“ทรูวิชั่นส์กรุ๊ป” ลุยปกป้องลิขสิทธิ์บอลโลก 2018 ย้ำกฎ “มัสต์แคร์รี่” ไม่คลุมบริการ OTT ต้นเหตุ “AIS PLAY” จอดำ สู้คดีถึงที่สุด หวังเซตมาตรฐานลิขสิทธิ์คอนเทนต์ยุคดิจิทัล เผยค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดกีฬา ต่างประเทศไต่ราคาแพงขึ้น ควักกระเป๋าปั้น “วอลเลย์บอลลีก” สร้างคอนเทนต์ในประเทศ
นายพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อพิพาทระหว่าง”ทรูวิชั่นส์” และบริษัท ซุปเปอร์บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN) ในเครือของเอไอเอสผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่าน AIS PLAY และAIS PLAYBOX กรณีละเมิดสิทธิออกอากาศการแข่งขันฟุตบอลโลก (world cup 2018) ยังอยู่ในกระบวนการของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง หลังขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ให้ SBN ยุติการนำช่องรายการทีวีดิจิทัลที่ถ่ายทอดฟุตบอลโลก ซึ่งบริษัทได้รับสิทธิไปออกอากาศผ่านแอปพลิเคชั่น AIS PLAY และให้ศาลฯมีคำสั่งให้ SBN หยุดการกระทำดังกล่าวตั้งแต่ 28 มิ.ย. 2561 และยืนยันคำสั่งเดิมในวันที่ 11 ก.ค. 2561 แม้ SBN จะอุทธรณ์โดยอ้างว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศของ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (มัสต์แคร์รี่)
ย้ำอ้าง “มัสต์แคร์รี่” ไม่ได้
เนื่องจากศาลได้พิจารณาแล้วว่าประกาศดังกล่าวไม่ครอบคลุมถึงบริการOTT (คอนเทนต์ทีวีผ่านโมบายอินเทอร์เน็ต)และ AIS PLAY เป็นบริการแบบ OTT ไม่ใช่บริการทีวีผ่านอินเทอร์เน็ตประเภท IPTV
“ช่องทางอินเทอร์เน็ตเป็นจุดอันตรายที่สุดเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะแพร่กระจายไปได้ทั่วโลก มีโลโก้ช่องเราติดไปด้วย ก็รู้ได้ทันทีว่าหลุดมาจากทางไหนซึ่งจะกระทบเครดิตของบริษัทที่มีมากว่า 20 ปี”
“เฟซบุ๊ก-กูเกิล” ปิดลิงก์เถื่อน
นายพีรธนย้ำว่า ฟีฟ่าเจ้าของลิขสิทธิ์ซีเรียสการจัดการลิขสิทธิ์มาก เพราะอาจกระทบกับการได้ประโยชน์จากสัญญาที่ทำไว้กับประเทศอื่นที่ใหญ่กว่าและจ่ายผลตอบแทนมากกว่าไทยหลายเท่า ซึ่งไม่เฉพาะกับ SBN แต่บริษัทได้ประสานความร่วมมือไปยังกูเกิลและเฟซบุ๊ก เพื่อสกัดกั้นและปิดการเผยแพร่การถ่ายทอดสดผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย ที่พบว่ากว่า 10,000 URL
สำหรับกระบวนการในทางคดี แม้มหกรรมฟุตบอลโลกจะจบลงแต่คดียังเดินหน้าต่อ อาจใช้เวลาเป็นปีเพื่อยืนยันความถูกต้องแต่ถือว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานในการบริหารจัดการลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดให้กิจการแพร่ภาพกระจายเสียง (บรอดแคสต์) ในประเทศไทยต่อไปได้ เพราะในเดือน ส.ค.นี้ก็จะมีมหกรรมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ที่ “เวิร์คพอยท์” ได้ลิขสิทธิ์มาด้วย
สิทธิ์ในมือ “ทรูวิชั่นส์”
สำหรับลิขสิทธิ์ของทรูวิชั่นส์ ครอบคลุมทั้งทีวีภาคพื้นดิน, เพย์ทีวี, IPTV และโมบายแอปพลิเคชั่น โดยทางทีวีภาคพื้นดิน นอกจากถ่ายทอดทางช่อง “ทรูโฟร์ยู” แล้วเป็นพันธมิตรกับอมรินทร์ทีวี และททบ.5 โดย “ซับไลเซนส์” ให้ถ่ายทอดการแข่งขันได้ด้วย ส่วนทางโทรศัพท์มือถือดูผ่านแอปพลิเคชั่น”ทรูไอดี” ได้ ซึ่งบริษัทเปิดให้ผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือค่ายอื่น ๆโหลดแอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาดูได้ด้วย
