ลุยเปิดLINE TAXIปลายปี เพิ่มแม่เหล็กดึงคนใช้แอป

ไลน์แท็กซี่ - "ไลน์" (LINE) เดินหน้าขยายบริการไม่หยุดเพื่อเพิ่มแม่เหล็กในการดึงดูดให้ผู้ใช้บริการไม่ไปไหน ล่าสุดด้วย "ไลน์แท็กซี่" บริการเรียกรถแท็กซี่ในเครือข่ายสหการณ์แท็กซี่ไทยที่มีสมาชิกกว่า 9 หมื่นคัน โดยเตรียมเปิดบริการปลายปีนี้

LINE จับมือเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่กรุงเทพฯ ปั้น LINE TAXI เปิดสิ้นปี มั่นใจแก้ปัญหาผู้บริโภคโดนปฏิเสธ อัพรายได้ให้คนขับ ฟากกรมการขนส่งทางบกเตรียมเปิดตัวแพลตฟอร์มรวมแอปเรียกแท็กซี่ ส.ค.นี้ 

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่เขตกรุงเทพมหานคร พัฒนาบริการ LINE TAXI เพื่อให้เป็นบริการเรียกรถรับส่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย และแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งาน LINE กว่า 90% ของผู้ใช้งานโมบายอินเทอร์เน็ตในไทยเรียกรถแท็กซี่ได้เร็วขึ้น ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายแท็กซี่กว่า 6 หมื่นคัน จาก 9 หมื่นคันทั่วกรุงเทพฯ คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปี และเป็นบริการลำดับที่ 5 ตามกลยุทธ์ O2O (Online to Offline) ภายใต้การดำเนินงานของ LINE MAN หลังจากมีบริการสั่งซื้ออาหาร (Food Delivery) บริการรับส่งของ (Messenger) สั่งของสะดวกซื้อ (Convenience Goods) และส่งพัสดุ (Postal)

“แอปที่ให้บริการแท็กซี่ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้ใช้งานได้ ขณะที่คนขับแท็กซี่ก็ขับวันหนึ่งถึง 12 ชั่วโมง มีรายได้เพียง 400 บาท/วัน หลังหักค่าใช้จ่าย ซึ่งไลน์ แท็กซี่ จะมาช่วยแก้ปัญหา จากจุดแข็งที่ฐานลูกค้ากว่า 90% ของประเทศ”

ด้านนายวิฑูรย์ แนวพานิช ประธานกรรมการสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด เสริมว่า ปัญหาเรื่องสภาพรถแท็กซี่ หรือการปฏิเสธผู้โดยสาร รวมทั้งเรื่องมารยาท เป็นสิ่งที่พยายามแก้ไข โดยในเบื้องต้นทางสหกรณ์ได้เตรียมคัดกรองรถที่จะให้บริการ ทั้งสภาพรถ และการจัดอบรมพัฒนาคุณภาพผู้ขับ หากมีการกระทำผิดจะมีบทลงโทษทั้งเปิดให้ผู้ที่ขับแท็กซี่ส่วนบุคคลเข้าโครงการได้ คาดว่าในสิ้นปีจะมีรถที่เข้าร่วม 2-3 หมื่นคัน

“ปีที่ผ่านมามีแท็กซี่ในระบบ 110,000 คัน ปีนี้มี 90,000 คัน ลดลงเนื่องจากหมดอายุ ทั้งโดนคู่แข่งแย่งตลาด ทำให้มีคนออกจากอาชีพ เพราะรายได้ไม่จูงใจ”

ขณะที่นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เป็นมิติใหม่ของแท็กซี่ไทยที่สอดคล้องนโยบายยกระดับคุณภาพบริการแท็กซี่ไทย และเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนที่จะมีแอปพลิเคชั่นแท็กซี่โอเค (TAXI OK) และแท็กซี่วีไอพี (TAXI VIP) แพลตฟอร์มกลางให้แอปต่าง ๆ มารวมกันที่จะเปิดตัวต้น ส.ค.นี้ สำหรับปัญหาอูเบอร์อยู่ระหว่างให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศึกษาในทุก ๆ มิติ เช่น กฎหมายที่มีกับการให้บริการ และแนวทางในการแก้กฎหมาย เป็นต้น โดยคาดว่าจะได้รับผลการศึกษาภายในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้