย

ขณะที่ภาพรวมของการขุดเหรียญดิจิทัลในไทย มีการประเมินว่า ปัจจุบันมีเปิดอยู่หลายร้อยเหมือง แต่ละเหมืองมีราว 40-50 เครื่อง โดยส่วนใหญ่เปิดในตึกแถวทั่วไป ซึ่งต้นทุนสำคัญคือค่าไฟ และตัวการ์ดจอที่มีอายุใช้งานเพียง 3 ปี

“หลายคนที่ขุดเหรียญเองที่บ้าน แต่มองว่าไม่คุ้มทุน เนื่องจากต้องเสียค่าไฟทำให้ได้กำไรน้อย จึงมีบางส่วนนำการ์ดจอมาให้เช่าและแบ่งเปอร์เซ็นต์กัน ซึ่งตอนนี้เป็นธุรกิจช่วงขาขึ้นทุกคนได้กำไร แต่ในช่วงขาลงจะเป็นการแข่งกับต้นทุน หากใครขุดเหมืองแล้วไม่คืนทุนในปีแรกก็จะอยู่ยาก”

สถานะทั่วโลกชัดเจนขึ้น

ขณะที่ในเวทีเสวนาวิธีเลือก ICO น้ำดี ในวันที่บริบทกฎหมายไทยยังไม่ชัดเจนกับ cryptocurrency “สิทธิพล พรรณวิไล” เจ้าของเว็บไซต์ nuuneoi.com กล่าวว่า หลายประเทศได้ข้อสรุปเกี่ยวกับสถานะของสกุลเงินดิจิทัลแล้ว สวิตเซอร์แลนด์สนับสนุน แต่แถบตะวันออกชัดเจนว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ขณะที่ทั่วโลกตอนนี้มี ICO 3,000-5,000 ราย แต่ไม่ถึงครึ่งที่ระดมทุนสำเร็จ ในไทยมีราว 10 ราย ถึงปลายปีน่าจะขยับไปถึง 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัพ และด้วยยังไม่มีกฎหมายควบคุมทำให้ความเสี่ยงสูง ดังนั้นการลงทุนต้องจำกัดวงเงินไว้แค่เท่าที่ยอมรับว่าจะสูญทั้งหมดได้ และต้องตรวจสอบแผนธุรกิจและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ว่ามีอยู่จริง มีความเป็นไปได้แค่ไหน

กม.ไทยไม่เอื้อ

ด้าน “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บล.ซีแอลเอสเอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ในไทยยังมองในเชิงลบ และภาครัฐไม่สนับสนุน ผลักดันจะเก็บภาษีการลงทุนผ่าน ICO แต่ก็ยังไม่มีการควบคุมการปั่นราคาทั้งที่การปั่นหุ้นยังมีหน่วยงานเฉพาะตรวจสอบ

“กฎหมายไทยยังเป็นการตีกรอบ เป็นการรักษาผลประโยชน์ของผู้ที่มีผลประโยชน์ เช่น ต้องใช้ทุนเยอะในการขอใบอนุญาตอีเพย์เมนต์ ดังนั้นกฎหมายบ้านเรามันไม่เอื้อให้เกิดไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งประเทศอื่น ๆ ปล่อยให้สตาร์ตอัพไปก่อน แล้วค่อยให้กฎหมายตาม”

ขณะที่การสนับสนุนสตาร์ตอัพยังมองแบบเดิม ๆ คือ จะกู้เงินได้ต้องมีหลักประกันในการลงทุน ต้องมีบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน ทรัพย์สินทางปัญญาใช้เป็นหลักทรัพย์ไม่ได้ มองว่าการวิจัยและพัฒนาคือต้นทุน แต่ต่างประเทศมองว่าคือการลงทุนให้เติบโตก้าวกระโดด หากจะสนับสนุนสตาร์ตอัพต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่

ภาษีควรชะลอไว้ แต่ต้องมีกฎคุม

“ชลเดช เขมะรัตนา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทฟินเทค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในการเสวนา “ICO IN ACTION SEMINAR : ยุทธการก้าวสู่ ICO” ว่า คาดหวังให้ภาครัฐมีความชัดเจนในการออกเกณฑ์ควบคุมเหรียญดิจิทัล โดยเฉพาะเรื่องการเก็บภาษี รวมถึงการสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสม เพื่อปกป้องนักลงทุน ซึ่งบริษัทก็เตรียมทำ ICO เร็ว ๆ นี้

ด้าน “จักกฤษณ์ ทัฬหชาติโยธิน” cofounder and chief blockchain officer SIX Corporation PTE LTD กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีเงินดิจิทัลควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งหวังว่าภาครัฐจะออกกฎหมายในเชิงสนับสนุน รวมถึงการวางโครงสร้างเทคโนโลยีพื้นฐาน และการทำ KYC เพื่อคัดการหลอกลวงออกจากระบบ

“ปรมินทร์ อินโสม” นักพัฒนาเงินดิจิทัล และผู้ก่อตั้ง ZCoin, SATANG และ TDAX เปิดเผยว่า การจัดเก็บภาษีของภาครัฐควรจะชะลอไว้ก่อน เพื่อดึงดูดสตาร์ตอัพให้ระดมทุนผ่านช่องทางนี้ได้ แต่จำเป็นต้องออกหลักเกณฑ์ในการระดมทุน ICO ให้ชัดเจน เพราะหากมุ่งไปที่การจัดเก็บภาษีก่อน จะกลายเป็นการผลักให้สตาร์ตอัพไทยออกไปนอกประเทศแทน เนื่องจากมีเงื่อนไขด้านกฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโตมากกว่า