“ช่องทางโมบายซีเรียสสุด เพราะอุดรูรั่วได้ยากจึงต้องปกป้องอย่างที่สุด”
“เฟซบุ๊ก” คว้าพรีเมียร์ลีก
นายพีรธนกล่าวว่า พฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ทำให้การดูรายการโทรทัศน์ไม่ใช่แค่ผ่านหน้าจอทีวีเท่านั้น โดยช่องทางดิจิทัลมีบทบาทขึ้นมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ ซึ่งไม่ได้มีแค่ในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นทั่วโลก สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าโลกเปลี่ยนไปแล้ว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบรอดแคสต์เดินไปสู่ยุค “ดิจิทัล” ดังจะเห็นได้จากกรณี
“เฟซบุ๊ก” ประมูลลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“กรณีเฟซบุ๊กเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง แต่ทำให้เราต้องถามตนเองว่า จะปรับตัวอย่างไร นี่คือหนึ่งในสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กลุ่มทรูหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนากีฬาในประเทศให้แข็งแรงขึ้น โดยปลายปีนี้จะเปิดลีกวอลเลย์บอลของตนเอง เพราะต้องยอมรับว่า ลิขสิทธิ์กีฬาต่างประเทศมีแต่แพงขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งซื้อมาก็ยิ่งทำให้เงินไปอยู่กับต่างประเทศมากขึ้น การสร้างคอนเทนต์กีฬาในประเทศจึงเป็นสิ่งที่ควรทำถือเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตเพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเห็นผลทันที แต่ต้องทำ”
คอนเทนต์กีฬาราคาพุ่ง
นายพีรธนกล่าวต่อว่า พฤติกรรมผู้บริโภคดูทีวีแบบ Real time น้อยลง และกีฬาเป็นคอนเทนต์ที่ต้องดูสดถึงจะสนุกส่งผลให้ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬาทุกประเภทราคาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์จึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตนเองเพื่อสร้างคุณค่าให้กับคอนเทนต์ของตนเอง
“การถ่ายทอดสดกีฬาต่างจากคอนเทนต์อื่น ๆ เพราะไม่มีใครรู้ได้ล่วงหน้าว่า เหตุการณ์จะเป็นอย่างไร อย่างฟุตบอลโลกไม่มีใครรู้ว่าทีมดังจะตกรอบแรกตั้งแต่แรกหรือเข้าถึงรอบลึก ๆ ไม่เหมือนการซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ที่จะนั่งดูก่อนได้ ถ้าสนุกแล้วค่อยซื้อมา ดังนั้นคอนเทนต์กีฬาจึงเป็นเรื่องของการบริหารความเชื่อ ทำยังไงให้เชื่อว่ามันจะดี และเชื่อว่าจะสามารถไปหาประโยชน์ทางธุรกิจได้ดี”
บอลโลก 2018 ยังคึกคึก
สำหรับมหกรรมฟุตบอลโลก 2018 ในครั้งนี้ ที่หลายฝ่ายมองว่าค่อนข้างเงียบนายพีรธนกล่าวว่า ในแง่การจัดกิจกรรมการตลาดของโกลบอลสปอนเซอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบรนด์ข้ามชาติอาจไม่มากนักเมื่อเทียบกับครั้งที่แล้ว ซึ่งอาจมาจากการประเมินสภาวะเศรษฐกิจ แต่ในแง่จำนวนผู้รับชมมากขึ้นกว่าเมื่อ 4 ปีที่แล้ว
“ยอดผู้ชมทีวีจากการเก็บข้อมูลของนีลเส็นมากกว่าการถ่ายทอดสดครั้งก่อนราว 20% โดยยังไม่รวมช่องทางดิจิทัลที่เพิ่มเข้ามา อย่างแมตช์ที่ญี่ปุ่นแข่งมีคนดูผ่านจอทีวีมากกว่า 4 ล้าน ใน TrueIDเกือบ 2 ล้าน ซึ่งตามสถิติแล้ว เมื่อยิ่งแข่งไปถึงรอบลึก ๆ คนดูจะยิ่งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรอบชิงจะเพิ่มเป็น 4 เท่าตัว”